กาสะลองส่องจีน ตอน 5.1 : หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันทุนการศึกษารัฐบาลจีน ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในประเทศไทย : ภากร กัทชลี
  2015-01-02 14:57:50  cri

"...ทุกที่ล้วนมีทั้งในมุมที่ดีและไม่ดี ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมหาศาล ทำให้มีหลายเรื่องราว หลายมุมมองเกิดขึ้น ซึ่งในมุมที่ไม่ดี ผมมองว่ามันเป็นเสน่ห์นะ มันทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตที่เป็นชีวิตจริง ๆ ถ้าได้ลองมาอยู่ จะรู้ว่าที่จีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าอยู่มาก ต้องลองมาเรียนรู้ มาใช้ชีวิตดู แล้วทุกคนจะได้เห็นอีกมุมหนึ่งของที่นี่"

ภากร กัทชลี

หลายช่วงของชีวิตนะครับที่มันพาเราไปอยู่ในจุดที่ต้องเลือก ต้องตัดสินใจ บางคนอาจจะชูสองนิ้ว ยิ้มแล้วลุยเลย บางคนอาจยืนนิ่ง ๆ เกร็งหน้าประเมินสถานการณ์ก่อน หรือบางคนอีกแหละที่บอก ไม่เอาล่ะ...ฉันขอถอยดีกว่า จะด้วยอารมณ์หรือตรรกะอันใดก็ตามแต่ที่ทำให้มนุษย์เราตัดสินใจต่างกันไป แต่นั่นก็พาให้เราท่านมาอยู่กับปัจจุบันนี้แล้วนะครับ เข้าสู่อีกปีที่คงมีอะไรอีกหลายอย่างเหวี่ยงเราเข้าไปอยู่ในจุดที่ต้องเลือก ต้องตัดสินใจอีกครั้ง กาสะลองส่องจีนขอเป็นกำลังใจให้คุณผู้อ่านทุก ๆ ท่านมีสติเสมอพร้อม ก้าวผ่านอุปสรรคไปได้ด้วยกำลังใจที่สร้างขึ้นด้วยหัวใจเราเอง และกำลังใจจากคนรอบ ๆ ข้างนะครับ

หลังจากที่เขียนบล็อคมาได้สักพักก็เริ่มมีเสียงกระซิบบ้าง ตะโกนใส่บ้างว่าให้หาคนที่รู้เรื่องทุนการศึกษาจีนมาเล่าอะไรให้ฟังหน่อย ผมก็ไม่อยู่นิ่งครับ ใช้พลังงานอภินิหารที่สั่งสมไว้ทั้งหมดติดต่อสืบค้นจนได้คนที่มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์แก่เสียงกระซิบและเสียงตะโกนเหล่านั้น จนมาเป็นกาสะลองส่องจีน ตอนที่ 5 เนี่ยแหละครับ บอกท่าน ๆ ก่อนนะครับว่า ครบจริง จัดเต็มจริง ๆ คนนี้ ไปรู้จักเขากันเลยดีกว่าครับ

แนะนำตัวให้รู้จักกันหน่อย?

"สวัสดีครับผมชื่อ ภากร กัทชลี ชื่อเล่นชื่อปอ พอมาอยู่ที่จีนก็ได้ชื่อภาษาจีนเพิ่มว่า 帕卡 (ผ้าข่า) ซึ่งเป็นชื่อภาษาจีนที่เจ้าหน้าที่สมัยผมเรียนปริญญาโทที่ม.เป่ยหังตั้งให้ครับ เขาตั้งตามชื่อภาษาอังกฤษที่ชื่อ Pagon เลียนเสียงออกมาคล้าย ๆ กัน ชื่อนี้ตอนแรกผมฟังแล้วขำมาก เหมือนชื่อชนเผ่าอะไรสักอย่าง แต่ผมว่าก็เป็นชื่อที่ดีนะจำง่ายดี ตอนนี้กำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยซีเตี้ยน (มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีแห่งซีอัน) เมืองซีอันครับ"

