"...เราหาเงินเยอะ ๆ ไปทำไม ในเมื่อชีวิตคนเรามันก็แค่ตื่นขึ้นมา แล้วก็กินให้มีชีวิตอยู่ แล้วก็นอน แล้วก็ตื่นขึ้นมาใหม่ เป็นวัฏจักรวนเวียนอยู่แค่นี้ และช่วงชีวิตคนเรามันสั้นนักไหน ๆ เราก็เกิดมาทั้งทีแล้ว สู้ออกไปดูโลกกว้าง เปิดหูเปิดตาเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ดีกว่า"
ทพ.ครองธรรม แช่มคำ
เข้าสู่เทศกาลตรุษจีนแล้วนะครับ เทศกาลนี้มาถึงทีไร ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญานที่บอกให้ผู้คนได้รู้กันถ้วนทั่วว่าฤดูใบไม้ผลิกำลังมาทักทายแล้ว วันปีใหม่จีนเอาจริง ๆ ตามความรู้สึกผมก็คล้าย ๆ กับปีใหม่ไทยนะ (ถ้าไม่พูดกันถึงเรื่องของขนบธรรมเนียม พิธีกรรมต่าง ๆ) เพราะแก่นแท้ของเทศกาลปีใหม่ทั้งจีนและไทยก็คือ การได้ใช้เวลากลับไปหาคนที่เรารัก หาครอบครัว และใช้เวลาอยู่ร่วมกับพวกเขา ด้วยความที่ปักกิ่งเป็นศูนย์รวมมนุษย์เงินเดือนจากทั่วทุกสารทิศของทั้งประเทศ หากจะให้คำจำกัดความปักกิ่งกับคำว่า "โหรงเหรง" นั้น ก็เห็นจะไม่ผิดนักสำหรับช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้
เทศกาลตรุษจีนถือเป็นช่วงวันหยุดยาวของชาวจีนหนึ่งในสองช่วงสำคัญนะครับ อีกช่วงหนึ่งที่รัฐบาลเขาประกาศให้เป็นวันหยุดยาวก็ราว ๆ ต้นเดือนตุลาคม วันชาติของเขา ผู้คนส่วนใหญ่นอกจากจะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อร่วมฉลองแบ่งปันความสุขกันที่บ้านแล้ว บางบ้านก็พากันไปเที่ยวต่างประเทศก็มี ไทยเองก็หนีไม่พ้นประเทศแรก ๆ ที่ชาวจีนเขานิยมมากัน ไม่ว่าจะด้วยระยะทางที่ไม่ไกลกันเท่าไรนัก ค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผลค่อนไปทางถูก ความคล้ายคลึงกันของคนจีน-ไทย สถานที่ท่องเที่ยวที่มีครบหมดตั้งแต่ภูเขายันทะเล สมบูรณ์ขนาดนี้จะไม่มัดใจให้เขามาได้อย่างไรใช่ไหมครับ
เล่ายาวจนเกือบลืมแนะนำคนต้นเรื่องสัปดาห์นี้ไปเลย คือที่ผมเขียน ๆ มาก็เพื่อจะบอกว่า ในทางกลับกันคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยครับ ที่ก็ใช้ช่วงโหรงเหรงที่่ว่ามาสัมผัสกับปักกิ่ง วันนี้ก็เลยพาคนไทยอีกหนึ่งท่านมาแนะนำให้รู้จักกัน คุณคนนี้เขาเป็นหมอฟันครับ ตอนนี้ก็รับราชการอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดสระบุรี ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เขารักการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจเสียเหลือเกิน อะไรทำให้เขาเลือกที่จะสร้างความสุขด้วยวิธีนี้ การท่องเที่ยวประเทศจีนครั้งแรกเป็นอย่างไร มีอะไรต้องเตรียมตัวและหัวใจกันบ้าง ไปติดตามอ่านกันเลยครับ
แนะนำตัวเองแบบเป็นกันเองสักหน่อย?
