ทุกวันนี้ สังคมผู้สูงอายุกลายเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนและนักวิชาการของประเทศต่างๆ ทั่วโลกพูดถึงกันมาก หลายประเทศเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บางประเทศเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แล้วด้วยซ้ำ จากข้อมูลล่าสุดของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่า ในปี 2012 มีประชากรผู้สูงอายุ (ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 810 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,030 ล้านคนภายในปี 2050 คิดเป็นสัดส่วน 22% ของประชากรทั้งหมดของโลก เท่ากับว่า ทุกๆ 5 คนจะมีผู้สูงอายุ 1 คน
สำหรับประเทศจีนก็เผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุเช่นกัน จากข้อมูลของทางการจีน ก่อนสิ้นปี 2012 จีนมีประชากรผู้สูงอายุ 194 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 243 ล้านคนภายในปี 2020 และเพิ่มเป็น 300 ล้านคนภายในปี 2025
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ระบบให้บริการดูแลผู้สูงอายุของจีนยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่พร้อมรองรับปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากประชากรผู้สูงอายุซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ ชุมชนส่วนใหญ่ในจีนยังไม่มีศูนย์การให้บริการสำหรับผู้สูงอายุ ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง ผู้สูงอายุกลุ่มที่อาศัยอยู่ในบ้านตามลำพังบางส่วนไม่ได้รับการดูแลจากญาติ หรือหน่วยงาน องค์กรทางสังคมที่เกี่ยวข้องดีเพียงพอ ผู้สูงอายุบางรายเสียชีวิตภายในบ้านหลายวันโดยไม่มีใครรู้ บ้านพักคนชราที่อยู่ในกำกับของภาครัฐมีจำนวนน้อยไป ขณะที่บ้านพักคนชราของภาคเอกชนก็มีค่าเช่าแพงเกินไปจนคนที่มีรายได้ปานกลางไม่สามารถใช้บริการได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวไปขอสัมภาษณ์ป้าหลี่ ที่บ้านพักคนชราแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ป้าหลี่ เล่าให้ฟังว่า เธอเคยอาศัยอยู่กับครอบครัวของลูกสาว ลูกสาวและลูกเขยดูแลเธอได้ดีมาก หลานก็น่ารักดี เมื่อปีที่แล้ว หลานเธอเริ่มฝึกเล่นเปียนโน บางครั้งต้องฝึกตลอดทั้งวัน เสียงเปียนโนทำให้ป้าหลี่ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่แล้วมีอาการใจเต้นเร็วผิดปกติ แม้จะหลบไปอยู่ในห้องนอน ก็ยังไม่หาย ป้าหลี่จึงตัดสินใจย้ายออกจากบ้านลูกสาวไปอาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราของภาครัฐในกรุงปักกิ่ง
ป้าติดต่อบ้านพักของภาครัฐหลายแห่ง ได้ตำตอบเช่นเดียวกัน คือไม่มีห้องว่าง ต้องรอ ส่วนจะรอนานแค่ไหน ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน อาจใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี เพราะคนชราในกรุงปักกิ่งที่ต้องการอาศัยอยู่ในบ้านพักของรัฐมีจำนวนมาก แต่จำนวนห้องพักกลับมีไม่เพียงพอ
สุดท้าย ป้าหลี่ เลือกเข้าพักอาศัยในบ้านพักคนชราของเอกชน ซึ่งอยู่เชิงเขาเซียงซันในกรุงปักกิ่ง มีอาคารสองหลัง ดูจากข้างนอกคล้ายโรงแรม 3 ดาว มีห้องพักทั้งประเภทห้องรวม 2 ถึง 4 เตียง และห้องเดี่ยว ภายในห้องพักมีอุปกรณ์ครบถ้วน เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำร้อน มีแพทย์และพยาบาลคอยดูแลผู้สูงอายุ อีกทั้งมีกิจกรรมต่างๆ เช่น ว่ายน้ำ เต้นรำ ร้องเพลง วาดภาพ เขียนพู่กันจีน
ป้าหลี่เล่าว่า บรรยากาศโดยรวมของบ้านพักแห่งนี้ดี มีต้นไม้ดอกไม้เยอะมาก เจ้าหน้าที่ก็เอาใจใส่ผู้สูงอายุทุกคน แต่ค่าเช่าแพงมากๆ เดือนละกว่า 5,000 หยวน ซึ่งยังไม่รวมค่าอาหาร ค่าทำกิจกรรมต่างๆ และค่าใช้บริการด้านอื่น ๆ นอกจากนี้ บ้านพักแห่งนี้รับแต่ผู้สูงอายุที่ช่วยตนเองได้เท่านั้น เห็นได้ชัดว่า สำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในจีนซึ่งมีรายได้ไม่ถึง 3,000 หยวนต่อเดือน คงไม่สามารถเช่าบ้านพักแบบนี้ได้
นอกจากปัญหาขาดแคลนบ้านพักผู้สูงอายุราคาถูก ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านตามลำพังบางกลุ่มไม่ได้รับการดูแลจากบุตรหลาน หรือหน่วยงานและองค์กรทางสังคมที่เกี่ยวข้องอย่างดีเพียงพอ หลายปีที่ผ่านมานี้ เศรษฐกิจในพื้นที่ทางภาคตะวันออกของจีนเช่น มณฑลกวางตุ้ง เจ้อเจียง เจียงซู ฝูเจี้ยน เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว คนหนุ่มสาววัยแรงงานในชนบททางภาคตะวันตกของจีน เช่นมณฑลเสฉวน เจียงซี จึงพากันอพยพมาทำงานในพื้นที่ซึ่งมีความเจริญมากกว่า ทิ้งพ่อแม่ให้อาศัยอยู่ในบ้านตามลำพัง โดยไม่มีคนดูแล สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุอย่างมาก และยังทำให้เกิดปัญหาทางสังคมหลายอย่างตามมาด้วย