คุณผู้อ่านครับ เดี๋ยวจะหาว่าผมเอาใครก็ไม่รู้มาเล่าเรื่องทุนนะครับ พี่ปอผู้นี้มีประวัติครับ พี่แกมีประสบการณ์ไปบรรยายเรื่องทุนการศึกษาจากรัฐบาลจีนตามพื้นที่ต่าง ๆ มากมายจนได้รับรางวัลเป็นผู้อุทิศตนให้แก่การศึกษาจีนกลางต่อสาธารณะ ในฐานะผู้ให้คำแนะนำศึกษาและเรียนต่อจีน ยังครับ ยังไม่พอ ยังได้รับรางวัลในงานนิทรรศการภาษาจีนกลางสำหรับผู้เริ่มเรียนครั้งที่ 2 ที่มอบรางวัลโดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนด้วย

ทุนการศึกษารัฐบาลจีนหรือทุน CSC คืออะไร แล้วต่างจากทุนอื่น ๆ ในโลกอย่างไร?

"ทุน CSC มีชื่อย่อมาจาก Chinese scholarship council ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาของทางกระทรวงการศึกษา รัฐบาลจีนครับ มีอีกชื่อว่า CGS หรือ Chinese Government Scholarship หรือแปลเป็นไทยก็คือ ทุนรัฐบาลจีนครับ มีความต่างจากทุนอื่น ๆ ในโลกนี้อย่างไร อย่างแรกเลยคือ "แจกเยอะมาก" ที่จีนให้ทุนเยอะมากจริง ๆ ครับ โดยเฉพาะระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพราะว่าที่จีนเขาเน้นงานวิจัย ดังนั้นการให้ทุนระดับโทและเอกจึงเป็นการเพิ่มงานวิจัยในมหาวิทยาลัยของเขา แล้วก็ยังทำให้เด็กจีน อาจารย์ที่จีน และประชาชนที่จีน ได้เรียนรู้วัฒนธรรมจากประเทศต่างๆ ภายนอกประเทศของเขาด้วยครับ" "เท่าที่ผมหาข้อมูลเรื่องทุนการศึกษา ก่อนที่จะรู้จักทุนรัฐบาลจีน ทุนรัฐบาลจีนเป็นทุนการศึกษาที่ไม่ต่างจากทุนอื่น ๆ ครับ คือจะมีทั้งทุนประเภทเต็มจำนวน ครอบคลุมทุกอย่าง ตั้งแต่ ค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก ค่าหนังสือ ค่าประกันภัย-ประกันสุขภาพ ค่าใช้จ่ายรายเดือน และก็จะมีทุนแบบไม่เต็มจำนวน คือครอบคลุมค่าเล่าเรียนอย่างเดียว แต่ในปัจจุบัน ปกติแล้ว จะเป็นทุนเต็มจำนวนทั้งหมดครับ" "ทุนรัฐบาลจีนมีจุดเด่นอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ หากใครที่ไม่เคยรู้ภาษาจีนมาก่อนเลยหรือพอรู้มาบ้าง แต่คิดว่าคงเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตและการเรียนแน่ ๆ โดยเฉพาะหากสาขาที่เราเลือก มีการเรียนการสอนเป็นภาษาจีน เราสามารถขอเพิ่มเวลาเรียนเพิ่มอีก 1-2 ปีเพื่อเรียนภาษาจีนอย่างเดียว ก่อนที่จะเริ่มเรียนในระดับปริญญาที่เราเลือกได้ครับ โดยทุนนี้จะครอบคลุมค่าเรียนภาษา และระหว่างเรียนภาษา ก็มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้ตามปกติครับ" "สรุปง่าย ๆ ก็คือเหมือนทางรัฐบาลจีนจ้างเรามาเรียนเลย (หัวเราะ) เพราะครอบคลุมทุกอย่างจริง ๆ ในส่วนของค่าใช้จ่ายรายเดือน ทางจีนจะให้เราเดือนละ 1,700 หยวน (8,500 บาท) สำหรับปริญญาโท และ 2,000 หยวน (10,000 บาท) สำหรับปริญญาเอก ตรงนี้อาจจะมองดูเป็นเงินที่น้อย แต่ว่าจริง ๆ แล้วเป็นเรทคนจบป.ตรี ทั่วไป ของจีนครับ ถ้าเราใช้จ่ายตามปกติ ทานข้าว ซื้อของในโรงอาหาร หรือตามย่านแถวที่พักของเรา ก็ถือว่าพอนะ เรียกได้ว่าฝึกใช้ชีวิตแบบคนจีนครับ สู้ชีวิต! อ้อ ผมลืมบอกไปเลยว่า จริงๆทุนรัฐบาลจีน ครอบคลุม ระดับปริญญาตรี และนักเรียนแลกเปลี่ยน หรือคนที่ต้องการทำ Post doctoral (วิจัยหลังปริญญาเอก) ระยะสั้นด้วยนะครับ แต่การสมัครจะแตกต่างจากสมัครระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสักหน่อย คือ ถ้าสมัครระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สามารถสมัครผ่านมหาวิทยาลัยได้โดยตรง แต่ถ้าเป็นระดับปริญญาตรี นักเรียนแลกเปลี่ยนและวิจัยระยะสั้น จะต้องสมัครผ่านสถานทูตจีนในไทยเท่านั้น"

