"แรงบันดาลใจส่วนตัวที่ทำมาตลอดคือ ความมุ่งมั่นที่จะตามความฝัน เราอยากทำอะไร เราก็จะทำมันให้เต็มที่ จะได้ไม่ต้องมารู้สึกเสียดายในภายหลัง ถ้าคุณทำมันแม้ว่ามันจะเป็นความหวังอันน้อยนิด แต่คุณก็ยังมีโอกาสที่จะสำเร็จสิ่งนั้นได้ แต่ถ้าคุณไม่เริ่มลงมือทำมัน คุณก็จะไม่มีวันทำมันได้สำเร็จ"
ธีรติร์ บรรเทิง
คุณผู้อ่านครับ ชาวจีนเขามีสำนวนที่ว่า เวลาหนึ่งปีนั้นผ่านไปไวเหมือน "หนึ่งก้านธูป" ผมล่ะชอบเหลือเกินเจ้าสำนวนนี้ เพราะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดแบบ 3 มิติมาก ๆ (มาเป็นกลิ่นกันทีเดียว) เพราะ...ดูสิครับ เผลอหน่อยเดียวก็ผ่านปีใหม่มาได้จะเดือนหนึ่งแล้ว แต่เอาเถอะ ธูปจะหมดดอกไปสักกี่ก้าน กาสะลองส่องจีนก็ยังจะรับใช้คุณผู้อ่านเหมือนเดิม ออกตามหาคนไทยที่มาใช้ชีวิตหรือมีเคยมีส่วนเสี้ยวหนึ่งในชีวิตได้มาเหยียบบนแผ่นดินมังกรนี้ บังคับขู่เขิญให้พวกเขาเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ที่สั่งสมมาเพื่อหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์กับชาวไทยทุกคนที่สนใจในดินแดนนี้
สัปดาห์นี้ ด้วยความที่ผู้ให้สัมภาษณ์มีดีกรีเป็นนักเรียน ป.เอก ที่หาตัวจับได้ยาก ใครเล่าจะยอมให้จากไปง่าย ๆ ใช่ไหมครับ ผมยังคงอยู่กับพี่ต้นซุง ธีรติร์ บรรเทิงคนเดิมครับ แต่ประเด็นที่จะพูดคุยกันในวันนี้นี่สิที่ต่าง ผมเลือกที่จะถามสิ่งที่ค่อนข้างมั่นใจว่าไม่เคยมีใครถามพี่แกมาก่อน ลองไปตามอ่านกันเลยครับ
ในชีวิตได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้คนมากมาย ในฐานะเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์บ้างรู้สึกอย่างไร+ถ้าตั้ง คำถามได้ อยากถามอะไรกับตัวเอง แล้วตอบว่าอะไร?
"รู้สึกดีครับ ที่ได้เป็นคนแบ่งปันสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่เราได้พบเจอมา จากการสัมภาษณ์บ้าง จากการเรียนรู้ผ่านหน้าที่การงานบ้าง โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาบ้านเรา ที่ผมได้เห็นอาจารย์และนักเรียนจำนวนมากทีเดียวที่ตั้งคำถามกับตัวเองและระบบการศึกษาบ้านเราและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาให้ดีขึ้น ในหลายพื้นที่ในต่างจังหวัดที่ผมเคยไปเป็นวิทยากรเกี่ยวกับทักษะแห่งอนาคตหรือการเปิดรับอาเซียน เช่นที่โรงเรียนชายแดนภาคเหนือและภาคอีสาน นักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ขาดโอกาสทางการศึกษามากครับ ขาดครู ขาดเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาการเรียนรู้ นักเรียนหลายคนขาดแคลนทุนทรัพย์แต่พร้อมที่เรียนรู้ นักเรียนกลุ่มนี้ทำให้ผมตระหนักครับว่า "ทุนทางสังคมของเราไม่เท่ากัน แต่ถ้าเราให้แรงบันดาลใจ ให้ทักษะบางอย่างเพื่อที่ให้เขานำไปใช้ ก็จะเกิดประโยชน์กับตัวเขาอย่างยั่งยืนครับ" การพบผู้คนหลากหลายทำให้เรียนรู้วิถีชุมชน เรียนรู้การทำงานที่แตกต่างจากในเมืองค่อนข้างมากครับ"
"ตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันครับว่า ในอนาคตอยากจะทำอะไรต่อไป วาดฝันตัวเองอีก 10 ปีข้างหน้าไว้อย่างไรบ้าง คำถามนี้ผมจำได้ดีซึ่งส่วนตัวคิดว่ามีอิทธิพลกับชีวิตผมพอสมควร ซึ่งผู้ที่ถามคำถามนี้กับผมคือ อาจารย์สุวัฒนา วงษ์กะพันธ์ ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ สมัยที่ผมยังศึกษาปริญญาโทที่นั่นครับ ส่วนคำตอบของคำถามเคยคิดไว้หลากหลายทีเดียว ยอมรับว่าช่วงที่เรียนปริญญาโทยังค่อนข้างสับสนกับเป้าหมายในอนาคต แต่จุดหันเหเกิดขึ้นหลังจากออกจากห้องสอบวิทยานิพนธ์ที่จุฬาฯนั่นแหละครับ ผมตอบคำถามตัวเองได้ว่า "ผมอยากจะเรียนต่อและเรียนรู้ให้ลึกขึ้นในสิ่งที่ผมสนใจ" เป็นประโยคที่ผมตอบท่านอาจารย์คณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของผม อาจารย์พนม คลี่ฉายา อาจารย์พัชนี เชยจรรยา และอาจารย์กุลธิดา ธรรมวิภัชน์ ตั้งแต่วันนั้นทำให้ผมตั้งใจ และมุ่งมั่นในการทำงานทั้งด้านวิชาชีพคือการทำงานด้านสื่อสารมวลชน และงานวิจัยไปพร้อมๆกันครับ และเมื่อมาศึกษาต่อปริญญาเอก ผมพบว่าบ้านเรายังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อมวลชนและจีนศึกษาอีกมาก ถ้าเป็นไปได้อยากกลับมาเขียนหนังสือสักเล่มเกี่ยวกับวารสารศาสตร์มาร์กซิสต์ หรือการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ เช่นการพัฒนางานวิชาการร่วมระหว่างไทย-จีนครับ"
หลังจากที่ได้เล่าเรื่องราวชีวิตแล้ว ตัวเราเองก็เริ่มจากความเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อย ๆ ตามครอบครัว อะไรเป็นแรงผลักดันให้เรามาถึงตรงนี้?
"แรงบันดาลใจส่วนตัวที่ทำมาตลอดคือ ความมุ่งมั่นที่จะตามความฝัน เราอยากทำอะไร เราก็จะทำมันให้เต็มที่ จะได้ไม่ต้องมารู้สึกเสียดายในภายหลัง ถ้าคุณทำมันแม้ว่ามันจะเป็นความหวังอันน้อยนิด แต่คุณก็ยังมีโอกาสที่จะสำเร็จสิ่งนั้นได้ แต่ถ้าคุณไม่เริ่มลงมือทำมัน คุณก็จะไม่มีวันทำมันได้สำเร็จ"
เสรีภาพในการเรียนคณะนิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในประเทศจีนเป็นอย่างไร?
