ปักกิ่งเพลินเพลิน "นักเขียนรากหญ้า เขียนชีวิตด้วยหัวใจ"
  2012-09-27 15:39:59  cri

ตลาดสดในปักกิ่งก็เหมือนกับตลาดสดทั่วไป มีกลิ่นข้าวปลาอาหาร ผักสดและเสียงจ้อกแจ้กจอแจทั้งวัน แต่หากสังเกตดีๆ ที่แผงขายขิงสดและกระเทียมสดจะเห็นผู้ชายคนหนึ่งจดจ่อกับการเขียนหนังสือพร้อมเปิดพจนานุกรมจีนควบคู่กันสลับไปมา คนแถวนั้นคุ้นชินกับพฤติกรรมยามว่างของเขามาตลอดหลายปี เพราะเขาคือความภาคภูมิใจของตลาดแห่งนี้ จากการเป็นพ่อค้านักเขียนชนชั้นรากหญ้าคนแรกที่กำลังจะมีผลงานเสนอสู่สาธารณะ มีสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์มาสัมภาษณ์ถ่ายทอดเรื่องราวของเขาอย่างแพร่หลาย

"เหยา ชี่จง" อายุ 40 ปี เกิดช่วงตอนต้นยุค 1970 มีชีวิตยากไร้เฉกเช่นชาวชนบททั่วไปที่ต้องปากกัดตีนถีบ เรียนหนังสือไม่จบชั้นประถมด้วยซ้ำไป ต่อมาก็เข้ามาเป็นแรงงานอพยพในเมืองใหญ่ต่างๆ จนย้ายมาอยู่กรุงปักกิ่งและลงหลักปักฐานประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าขายขิงสดและกระเทียมมาตั้งแต่ปี 2002 จากอาชีพนี้ทำให้เขาพอมีเวลาว่างในการกลับมาหัดเรียนและเขียนหนังสือด้วยตัวเองอีกครั้งให้เข้าใจและอ่านหนังสือได้คล่องขึ้น จนในที่สุดหนังสือบันทึกเรื่องราวชีวิตของเขาก็เขียนสำเร็จ แต่ใช้เวลาถึงกว่า 3 ปีในการเขียนเรียบเรียงตัวอักษรจีนกว่าสองแสนตัว และหนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า "มากกว่ารัก"

 

การเขียนข้างแผงขิงสดคือกิจวัตรของเหยา

ถึงแม้การเขียนของเขายังไม่ดีนักแต่ความตั้งใจครั้งแรกเริ่มนั้นแค่ต้องการจะเขียนเพื่อรำลึกถึงความทรงจำในวันวานของครอบครัวตั้งแต่อยู่ที่ชนบทจนย้ายมาอยู่ปักกิ่ง ชีวิตจากชาวนายากจนสู้ชีวิตจนได้ย้ายเข้ามามีที่ทางทำมาหากินในกรุงปักกิ่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มันเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจและเหมือนเป็นรางวัลชีวิตที่ตรากตรำจนประสบความสำเร็จด้วยลำแข้งของตัวเอง กิจวัตรในทุกวันของเหยา จะตื่นเวลาตีสี่ครึ่งแล้วปั่นจักรยานมือสองราคาถูกๆ ประมาณ 40 นาทีไปจัดแผงขายขิงสดและกระเทียมในตลาด เวลาเช้าตรู่ในตลาดนั้นเงียบสงบและลูกค้ายังน้อย เขามักจะหยิบปากกาขึ้นมาหัดเขียนตัวหนังสือตามพจนานุกรมซินหัวซึ่งยืมมาจากลูกชาย ค่อยๆจรดปากกาบรรจงเขียนทุกวันและหยุดอ่านเป็นระยะๆ เพื่อเทียบเคียงและเริ่มหัดคำใหม่จากพจนานุกรม

หลังจากเจ็ดโมงเช้า ตลาดก็จะวุ่นวายคึกคัก ผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันไม่ขาดสาย ขณะที่เจ้าของร้านอื่นๆ ตะโกนเรียกลูกค้ากันโหวกเหวก แต่เหยากลับก้มหน้าตั้งใจเขียนหนังสือต่อไป จะหยุดก็ต่อเมื่อลูกค้ามาถามราคาและซื้อสินค้า แต่มีอยู่บ่อยครั้งที่ลูกค้าถามเกี่ยวกับตัวหนังสือที่กำลังเขียนและเขาไม่สามารถบอกความหมายของคำนั้นๆ ได้