"สวัสดีครับผมชื่อครอง ทพ.ครองธรรม แช่มคำ ครับ ปัจจุบันนี้รับราชการอยู่ที่โรงพยาบาลหนองแค จังหวัดสระบุรี แรกเริ่มเดิมทีแล้วเป็นคนจังหวัดตาก เกิดและเรียนชั้นอนุบาลที่นั่น พอชั้นประถมถึงมัธยมก็ย้ายตามครอบครัวมาเรียนอยู่ที่พิษณุโลก เข้ามหาวิทยาลัยก็สอบได้คณะ ทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เลยต้องย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ พอเริ่มทำงานก็จับฉลากได้จังหวัดสระบุรีและทำงานอยู่ที่นี่มาเรื่อย แต่ซื้อบ้านไว้อยู่ที่จังหวัดนนทบุรีนะครับ ถ้าตอนนี้มีใครถามว่าเป็นคนที่ไหน ผมก็ตอบไม่ได้ทุกที เพราะแต่ละที่ที่ไปอยู่มันก็คือบ้านเราทั้งหมด งั้นขอตอบว่าผมเป็นคนไทยก็แล้วกัน (หัวเราะ)"
เห็นบอกว่านอกจากงานทันตกรรมแล้ว มีเวลาว่างเมื่อไรต้องออกไปท่องเที่ยวอยู่เสมอ เป็นเสียอย่างนี้แล้วทำไมไม่เรียนและทำงานในสายที่มันได้ทั้งงาน เงินและความสุขพร้อมกันไปเลยล่ะ?
"ตอนสอบเข้าทันตแพทยศาสตร์ได้ ผมยังไม่รู้ตัวนะว่าชอบท่องเที่ยว เพิ่งมาค้นพบหลังจากเริ่มทำงานนี่แหละ แต่ผมก็ยังชอบทำงานเป็นทันตแพทย์อยู่นะ ได้รักษาคนไข้ จากคนที่เข้ามาหาเราด้วยหน้าตาอมทุกข์ (ถ้าไม่ปัญหาคงไม่มีใครอยากมาพบหมอฟัน) แต่พอเราให้การรักษาเสร็จเขายิ้มแป้น ขอบคุณเรา ถึงจะเหนื่อยแต่มันก็ทำให้เรารู้สึกอิ่มเอิบในใจที่ช่วยคลายทุกข์ให้เขาได้่เมื่อผมมีเวลาว่างทีไรก็ต้องรีบวางแผนท่องเที่ยวครับ เพราะการท่องเที่ยวเนี่ย ผมว่าทุกคนคงคิดแบบผิด มันเป็นเหมือนการชาร์จแบตให้ตัวเอง ได้เติมเต็มโลกอีกด้านหนึ่งให้กับตัวเอง นอกเหนือไปจากห้องทำฟันสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ถ้ามีเวลาน้อยก็เที่ยวในไทย ที่เที่ยวสวยๆของเราก็เยอะเหมือนกัน ไปเที่ยวแบบขึ้นเครื่องไปเช้าเย็นกลับยังเคยมาแล้วเลย หรือไปประเทศที่ใกล้ ๆ ไม่เสียเวลาเดินทางมากอย่างแถบรอบบ้านเรา แต่ถ้าพอมีเวลาว่างหลาย ๆ วันติดกันถึงวางแผนไปประเทศไกล ๆ ได้"
แต่ละคนต่างก็มีวิธีในการสร้างความสุขให้กับชีวิตที่ต่างกันไป ทำไมเราถึงใช้ "การท่องเที่ยว" สร้างความสุขให้กับตัวเอง?
"ตอนจบใหม่ ๆ ผมก็อยากรวยนะ จำได้ว่าช่วงแรกๆนี่บ้าทำงานสุดๆ จนวันหนึ่งร่างกายเริ่มรับไม่ไหว ปวดหลังปวดข้อมือตลอดเวลา เลยเริ่มคิดว่าเราหาเงินเยอะ ๆ ไปทำไม ในเมื่อชีวิตคนเรามันก็แค่ตื่นขึ้นมา แล้วก็กินให้มีชีวิตอยู่ แล้วก็นอน แล้วก็ตื่นขึ้นมาใหม่ เป็นวัฏจักรวนเวียนอยู่แค่นี้ และช่วงชีวิตคนเรามันสั้นนักไหน ๆ เราก็เกิดมาทั้งทีแล้ว สู้ออกไปดูโลกกว้าง เปิดหูเปิดตาเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ดีกว่า"
ตั้งแต่ชีพจรเริ่มลงเท้าเป็นครั้งแรกจนถึงตอนนี้ ไปมาแล้วกี่ประเทศ มองในภาพรวมแล้วเราได้อะไรและเรียนรู้อะไรจากการท่องเที่ยวยังที่ต่าง ๆ บ้าง?
