"...ผมคิดว่าหลายสาขาวิชาประเทศจีนก้าวไปไกลมาก เช่นสาขาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิงหวา ที่เข้าไปติดอันดับที่ 2 ของโลก รองจาก MIT ของสหรัฐอเมริกา...หรือจะเป็นสาขาวิชาด้านบริหารธุรกิจ การค้าระหว่างประเทศหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็มีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศอาทิ Cornell, MIT, John Hopkins หรือ UC Berkeley เห็นได้ชัดว่าความร่วมมือและการอัดฉีดจากรัฐบาลมากมายขนาดนี้ คงจะทำให้การศึกษาของมหาวิทยาลัยแนวหน้าของจีนสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ไม่ยาก"
ธีรติร์ บรรเทิง
ค้นกันเข้าไป อ่านกันให้มากครับ ตอนที่แล้วไม่พอก็อ่านต่อมันตอนนี้ครับ!! (คุณผู้อ่านคิดในใจ "วันนี้มันมาแนวฮาร์ทคอร์เว้ยเห้ย") เปล่าหรอกครับ ผมแค่รู้สึกกำลังมีไฟเกี่ยวกับประเด็นการศึกษาในประเทศนี้ และยิ่งมากขึ้นไปใหญ่ เมื่อได้มีโอกาสไปพบกับกูรูการศึกษาไทย ที่ยังเลือกตัดสินใจมาเรียนต่อที่นี่ด้วย จากสัปดาห์ก่อนที่ได้แง้ม ๆ ชื่อเสียงเรียงนามพี่เขาไปแล้ว มาวันนี้จะได้รู้จักตัวจริงเขากันล่ะครับ ผมเดินทางไปพบพี่ต้นซุง ธีรติร์ บรรเทิง บรรณาธิการการศึกษาต่างประเทศ เว็บไซต์การศึกษาอันดับหนึ่งของไทยอย่าง eduzones.com ที่มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) ครับ พี่เขากำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้านนิเทศศาสตร์ที่นี่ เรื่องพูดเก่งนี่คงไม่ต้องพูดถึง เพราะตั้งแต่ก้าวแรกที่ได้เหยียบลงมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็น MIT แห่งเอเชียนี้ พี่แกก็แนะนำไม่หยุด ชนิดที่เรียกว่าไปทำธุรกิจท่องเที่ยวทัวร์มหา'ลัยเถอะ พี่แกรู้ไปหมดจริง ๆ ครับ ตึกไหนมีประวัติอย่างไร สร้างเลียนแบบอาคารเรียนหลังไหนในประเทศอะไร ต้นไม้ชนิดไหนบานได้ดีในฤดูใด มุมไหนถ่ายรูปออกมาแล้วจะตรึงใจผู้ชม (ผมเชื่อว่าคราวหน้า ถ้าได้พบพี่เขาอีกคงโดนเบิร์ดกะโหลก เล่นแซวเสียขนาดนี้)
จากการพูดคุยในระหว่างเดินเข้าไปแถวคณะที่พี่ต้นกำลังศึกษาอยู่ ก็ได้ทราบคร่าว ๆ ครับว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีนักศึกษาไทยมาศึกษาต่อค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยที่ดังไม่แพ้กันอย่าง เป่ยต้า หรือมหาวิทยาลัยปักกิ่ง อย่างปริญญาเอกในปี 2014 นี้ก็มีพี่แกคนเดียวแหละครับที่เป็นคนไทยที่ได้มาศึกษาต่อ มหาวิทยาลัยชิงหวากว้างใหญ่มาก ไม้ยามก 10 ตัว ครับ อ่อ ใครเล็งจะมาเรียนต่อที่นี่ก็เตรียมตัวหาจักรยานดี ๆ คู่ชีพสักคันนะครับ ด้วยความหวังดี
สาเหตุที่ตัดสินใจมาเรียนต่อที่ประเทศจีน?
"การเรียนต่อประเทศจีนไม่ได้อยู่ในความคิดแรกเริ่มที่จะศึกษาต่อเลยครับ ตอนแรกตั้งใจจะไปศึกษาต่อสหรัฐอเมริกาหรือออสเตรเลีย แต่มีจุดหันเหความสนใจตรงที่ได้เข้าฟังงานสัมมนาของศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้เชิญนักข่าวสายต่างๆ (ตอนนั้นทำงานด้านสื่ออยู่ที่เว็บไซต์ eduzones) เข้าฟังสัมมนาเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาและเล็งเห็นว่าจีนกำลังพัฒนาเศรษฐกิจรวมถึงอุตสาหกรรมด้านต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสื่อจีนที่มีรายได้มวลรวมสูงเป็นอันดับสองของโลกตามงานวิจัยของ Pew Research Center
เหตุผลดังกล่าวทำให้เราได้แรงบันดาลใจตรงนั้นว่า ประเทศไทยมีนักวิชาการนักคิดที่ไปร่ำเรียนจากตะวันตกมากมาย ทั้งๆที่เอเชียเรามีเพื่อนบ้านมหาอำนาจอย่างจีน และวงการสื่อจีนก็ค่อนข้างสำคัญและเป็นตลาดที่ใหญ่ แต่กลับไม่ค่อยพบงานวิจัยด้านนี้จากนักวิชาการไทยที่จบจากจีนเลย จึงทำให้เปลี่ยนแนวคิดและความสนใจมาศึกษาสื่อจีนอย่างจริงจังครับ เลยตัดสินใจติดต่ออาจารย์ในมหาวิทยาลัยจีนที่ผมสนใจงานวิจัยของเขา จนได้มาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชิงหวา และได้รับโอกาสจากทางมหาวิทยาลัยพิจารณาทุนการศึกษาเต็มจำนวนจากรัฐบาลจีน (Chinese Government full Scholarship) เพื่อศึกษาและพักในหอพักของทางมหาวิทยาลัยในปัจจุบันครับ"
พอได้่เข้ามาเรียนที่ชิงหวาแล้ว หลักสูตรการเรียนการสอนที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง ?