"ประโยคแรกที่เขาเขียนนั้น ไวยากรณ์และคำสะกดผิดเกือบทั้งหมด แต่เรื่องที่เหยาถ่ายทอดออกมานั้นชวนติดตามและช่างเป็นงานเขียนที่เข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้ง" หยาง หญิงชราวัย 78 ปี เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับเหยาซึ่งเป็นคนแรกที่ได้อ่านงานของเขา และช่วยให้คำติชมมาโดยตลอด เธอเล่าว่า ทุกๆ เช้าที่ตลาดจะเห็นเหยาก้มหน้าก้มตาเหมือนเขียนหนังสืออยู่ตลอด แต่คิดว่า เขาคงเขียนจดหมายหาทางบ้าน แต่เห็นเขียนทุกวันเกิดความสงสัยและเข้าไปถามจึงได้คำตอบ" หลังจากนั้นเธอรู้สึกประทับใจในความพยายามของพ่อค้าคนนี้ จึงอาสาสอนไวยากรณ์และทักษะในการเขียนอย่างถูกต้องให้กับเขา

ในหนังสือของเหยา นอกจากจะเขียนถึงบ้านเกิดที่เมืองฝูหยาง มณฑลอันฮุยแล้ว เขายังเขียนถึงเรื่องราวของลูกๆ โดยเฉพาะลูกคนที่สองมีชื่อว่า "เหยา อู่ยี" อายุ 15 ปี ผู้ซึ่งกำลังเรียนที่โรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้านศิลปะการป้องกันตัวในกรุงปักกิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้เป็นพ่ออย่างมาก เพราะว่าเขาเป็นคนส่งลูกไปเรียนศิลปะแขนงนี้เพื่อป้องกันตัวในตอนแรกๆ ต่อมาลูกมีพรสวรรค์และฝึกฝนก้าวหน้าจนได้เป็นตัวแทนไปแข่งในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น ถึงแม้ว่า ค่าเล่าเรียนจะสูงถึงปีละ 16,800 หยวนต่อปี (ประมาณ 84,000 บาท) สำหรับคนเป็นพ่อแม่แล้ว ยอมที่จะกัดฟันส่งลูกให้ถึงฝั่งฝันอย่างไม่ย่อท้อ ส่วนลูกๆ อีกสองคนก็เรียนอยู่แถวๆ ที่พักอาศัย แต่หากต้องการจะเรียนอะไรเพิ่มเติม เหยาก็ไม่ลังเลที่จะสนับสนุนแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ตัวเขาและภรรยายังสวมใส่เสื้อผ้าจากการบริจาคของคนอื่น แต่ตราบใดที่รู้ว่า ลูกๆ ตั้งใจเรียนหนังสือและเป็นเด็กดี แค่นั้นก็มีความสุขมากล้นไม่อยากได้ไม่อยากมีสิ่งใดแล้ว

แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ นอกจากจะฝ่าฝันกับตัวเองแล้วยังต้องทำให้คู่ชีวิตที่เคียงข้างเข้าใจ ก่อนหน้านี้ ภรรยาของเหยาจะไม่เข้าใจและไม่พอใจทุกครั้งที่เห็นเขาหัดเขียนหนังสือเพราะเธอคิดว่า "ในเมื่อเกิดเป็นคนจนก็ต้องดิ้นรนทำมาหากิน การศึกษาเป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้นไม่ได้จำเป็นกับชีวิตคนจนเลย" แต่เหยาก็ยืนยันที่จะเขียนหนังสือมาเรื่อยจนวันหนึ่ง ครอบครัวพบกับช่วงวิกฤตแต่เหยายังหยิบสมุดและปากกามาบันทึกเรื่องราว ทำให้ภรรยาของเขาโกรธมากและฉีกหนังสือทั้งหมดที่เขาเขียนด้วยความมุมานะ ชีวิตคู่เกือบแตกหักแต่เหยาก็ไม่ยอมแพ้ค่อยๆ เริ่มต้นเขียนทุกอย่างใหม่อีกครั้ง กระทั่งภรรยาเห็นใจและเข้าใจอนุญาติให้เขียนหนังสือต่อไป

แรงบันดาลใจในการเขียนของเขานั้นมาจากต้องการบันทึกชีวิตให้ลูกๆ อ่านและเข้าใจในการใช้ชีวิตที่ต้องก้าวข้ามโชคชะตา และไม่โอดครวญต่อความทุกข์ยาก มีแต่เป็นแรงขับให้ต้องลุกขึ้นสู้อย่างมีศักดิ์ศรีที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะมี ในเมื่อตอนเด็กไม่ได้เรียนแต่ตอนนี้มีเวลาก็สามารถจะเรียนเพิ่มเติมและทดแทนในวัยเยาว์ได้ อีกทั้งนิสัยรักการอ่านที่มีอยู่เป็นทุนเดิมยิ่งช่วยให้การถ่ายทอดและการเขียนของเหยาน่าสนใจมากขึ้น อีกไม่นานบันทึกชีวิตพ่อค้าคนนี้คงได้ตีพิมพ์และจำหน่ายในร้านหนังสือของจีน

เหยาหวังว่า ชีวิตของเขาจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอีกมากมายที่เชื่อในพลังแห่งความมุ่งมั่น ศรัทธาและไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา เพราะว่า "เราสามารถเขียนชีวิตได้ด้วยสมอง และสองมือของเราเอง"

สุชารัตน์ สถาพรอานนท์

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040