"ส่วนตัวพบว่ามหาวิทยาลัยจีนหลายแห่งค่อนข้างเปิดพื้นที่ทางความคิดให้กับนักศึกษามากทีเดียวครับ เช่นการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่นของชิงหวาเอง มีการจัดกิจกรรมทางวิชาการ เชิญนักวิชาการและผู้บริหารระดับสูงจากนานาประเทศมาบรรยายทุกอาทิตย์ที่มหาวิทยาลัยครับ เช่นผู้ก่อตั้ง Facebook อย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็ได้มาแบ่งปันความรู้เรื่องความสำคัญของอินเทอร์เน็ตกับสังคมที่มหาวิทยาลัยเมื่อเดือนตุลาคม 2014 ที่ผ่านมาครับ"
"คำว่า "เสรีภาพ" ผมมองว่าไม่ใช่ว่าคุณจะอยากทำอะไรก็ได้ทุกอย่างตามใจตน เสรีภาพต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่เป็นการบ่อนทำลายสังคม การเรียนการสอนด้านสื่อที่ชิงหวาค่อนข้างมีเสรีภาพทางความคิด ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้เหตุผลและการหาข้อมูลมาสนับสนุนความคิดนั้นครับ โรงเรียนวารสารศาสตร์ชิงหวาในระดับบัณฑิตศึกษาค่อนข้างเน้นการเรียนทฤษฎีวิพากษ์ทางสังคมศาสตร์ กับการถกกรณีศึกษาในปัจจุบัน โดยเฉพาะทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา รัฐศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษา ซึ่งเป็นการเรียนที่บูรณาการทางความคิดเป็นอย่างมาก มีการจัดการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ (Convergence Journalism) และสื่อใหม่ (New Media) โดยมีการเปิดเป็นสาขาวิชาเอกในระดับปริญญาโท นอกจากนี้โรงเรียนยังพัฒนาหลักสูตรด้านวารสารศาสตร์ธุรกิจระดับโลก (Global Business Journalism) โดยมีความร่วมมือกับ International Center for Journalists (ICFJ) และ Bloomberg สื่อการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในการฝึกอบรมนักศึกษาเชิงปฏิบัติการ และยังสอดรับกับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกในปัจจุบันครับ"
"อย่างเช่นประเด็นด้านการสื่อมวลชนที่หลายคนตั้งคำถาม ถ้ามองในแง่ผู้ที่เข้ามาศึกษาในฐานะนักเรียนต่างชาติแล้ว ส่วนตัวผมมองว่า เราต้องปรับตัวเราให้เข้ากับระบอบการปกครองของประเทศเขาครับ ในฐานะที่เราเข้ามาศึกษาเพื่อนำองค์ความรู้กลับไปพัฒนาประเทศ สื่อจีนเป็นตลาดที่ใหญ่และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จีนมีสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เป็นของตัวเอง ในฐานะที่ผมมี Account ของ Weibo (คล้ายกับ Twitter ผสม Facebook), WeChat (คล้ายกับ LINE) และ Youku.com (คล้ายกับ YouTube) ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ยอดฮิตของคนจีน การที่ได้เรียนรู้สื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวเท่ากับเราได้เปิดโลกการเรียนรู้ของเราไปสู่อีกโลกหนึ่งทีเดียว เช่น Weibo ของดาราจีนบางคนหรือนักวิชาการบางท่านมีคนตามไม่ต่ำกว่าล้านคนไม่แตกต่างจากสื่อออนไลน์ที่เรารู้จักกันดีเลยครับ ผมพบว่าเทคโนโลยีบางอย่างมีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แนวคิดและทฤษฎีตามหลักปรัชญาขงจื๊อและเต๋าก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจในการศึกษาปรัชญาในการทำงานของสื่อจีน ส่วนที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษคือเรื่องของ "การตรวจสอบได้" ทุกคนที่เข้ามาเปิด Account ของสื่อสังคมจีนต้องเชื่อมต่อกับเบอร์โทรศัพท์มือถือครับ (โดยเบอร์โทรศัพท์นั้นต้องมีการลงทะเบียนกับบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตอีกทีหนึ่ง) เรื่องนี้ผมมองว่าจีนค่อนข้างให้ความสำคัญกับการตรวจสอบแหล่งที่มา ความน่าเชื่อถือ และการระบุตัวตนครับ ประเทศจีนเป็นประเทศที่ใหญ่มีประชากรมาก เหตุผลนี้เป็นเรื่องของความมั่นคงของรัฐบาลและเสถียรภาพในการบริหารประเทศทางหนึ่งครับ"
ตั้งต้นปีนี้มีเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงสื่อมวลชนหลายเหตุการณ์ อย่างเช่นโศกนาฎกรรม ชาร์ลี เอปโด ที่ฝรั่งเศส และการเซ็นเซอร์ละครในจีนเอง ส่วนตัวแล้วเรามอง 2 เหตุการณ์นี้อย่างไร?