เห็นว่าเรากลุ่มกับเพื่อน ๆ เปิดกลุ่มในเฟซบุ๊คแนะนำทุนการศึกษาจีน มีอะไรที่น่าสนใจในกลุ่มนี้แล้วทำไมถึงอยากเปิด?

"ใช่ครับ พวกผมได้เปิดกลุ่มใน Facebook ชื่อว่า Thai CSC กลุ่มนี้ก็เปรียบเหมือนสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลจีน รวมถึงทุนอื่น ๆ ในจีน ซึ่งผมมีแผนที่จะจัดตั้งเป็นสมาคมนักศึกษาทุนจริง ๆ ในอนาคต กลุ่มนี้จะให้ข้อมูล ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการสมัครทุนครับ โดยต้องเท้าความย้อนไปเมื่อปลายปี 2553 ตอนนั้นผมกำลังจะจบปริญญาตรี และรู้ตัวเองว่าอยากเรียนต่อแต่ฐานะทางครอบครัวไม่ดีนัก ผมเลยพยายามหาทุนการศึกษา แต่เกรดเฉลี่ยของผมไม่ค่อยดี ไม่ถึง3 ทำให้มีข้อจำกัดในการหาทุน เพราะส่วนใหญ่เขาจะกำหนดเกรดและวัดจากเกรด จนผมมาเจอกระทู้ของพี่อานนท์ ฝึกฝน หรือพี่ป่าน Andy Chen ของน้อง ๆ" "…ซึ่งตอนนั้นพี่เขาเป็นนักศึกษาทุน กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก ที่ ม.เจ้อต้า (Zhejiang University) ที่ได้ตั้งกระทู้เกี่ยวกับรัฐบาลจีนไว้ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ผมเลยลองค้นหาข้อมูลเพิ่มซึ่งในตอนนั้นหาข้อมูลยากมาก เพราะยังไม่ค่อยมีใครรู้จักทุนนี้มากนัก แต่ก็พอจะมีข้อมูลมาบ้างว่าเป็นทุนที่ไม่กำหนดเกรด พอรู้แบบนี้เหมือนเริ่มเห็นแสงสว่างครับ แต่ผมยังมืดแปดด้านนะ เพราะตอนนั้นภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ ภาษาจีนนี่อย่าพูดถึงครับ ไม่รู้เลย รู้แค่คำว่าหว่ออ้ายหนี่ (หัวเราะ) และไม่เคยมีความคิดอยู่ในหัวเลยว่าจะไปเรียนต่อที่จีน ข้อมูลในตอนนั้นจึงเป็น 0 ครับ" "...ผมเลยติดต่อไปหลังไมค์กับทางพี่ป่าน พี่เขาใจดีมากครับ ช่วยเหลือและให้ข้อมูลทุกอย่างแถมยังแนะนำเอกสารของคุณ Tomimoto รุ่นพี่คนไทยคนหนึ่ง ที่ถือเป็นรุ่นบุกเบิกทุนรัฐบาลจีนที่จีนเลย ซึ่งพี่เขาเขียนเอกสารไว้ค่อนข้างละเอียดมาก หลังจากนั้นผมก็ลงมือสมัครทุนและระหว่างรอผลทุน ว่าได้หรือไม่ได้ ผมเลยมีความคิดว่า อยากเปิดกลุ่มเพื่อให้ข้อมูลทุนนี้ขึ้นมา โดยตอนนั้นไม่สนนะว่าสรุปแล้วผมจะได้ทุนหรือไม่ รู้แต่ว่า ในเมื่อเรารู้ข้อมูลดี ๆ มาทั้งจากพี่ป่าน ทั้งเอกสารของคุณ Tomimoto และจากเพื่อน ๆ ที่รู้จักกัน ตอนสมัครทุน ผมเลยอยากส่งต่อให้คนอื่นด้วย ผมเลยเปิดกลุ่มและเชิญพี่ป่านกับเพื่อนอีกคนหนึ่งที่รู้จักตอนสมัครทุนมาร่วมกันในกลุ่ม จึงเป็น 3 คนแรกในกลุ่มครับ หลังจากเปิดกลุ่มก็มีการบอกกันปากต่อปากทำให้กลุ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ มีเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ มาร่วมเป็น Admin ให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลต่อผู้ที่สนใจสมัครทุนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งผมภูมิใจมาก เพราะมีเด็กไทยได้ทุนรัฐบาลจีนเพิ่มทุกปี โดยปีล่าสุดปีนี้ ได้ทุนมาเรียนต่อจีน เท่าที่มาลงทะเบียนให้ข้อมูลในกลุ่ม ประมาณ 200 กว่าคนแล้ว"