"เริ่มแรกผมก็เที่ยวอยู่ในอาเซียนรอบ ๆ บ้านเราก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มไปเอเชียตะวันออก, เอเชียใต้ ขยับไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ ไปยุโรป จนตอนนี้นับดูแล้วก็ 20 ประเทศได้ครับ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีสเน่ห์มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งสภาพบ้านเรือน นิสัยผู้คน อาหารการกิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้รู้ว่าทำไมบ้านเมืองเขาเป็นแบบนั้น ได้เห็นข้อดีข้อด้อยของแต่ละประเทศ สิ่งไหนดีเราก็เอามาปรับใช้ในชีวิตเราได้ และผมเป็นพวกชอบเที่ยวแนวแบ็คแพ็ค ด้วย ชอบเที่ยวคนเดียว รู้สึกอิสระ สบาย ๆ ไม่ค่อยเรื่องมาก ชอบเจอสิ่งแปลกใหม่ นอนโฮสเทลได้เจอเพื่อนใหม่จากทั่วโลกไม่ซ้ำหน้า ซึ่งการเที่ยวคนเดียวนี่แหละที่ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ได้ฝึกคิดฝึกทำอะไรด้วยตัวเอง ทำให้มีความกล้ามากขึ้น รู้สึกว่าตัวเองโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น"
พูดถึงจีนกันบ้าง ก่อนจะตัดสินใจมาเที่ยวที่จีนครั้งแรก เรามองจีนอย่างไร?
"ก่อนไปจีน ผมก็คิดเหมือนคนทั่วไปที่ว่า จีนยังล้าหลัง ผู้คนไร้ระเบียบวินัย ขากถุ๋ยกันตลอดเวลา ห้องน้ำเปิดโล่งนั่งมองหน้ากันได้ แล้วยิ่งถ้าใครที่พูดจีนไม่ได้ไปเที่ยวจีนนี่ตายอย่างเดียวเลยเพราะเขาไม่พูดภาษาอังกฤษกัน ก็เลยแอบหวั่น ๆ อยู่ แต่ด้วยคำพูดที่ว่าเกิดมาทั้งทีต้องไปปีนกำแพงเมืองจีนให้ได้สักครั้งในชีวิต ทำให้มีแรงฮึดสู้ ซึ่งผมต้องทำใจพอสมควรกว่าจะตัดสินใจไปได้"
คำถามนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยที่สนใจจะแบ็คแพ็คมาเที่ยวจีน สำหรับแพลนท่องเที่ยวจีนครั้งแรก เราวางว่าจะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง เราได้มีการสืบค้นข้อมูล เตรียมตัวอย่างไร (สถานที่ เมือง ฤดูกาล เสื้อผ้า ภาษา เงิน การทำวีซ่า ฯลฯ)?
