หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้ารายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา การประชุมมรดกโลกครั้งที่ 38 ที่กำลังจัดขึ้นที่กรุงโดฮาของกาตาร์ได้พิจารณาตรวจสอบและอนุมัติรายการเส้นทางสายไหมที่จีน คาซัคสถาน และคีร์กีซสถานร่วมกันยื่นขอ โดยได้จัดให้ "เส้นทางสายไหม" เข้าอยู่ในรายชื่อมรดกโลกแล้วอย่างเป็นทางการ
คณะกรรมการมรดกโลกระบุว่า เส้นทางสายไหมเป็นเส้นทางแห่งการพบปะ แลกเปลี่ยน และการพูดคุยระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก ในรอบ 2,000 ปีที่ผ่านมา เส้นทางสายไหมสร้างคุณูปการสำคัญในความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของมนุษย์ และเป็นพยานแห่งการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมระหว่างทวีปเอเชียและยุโรประหว่างศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราชถึงศตวรรษที่ 16 หลังคริสต์ศักราช โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนระหว่างอารยธรรมของชนเผ่าเร่ร่อนและชนเผ่าทำนา เส้นทางสายไหมยังเป็นแบบฉบับด้านการส่งเสริมการค้าทางไกลและการพัฒนาของตัวเมืองเป็นต้น สะท้อนให้เห็นถึงสภาพการแพร่หลายของพุทธศาสนา นิกายเม้งก่า (Manicheism) ศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroastrianism) และความคิดการวางผังเมืองในจีนโบราณและเขตเอเชียกลาง เป็นต้น
รายการเส้นทางสายไหมเป็นรายการมรดกข้ามประเทศ ซึ่งรวมถึงโบราณสถาน 33 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ มี 22 แห่งตั้งอยู่ในจีน 8 แห่งตั้งอยู่ในคาซัคสถาน และอีก 3 แห่งตั้งอยู่ในคีร์กีซสถาน
ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการต่างประเทศต่างเห็นว่าการที่เส้นทางสายไหมยื่นขอเป็นมรดกโลกด้วยความสำเร็จนั้น แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในเส้นทางสายไหมจากโลกอีกครั้ง สำนักข่าว ITAR-TASS ของรัสเซียเห็นว่า การบรรจุรวมเส้นทางสายไหมอยู่ในบัญชีรายชื่อมรดกโลกนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง เป็นต้น หากมองจากแง่มุมเศรษฐกิจแล้ว จะเป็นการยอมรับและการพัฒนาความคิดที่จะร่วมกันสร้างโซนเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเสนอเมื่อปีที่แล้ว และเป็นการยืนยันจุดร่วมและผลประโยชน์ระหว่างกันของประเทศต่างๆ ตามเส้นทางสายไหม เพิ่มความเชื่อมั่นด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ และมีส่วนช่วยสร้างรูปแบบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีประโยชน์ต่อประชากร 3,000 ล้านคนด้วย
Yim/Ldan