เข้าสู่ปีที่ 4 แล้วที่เปิดกลุ่ม ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราเห็นความเปลี่ยนแปลง ทัศนคติความคิดของคนไทยเกี่ยวกับการศึกษาในจีนอย่างไร และเพราะอะไรคนไทยถึงยังไม่ค่อยกล้ามาศึกษาต่อที่จีน?

 "ถ้าเป็นระดับปริญญาตรี ก็ถือว่ากำลังจะเรียนจบแล้วเนอะ สำหรับกลุ่มนี้ (หัวเราะ) สำหรับผม ผมยังมีความรู้สึกเหมือนเพิ่งเปิดกลุ่มเมื่อวานนี้อยู่เลย เวลาผ่านไปเร็วจริง ๆ ตลอดเวลาที่เปิดกลุ่มนี้ทำให้ผมได้เห็นมุมมองทัศนคติต่าง ๆ ของเด็กนักเรียนไทยเกี่ยวกับการศึกษาจีน ในแง่ที่ว่าเด็กไทยสนใจภาษาจีนกันมากขึ้น "มาก ๆ" ทั้งที่เรียนจบมาจากเอกจีนอยู่แล้ว หรือว่าไม่ได้เรียนเกี่ยวข้องกับจีนมาเลยแต่อยากรู้ภาษาจีน เพราะเดี๋ยวนี้จีนเป็นมหาอำนาจเด็กไทยเลยอยากเรียนรู้ภาษาจีน เพื่อต่อยอดทางธุรกิจและการทำงาน ซึ่งในแง่ของระบบการศึกษาจีนจริง ๆ เด็กไทยอาจจะยังไม่ค่อยมีความเข้าใจตรงนี้เท่าไหร่ คือจะมองในแง่ของตัวภาษาและโอกาสในการทำธุรกิจในการทำงานจากประเทศจีนมากกว่า แต่สำหรับเด็กที่จบจากเอกจีนก็จะเคยไปเรียนแลกเปลี่ยนหรือมีโอกาสได้รู้เกี่ยวกับระบบการศึกษาในจีนบ้าง ก็มักจะบอกกันว่าเรียนในจีนยาก เด็กจีนเก่งมาก อาจารย์โหด ซึ่งตรงนี้ต้องลองไปพิสูจน์กันเองครับ" "...ส่วนเพราะอะไรคนไทยถึงยังไม่ค่อยกล้ามาศึกษาต่อที่จีน ผมว่าอาจจะเป็นค่านิยมด้วยครับ ส่วนใหญ่ถ้าเด็กเรียนจบ ไม่ว่าจะ ม.ปลาย หรือระดับปริญญาที่เกี่ยวข้องกับภาษาจีนหรือเกี่ยวกับประเทศจีน ก็แน่นอนว่าอยากมาเรียนต่อที่จีนอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นสาขาอื่น ๆ อาจจะงง ๆ ว่า จีนมีอะไรให้เรียนหว่า ถ้าเรียนต่อก็ไป อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่น ๆ ในแถบยุโรปไม่ดีกว่าเหรอ แล้วก็อาจเป็นเพราะมุมมองของเมืองจีนที่คนไทยมองว่าค่อนข้างวุ่นวาย ไม่สะอาด โดยเฉพาะห้องน้ำ มีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายที่เกิดในจีนทำให้คนไทยไม่ค่อยกล้ามาใช้ชีวิตที่จีน แต่ผมอยากบอกทุกคนว่าทุกที่ล้วนมีทั้งในมุมที่ดีและไม่ดี ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมหาศาล ดังนั้นทำให้มีหลายเรื่องราว หลายมุมมองที่เกิดขึ้น ซึ่งในมุมที่ไม่ดี ผมมองว่ามันเป็นเสน่ห์นะ มันทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตที่เป็นชีวิตจริง ๆ ถ้าได้ลองมาอยู่จะรู้ว่าที่จีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าอยู่มาก ต้องลองมาเรียนรู้ มาใช้ชีวิตดู แล้วทุกคนจะได้เห็นอีกมุมหนึ่งของที่นี่" "กลับมาในแง่ของการศึกษาอีกสักหน่อย อยากบอกว่าที่จีน มีมหาวิทยาลัยที่ติดระดับโลก ระดับเอเชีย เยอะมาก ดังนั้นระบบการศึกษาไม่ต้องห่วงเลย โดยเฉพาะระดับปริญญาโท-เอก เพราะที่นี่เน้นเรื่องการทำวิจัยและการใช้งานจริงครับ อย่างสาขาด้านการค้า ด้านธุรกิจ ด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี เดี๋ยวนี้แม้แต่เด็กอเมริกัน เด็กยุโรป ก็เลือกมาเรียนที่นี่ เพราะประเทศจีนได้ก้าวมาเป็นผู้นำทั้งการค้า ธุรกิจ เทคโนโลยี อย่างเต็มตัวแล้ว ซึ่งพื้นฐานที่ทำให้พี่จีนของเรามาถึงขนาดนี้ได้ก็เพราะการศึกษานี่แหละครับ"