"ประเทศจีนปัจจุบันพัฒนาแบบก้าวกระโดดครับ การศึกษาก็พัฒนาไปมาก เช่นในระดับอุดมศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยชิงหวาและมหาวิทยาลัยปักกิ่งก็เข้าไปติดอันดับ TOP 50 ของโลกทีเดียวครับ ในระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัยหลายแห่งได้พัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับนักเรียนต่างชาติที่สนใจเข้ามาศึกษาต่อในประเทศจีน และนักเรียนจีนที่ต้องการฝึกภาษาอังกฤษที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปีครับ ซึ่งตรงนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเป็นอย่างดีครับ ผมมองว่าการสนับสนุนตรงนี้เป็นพลังอ่อนหรือ Soft Power อย่างหนึ่งที่ทางรัฐบาลจีนเองต้องการผลักดันการศึกษาและเผยแพร่ภาษาจีนแก่คนทั่วโลกไม่ทางตรงก็ทางอ้อมครับ อีกทั้งรัฐบาลภายใต้การบริหารของท่านสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ยังได้เน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งจากคนจีนเอง เพื่อให้มีคุณภาพทั้งความรู้และทักษะสังคมแถมยังสอดแทรกแนวคิดปรัชญาขงจื๊อ ในเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม และการปกครองตนในชั้นเรียนแก่นิสิต นักศึกษา ซึ่งรัฐบาลจีนเองต้องการพัฒนาให้ประเทศจีนเป็นรัฐขงจื๊อ (Confucius State) ในอนาคตอันใกล้นี้ครับ"
"เนื่องจากผมเรียนในหลักสูตรภาษาจีน ก็จะมีอุปสรรคด้านภาษาจีนพอสมควรครับ เพราะต้องเจอภาษาจีนขั้นสูงในทางวารสารศาสตร์หรือสำนวนข่าวซึ่งเราไม่คุ้นเคย ส่วนในเรื่องบรรยากาศการเรียนในระดับปริญญาเอกนั้น มีความเข้มข้นของหลักสูตรพอสมควรครับ สัปดาห์หนึ่งนอกจากจะเรียนร่วมกับเพื่อนคนจีนในชั้นแล้ว นักเรียนต่างชาติ (ซึ่งในรุ่นมีผมกับเพื่อนชาวปากีสถานอีกคน) ต้องเรียนในชั้นเรียนเสริมกับอาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษาจีนในที่ปรึกษาคนอื่นๆของอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย โดยในแต่ละสัปดาห์ต้องอ่านบทความวิจัยประมาณ 3-4 เรื่อง ก่อนเข้าชั้นเรียนเพื่อที่จะสามารถวิจารณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนคนอื่นๆในชั้นเรียนได้ครับ โดยหลักสูตรปริญญาเอกที่ผมศึกษาอยู่ต้องเรียนประมาณ 3-4 ปี โดยในปีแรกจะต้องเรียนรายวิชา และปีต่อๆไปคือการทำงานวิจัยครับ ส่วนในเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนคนจีนนั้นดีมากครับ เพื่อนคนจีนน่ารักและเป็นกันเองทุกคน พร้อมช่วยเหลือและให้คำปรึกษาด้านการเรียนได้เป็นอย่างดีครับ"
หากจะเปรียบ ระบบการศึกษาจีนตอนนี้ใกล้เคียงกับประเทศไหน?
"ส่วนตัวมองว่าการศึกษาทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษามีระบบที่ไม่แตกต่างจากประเทศไทยมากนัก แต่ที่เห็นได้ชัดคือการส่งเสริมให้นักเรียนกล้าแสดงออกและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงความคิดเห็นต่อการเรียนการสอนและแนวคิดของอาจารย์ผู้สอน นักเรียนจีนจะตั้งใจเรียนและตรงต่อเวลาเป็นอย่างมากครับ เข้าไปในห้องเรียนไม่มีใครคุยกัน จะตั้งใจฟังอาจารย์และจดบันทึกการเรียนอย่างตั้งใจ ในช่วงแรกที่เข้าชั้นเรียนของผม ผมพบว่าแม้เวลาเรียนจะยังไม่เริ่มขึ้น ภายใน 5-10 นาทีนักเรียนจะพร้อมรออาจารย์เริ่มสอนครบทุกคนแล้ว"
การศึกษาจีนในตอนนี้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้หรือยัง?