"ยุคนี้อาจเป็นยุคทองของการท่องเที่ยว เพราะเป็นช่วงที่โลกออนไลน์เบ่งบานเต็มที่ สามารถหาข้อมูลที่เที่ยวต่าง ๆ ได้ทั่วโลกแค่ปลายนิ้วสัมผัส สายการบินแย่งกันเปิดเที่ยวบินไปยังที่ต่าง ๆ มากมาย แค่อยู่หน้าจอคอมพ์ก็สามารถจองตั๋วเครื่องบิน โรงแรม วางแผนการเดิน แล้วเก็บกระเป๋ารอวันบินได้เลย"
"ผมเป็นพวกบ้าตั๋วเครื่องบินโปรโมชั่นมาก ซื้อสะสมไว้ตลอด บางทีข้ามปีก็มี ตอนจองตั๋วมาปักกิ่งก็ยังไม่มีข้อมูลอะไรเลย ไม่รู้ว่าต้องกินต้องเที่ยวที่ไหน ต้องนอนตรงไหน รู้แค่ว่าผมมีเวลาว่าง 4 วันตรงกับช่วงราคาตั๋วโปรโมชั่นพอดี แค่นั้นจริง ๆ กับการเริ่มตะลุยจีน"
"ส่วนแหล่งท่องเที่ยวผมก็ค้นจากเว็ปท่องเที่ยวว่ามีอะไรน่าสนใจบาง เดินทางไปอย่างไร ควรนอนย่านไหน แล้วจัดโปรแกรมเที่ยวให้ลงตามตั๋วเครื่องบินไปกลับของเราที่จองไว้ ตอนนี้แหละเป็นขั้นตอนที่สนุกที่สุด เพราะบางครั้งอ่านรีวิวแล้วอยากไปมันซะทั้งหมด แต่ก็ต้องเลือกตัดบางที่ออกให้เหลือเท่าเวลาที่เรามี เอาแค่ที่เที่ยวที่คิดว่ามันใช่สำหรับเรา ซึ่งหลัก ๆ ผมก็หาข้อมูลจากเว็ปไซต์พันทิป เพราะชอบมีนักรีวิวมาเขียนรีวิวพร้อมภาพถ่ายให้เราดู คือได้เห็นสถานที่จริงพร้อมกันไปทีเดียว ส่วนอันไหนที่อ่านแล้วสนใจแต่มีข้อมูลที่เป็นภาษาไทยไม่พอ ก็ใช้กูเกิลค้นหาเพิ่มเติม ซึ่งตรงนี้ก็จะมีชาวต่างชาติที่เคยไป มาเขียนรีวิวไว้ หรือบางครั้งเป็นคนท้องถิ่นเองที่เข้ามาให้ข้อมูลไว้ เราก็ใช้โปรแกรมแปลภาษาไปสิ จากภาษาท้องถิ่นมาเป็นภาษาอังกฤษก็มี ช่วงวางแพลนนี่แหละสนุกมาก ๆ จินตนาการได้อีก"
"ส่วนเรื่องขอวีซ่าจีนสำหรับผม ผมว่าง่ายมาก ๆ นะ ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนปฏิเสธ เราไม่ได้ไปทำอะไรไม่ดีเสียหน่อย เตรียมหลักฐานแค่ตั๋วเครื่องบินไปกลับ ใบจองโรงแรม รูปถ่าย 2 นิ้ว 1 ใบ กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มขอวีซ่า แล้วก็เตรียมเงินค่าธรรมเนียม 1,000 บาท เอาไปยื่นที่สถานฑูตจีน แค่นี้ก็ได้วีซ่าจีนมาครองแล้ว ข้อเสียอย่างเดียวคือ คนไปขอวีซ่ากันเยอะมากเพราะตั้งแต่จีนเปิดประเทศ ใคร ๆ ก็อยากไปเที่ยวจีน ต้องต่อแถวรอคิวกันยาวเลย หรือถ้าใครไม่มีเวลาก็สามารถให้เอเจนซี่ทำเรื่องแทนได้"
มีคนเคยพูดไว้นะครับว่า "ในชีวิตคนเรา จริง ๆ แล้วไม่ได้ขาดความงาม หากแต่ขาดการมองเห็น" ผมเชื่อว่าบทสัมภาษณ์สัปดาห์นี้คงจะจุดไฟให้คุณผู้อ่านอยากลุกขึ้นมาขยับเขยื้อนสองขาน้อย ๆ เดินออกมาจากที่ที่เราอยู่ได้บ้าง แต่ถ้าหากไฟยังไม่แรงพอ (ก็ฉันมันแรงเฉื่อยเยอะนี่นา) ลองติดตามอ่านบทสัมภาษณ์คุณหมอฟันท่านนี้ต่อได้ในสัปดาห์หน้านะครับ แล้วจะได้เห็นว่าการเดินทาง...ไม่ว่าจะต้นทาง ระหว่างทาง หรือปลายทาง สิ่งที่เราพบมันไม่ได้มีแค่สิ่งที่เราได้เห็น
(กาสะลองส่องจีน สัปดาห์หน้า : ความรู้สึกหลังจากที่ได้มาเจอจีนแบบจริง ๆ - สเน่ห์ที่น่าหลงใหลในแดนมังกร - ชีวิตกับการเดินทางกับคำจำกัดความของคุณหมอฟัน)