แน่นอนการได้อยู่กับคนที่รักเป็นความสุขเหลือเกิน ซึ่งก็สะท้อนออกมาในผลงานภาพวาดของสุวรรณา เพื่อนๆเห็นผลงานเรื่อง "เยียน หราน" (แปลว่า งดงาม) ของสุวรรณาในงานแสดงภาพวาดแล้ว ต่างก็บอกพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นภาพที่วาดในช่วงที่สองคนเพิ่งรักกัน เพราะมีสีสรรค์สวยสดงดงามกว่าภาพอื่นๆ
(ภาพวาด "เยียน หราน")
การทำงานของอุดรสบายกว่าที่เมืองไทย ไปสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัย แต่ไม่ต้องไปทุกวันอย่างตอนอยู่เมืองไทย ช่วงที่ไม่มีการสอน เขาก็ทำงานวิจัยที่บ้าน จึงรู้สึกว่า ชีวิตแบบนี้มีความอิสระและสุขสบายมาก
เมื่อไปเยี่ยมญาติมิตรที่เมืองไทยทุกครั้ง อุดรอยู่แค่ไม่กี่วันก็อยากจะกลับเมืองจีนเร็วๆ ในที่สุด อุดรกับสุวรรณาก็ได้แต่งงานกันและสร้างครอบครัวที่สิบสองปันนา โดยญาติมิตรทั้งหลายต่างอวยพรให้
เพื่อนๆและญาติพี่น้องของสุวรรณาต่างก็ชอบอุดรเป็นอย่างยิ่ง ชมว่า อุดรเป็นคนใจดีและฉลาดสุดๆ ช่วงแรก อุดรเขียนตัวอักษรภาษาไตลื้อไม่เป็น แต่เพื่อนๆสอนแค่สองชั่วโมง เขาก็สามารถจดจำและเขียนอ่านได้อย่างไม่น่าเชื่อ บางครั้งเขาขอให้สุวรรณาสอนวาดภาพให้ แต่สุวรรณากระเซ้าว่า
"อย่าเลย เธอวาดเป็นแล้ว มาแย่งงานของฉันไปจะทำยังไง"
ทั้งๆที่สองคนนี้ต่างรู้สึกมีความสุขที่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ความเคยชินในชีวิตของสองคนไม่ได้ตรงกันทั้งหมด อุดรชอบตื่นเช้านอนเร็ว ตื่นตี 4-5 และนอนประมาณ 3-4 ทุ่ม แต่สุวรรณานิยมตื่นสายนอนดึก ชอบวาดภาพตอนกลางคืน เพราะจิตใจสงบ แต่กว่าจะเข้านอนก็ตีสามตีสี่แล้ว และต้องนอนถึง 10 โมงเช้า เรื่องนี้ทำให้ทั้งสองคนรู้สึกปวดหัว แต่โชคดีที่อุดรเป็นคนเข้าใจ ตื่นแล้วทำอะไรก็ค่อยๆ ไม่ให้มีเสียงดังรบกวนการนอนของภรรยา
ด้านอาหารการกิน ทั้งสองคนมีความเคยชินต่างกัน สุวรรณาอยากให้อุดรกินเยอะๆ จะได้มีร่างกายแข็งแรง บางทีทำอาหารมากไปหน่อย สุวรรณาจะทิ้งอาหารส่วนเหลือที่กินไม่หมด เพราะอากาศสิบสองปันนาร้อนเหมือนเมืองไทย อาหารเหลือจะเสียง่าย แต่อุดรเป็นคนประหยัดและเสียดายอาหาร วันแรกกินไม่หมด จะกินต่อในวันถัดไป ทำให้สุวรรณาตระหนักว่า การทำอาหารมากไปกลับอาจจะทำร้ายสุขภาพของสามีได้ ต่อมา เธอจึงไม่ทำอาหารมากๆอีกแล้ว
ปัจจุบัน สามีภรรยาคู่นี้รู้สึกมีความสุขกับชีวิตและการทำงานในเมืองจีนอย่างมาก และก็มีความหวังความฝันต่ออนาคตที่ดี
นอกจากสอนหนังสือแล้ว อุดรยังมุ่งมั่นในการทำวิจัยเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยของจีนต่อไป วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับชาติพันธุ์ละว้าในลุ่มแม่น้ำโขงและสาละวินของเขา หน่วยงานของรัฐบาลไทยได้ใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการแก้ปัญหา เพราะประเทศไทยก็มีละว้าอยู่มาก ส่วนหนึ่งอพยพโยกย้ายมาจากพม่าและสร้างปัญหาเรื่องยาเสพติด ขณะที่มีอีกส่วนหนึ่งอพยพโยกย้ายจากสิบสองปันนาของจีน คือ ชาวปลัง (ปู้หลั่ง) พวกเขาไปทำงานในสวนกล้วยไม้ แถวย่านหนองแขม กรุงเทพฯ และจังหวัดในเขตปริมณฑล เช่น นครปฐม สมุทรสาคร ที่ส่งกล้วยไม้ไปจำหน่ายในตลาดโลก แต่ชาวปลังกลุ่มนี้มีปัญหาด้านสุขภาพมาก ซึ่งคงเป็นเพราะผลกระทบจากการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงมากเกินไป รัฐบาลไทยจึงอยากทราบว่า วิถีชีวิตของพวกเขาตอนอยู่เมืองจีนเป็นอย่างไร งานวิจัยของอุดรจึงมีส่วนช่วยต่อเรื่องนี้อย่างมาก
การที่มีผู้สนใจทำให้อุดรยิ่งตั้งใจในการทำวิจัยชนกลุ่มน้อยของจีนต่อไป เขากล่าวว่า
"ในอนาคตตั้งใจจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับสิบสองปันนา เสาร์-อาทิตย์ก็ขี่จักรยานไปตามหมู่บ้าน ถ่ายรูปบันทึกเรื่องราววิถีชีวิตของชนเผ่าที่นี่"
อุดรยังบอกว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ เขาเริ่มแปลผลงานของนายเกาลี่ซื่อ นักวิจัยอาวุโสมหาวิทยาลัยชนชาติยูนนานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไตลื้อของสิบสองปันนาเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทยรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสิบสองปันนาได้ลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น
ส่วนสุวรรณาก็มีความฝันหลังเกษียณ
"อุดรพูดอังกฤษเก่ง ภาษาไทยก็ใกล้เคียงกับภาษาไตลื้อ ฉันคิดว่า เราสองคนเกษียณแล้วจะไปเที่ยวประเทศรอบข้าง ในระหว่างนี้ เขาเขียนหนังสือ และฉันวาดภาพ"
อาจารย์จีนตั้งชื่อจีนให้อุดรว่า "กวาง หมิง" ซึ่งแปลว่า "แสงสว่าง" สุวรรณารู้สึกชื่อนี้ในภาษาจีนฟังตลกๆ แต่อุดรชอบชื่อนี้มาก โดยคิดว่า ทุกคนต้องการ "แสงสว่าง" และต้องใช้ "แสงสว่าง" ในใจ ไปส่องทางข้างหน้าให้สดใส
SUN