กาสะลองส่องจีน ตอน 5.2 (สัปดาห์หน้า) : (คําถามในกลุ่มที่สมาชิกมักจะถามบ่อย ๆ - คณะไหนที่คนไทยนิยมมาศึกษาต่อที่จีน - ถ้ามีโอกาสพูดให้คนไทยฟัง..เราอยากพูดให้คนไทยทําความเข้าใจในการศึกษาที่ประเทศจีนใหม่ อย่างไร - สิ่งที่แตกต่างระหว่างระบบการศึกษาของจีน และระบบการศึกษาของไทย)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
泰国
v กาสะลองส่องจีน ตอน 4.2 : ทหารหนุ่มไทยใจกว้าง กับการใช้สื่อใหม่สร้างกองทัพผู้ประกอบการไทยลุยตลาดจีน : ร.ท. อภิธัช เสาะการ 2014-12-26 16:20:50
v กาสะลองส่องจีน ตอน 4.1 : ทหารหนุ่มไทยใจกว้าง กับการใช้สื่อใหม่สร้างกองทัพผู้ประกอบการไทยลุยตลาดจีน : ร.ท. อภิธัช เสาะการ 2014-12-20 14:03:40
v กาสะลองส่องจีน ตอน 3 : จากข้าราชการกระทรวงไอซีทีไทย สู่นักศึกษาทุนปริญญาโท กรุงปักกิ่ง : นพคุณ สุนทรหงส์ 2014-12-12 16:15:01
v กาสะลองส่องจีน ตอน 2.2 : จากนักเรียนโอลิมปิกวิชาการคอมพิวเตอร์ สู่ว่าที่ดอกเตอร์ผู้บุกเบิกวงการ "พระเครื่องไทยในแผ่นดินจีน" : ภัณฑิล จงจิตรตระกูล 2014-12-05 19:09:36
v กาสะลองส่องจีน ตอน 2.1 : จากนักเรียนโอลิมปิกวิชาการคอมพิวเตอร์ สู่ว่าที่ดอกเตอร์ผู้บุกเบิกวงการ "พระเครื่องไทยในแผ่นดินจีน" : ภัณฑิล จงจิตรตระกูล 2014-11-28 18:08:39
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040