"ส่วนตัวขอให้ความเห็นเกี่ยวกับการศึกษาระดับอุดมศึกษานะครับ ผมคิดว่าหลายสาขาวิชาประเทศจีนก้าวไปไกลมาก เช่นสาขาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยจีนเข้าไปติดอันดับมหาวิยาลัยโลกหลายแห่งทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น สาขาวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิงหวาเข้าไปติดอันดับที่ 2 ของโลก รองจาก MIT ของสหรัฐอเมริกาทีเดียว จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ US News ของสหรัฐอเมริกา ปี 2014 ที่มีระเบียบวิธีวิจัยเน้นด้านงานวิจัย การตีพิมพ์และการอ้างอิงในฐานข้อมูล SCI"
"หรือจะเป็นสาขาวิชาด้านบริหารธุรกิจ การค้าระหว่างประเทศ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็มีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศหลายแห่งครับ อย่างชิงหวาก็มีหลักสูตรปริญญาร่วมกับ Cornell, MIT, John Hopkins หรือ UC Berkeley และกำลังจะเปิด Yale Center Beijing ซึ่งจะเปิดสอนปริญญาโทคู่ขนานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา, Schwarzman Scholars โครงการทุนสำหรับนักเรียนหัวกะทิ และปริญญาโทคู่ขนานด้านการวิเคราะห์ธุรกิจร่วมกับ Columbia ในปีหน้าอีกด้วยครับ ส่วนมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งก็ได้รับการผลักดันด้านงานวิจัยเป็นพิเศษจากภาครัฐ เช่นมหาวิทยาลัยในกลุ่ม C9 League และ Project 985 ที่ได้รับการผลักดันจากรัฐบาลให้เข้าสู่การแข่งขันระดับโลกในปัจจุบันครับ เห็นได้ชัดว่าความร่วมมือและการอัดฉีดจากรัฐบาลมากมายขนาดนี้ คงจะทำให้การศึกษาของมหาวิทยาลัยแนวหน้าของจีนสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ไม่ยาก"
เราได้เห็นภาพของการศึกษาสากลแล้ว หากเราได้เป็นผู้นำที่อยู่ในจุดที่สามารถเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยได้ เราอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรเป็นอย่างแรก?
"ถ้าถามว่าอยากให้เปลี่ยนอะไร อันดับแรกอยากแนะนำให้เปลี่ยนความคิดครับ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาบ้านเรา อาจารย์ต้องให้โอกาสเด็กทุกคนในการแสดงออกทางความคิด ไม่ควรปิดกั้นเด็ก พร้อมทั้งเป็นผู้สนับสนุนตามความสนใจของเด็ก อาจารย์ต้องรู้หลักจิตวิทยาในการสอนและการเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กตามความสามารถและทักษะของเด็ก ส่วนตัวเด็กเองสิ่งที่อยากพัฒนาที่สุดคือทักษะการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งนักเรียนไทยจำนวนมากยังมีรูปแบบการเรียนที่ต้องคอยรับจากผู้สอนอยู่ เรียนจบ สอบ ลืม เป็นวังวนของการไม่พัฒนา แต่ถ้าหากเด็กรู้จักการค้นคว้าในสิ่งที่ตนเองสนใจอยากจะรู้จริงๆ เขาจะจำสิ่งนั้นได้เป็นอย่างดี เราต้องหากลยุทธ์ในการฝึกเด็กของเราให้เกิดทักษะการเรียนรู้อย่างยั่งยืนครับ"
หวังว่าตลอดสามสัปดาห์ที่กาสะลองส่องจีนได้นำเสนอข้อมูลและความเห็นของกูรูการศึกษาทั้งจากฝั่งไทย-จีน จะช่วยให้คุณผู้อ่านตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าฉัน...จะเอายังไงต่อดีนะครับ ทุกการเดินทางมันต้องมีก้าวแรกเสมอ ผมเชื่อว่าทุกคนเริ่มออกเดินหรือผ่านจุดที่ยากที่สุดมาแล้ว เติมเสบียงใจให้พร้อมหล่อเลี้ยงความท้อความผิดหวังที่มันต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ ระหว่างทาง แต่เชื่อเถอะว่าสักวันหนึ่งก็จะได้ดังหวังแน่ ๆ เป็นกำลังใจให้ได้มาศึกษาที่นี่กันถ้วนหน้านะครับ
การสะลองส่องจีน สัปดาห์หน้า (ตอนพิเศษ) : มุมมองของนักนิเทศศาสตร์ ม.ชิงหวา "ระบบสื่อจีนกับโลกปัจจุบัน" : ธีรติร์ บรรเทิง