"กรณีของชาร์ลี เอปโด เป็นกรณีศึกษาที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมครับ เช่น กรณีเหตุระเบิดในลอนดอน 7 กรกฎาคม 2548 (7/7 London terror attacks) ซึ่งเกิดมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม ระบบการปกครอง และความเชื่อทางศาสนาที่ฝังรากลึกในสังคม ในมุมมองของนักเรียนคนหนึ่งซึ่งเคยอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งมีคุณค่าในการนำเสนอปมปัญหาความขัดแย้ง เช่นงานวิจัยของ Ibrahim Seaga Shaw นักวิชาการด้าน Human Rights Journalism ที่ได้อธิบายถึงการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม(Intercultural Communication) กับคตินิยมหรือการเหมารวมของสื่อ (Stereotype) ซึ่งมุมหนึ่งเขาได้อธิบายว่า สื่อเช่นหนังสือพิมพ์ที่ไร้จริยธรรมได้ทำหน้าที่ในการอบรมบ่มเพาะความเกลียดชังขึ้นในสังคม ซึ่งล่วงละเมิดศีลธรรมพื้นฐานและหน้าที่ของสื่อในการจรรโลง พัฒนาสังคม และสร้างสันติภาพ (Peace Journalism) กรณีศึกษาของเขาได้ประกอบสร้างความขัดแย้งขึ้นจากการผลิตข้อความดูถูก เหยียดหยามกับกลุ่มชาติพันธุ์ จนก่อให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นตามมา ส่วนตัวผมมองว่ากรณีศึกษานี้สะท้อนปมขัดแย้งกรณีชาร์ลี เอปโดได้เป็นอย่างดี ในมุมหนึ่งคือผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นสื่อได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามหลักจริยธรรมสากลแล้วหรือไม่ เช่นว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่ เป็นการกระทำที่บีบบังคับ ทำร้ายทางร่างกายและจิตใจผู้อื่นหรือเปล่า หรือจะเป็นการกระทำที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด"
"พื้นฐานของสังคมและวัฒนธรรมฝรั่งเศสเองอยู่บนฐานแนวคิดเสรีนิยมและชาตินิยมค่อนข้างสูง จุดนี้อาจเป็นแนวทางที่เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นของผู้คนอย่างเสรี (Freedom of Speech) แล้วคุณต้องลองคิดต่อไปว่า ชาร์ลี เอปโด และผู้ก่อการร้าย ละเลยหลักจริยธรรมสากลนั้นหรือไม่"
"ส่วนการเซ็นเซอร์สื่อนั้น มีในทุกประเทศครับ และเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันตลอดเพราะแต่ละคนต่างก็มีชุดความคิดกันคนละแบบ เสรีภาพในการคิดและแสดงออกของสื่อผ่านภาพ เสียง และเนื้อหาก็เป็นสิ่งสำคัญครับ แต่เราต้องคำนึงถึงการกระทำที่ต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา การจัดเรตติ้งภาพยนตร์ (Rating) ให้เหมาะกับผู้ชมเฉพาะกลุ่ม ตามช่วงอายุและเวลาฉาย ดูน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม"
มุมมองของนักนิเทศศาสตร์ ม.ชิงหวา กับวลีที่ว่า "ระบบสื่อจีนกับโลกปัจจุบัน"?
"โลกของเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาครับ เช่นเดียวกันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสู่สังคมโลกาภิวัตน์ (Globalization) การสื่อสารในปัจจุบันเรียกได้ว่าอยู่ในยุคไร้พรมแดน ทุกคนติดต่อกันข้ามโลกเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับระบบสื่อจีนที่ก็ต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกครับ สื่อจีนเช่น CCTV หรือ Xinhua เองภายใต้การบริหารของรัฐบาลจีน ก็มีความพยายามที่จะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปทั่วโลกครับ มีการจัดตั้งศูนย์ข่าวประจำภูมิภาครอบโลก นำเสนอข่าวสารและเผยแพร่วัฒนธรรมจีนให้ชาวต่างชาติและคนจีนในชุมชนต่างๆทั่วโลกได้รับรู้ข่าวสารคล้ายกับ CNN และ BBC ครับ มีการเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อกระแสหลักเข้ากับสื่อออนไลน์ และจัดตั้งศูนย์ข่าวในภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศมากกว่า 20 ภาษา อีกทั้งยังมีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาระบบสื่อของตนเองในการแข่งขันระดับโลกอย่างจริงจัง มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านนิเทศศาสตร์หลายแห่ง เช่น Fudan University, Renmin University, Communication University of China หรือมหาวิทยาลัยใหญ่ๆอย่างม.ปักกิ่งและชิงหวา ต่างเร่งเปิดศูนย์วิจัยด้านนิเทศศาสตร์เพิ่มมากขึ้นครับ มีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนางานวิจัยร่วมกัน อย่างชิงหวาเองก็เปิดศูนย์วิจัยด้านนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยถึง 13 ศูนย์วิจัย เช่น Tsinghua-Epstein Center for Global Media and Communication ที่ผมทำงานวิจัยอยู่ก็มีการจัดกิจกรรมวิชาการกับทางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น Medill, Westminster, Indiana และได้รับการอัดฉีดงบประมาณจากรัฐบาลจีนในการทำงานวิจัยอีกหลายโครงการ ผมมองว่าจีนตอนนี้เร่งพัฒนากลยุทธ์การทูตสาธารณะ (Public Diplomacy) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายต่างประเทศที่จีนเองผลักดันในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี (National Image) ของตนเองไปทั่วโลก เราจะเห็นได้จากความยิ่งใหญ่ผ่านการจัดกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งเมื่อหลายปีที่ผ่านมา หรือโอลิมปิกเยาวชนในปี 2014 ซึ่งสะท้อนเรื่องระบบการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Communication) รวมถึงการร่วมมือกันพัฒนาชาติที่น่าชื่นชมครับ"
ศิษย์จะได้ดี ก็เพราะมีครูที่ีมีคุณภาพ จากการพูดคุยในวันนี้ ทั้งมุมมอง ความตั้งใจจริงและประสบการณ์ที่ทำเพื่อพัฒนาวงการการศึกษาไทยมาโดยตลอด เราคงไม่ต้องสงสัยในตัวว่าที่นักวิชาการหนุ่มผู้นี้ ที่จะได้กลับไปสร้างเมล็ดพันธุ์ดี ๆ ให้บ้านเรานะครับ
คุณผู้อ่านครับ ท่ามกลางการแข่งขันของเทคโนโลยีและสินค้าโทรคมนาคมที่ดุเดือดขึ้นทุกวัน จีนเองก็ร่วมรบกับเขาด้วยนะครับ ล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วก็มีการจัดอันดับยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนซึ่งผลเป็นที่น่าตกใจมาก ๆ เพราะมีแบรนด์จีนเข้าไปติดอันดับโลกถึง 3 อันดับ จาก 5 อันดับ หนึ่งในนั้นก็คือ "หัวเว่ย" ทำไมแบรนด์สินค้าสัญชาติจีนแบรนด์นี้ถึงผงาดขึ้นไปสู้ในระดับอินเตอร์ได้ ภายในองค์กรเขามีวิธีการทำงานอย่างไร เพราะอะไรถึงตอบโจทย์โดนใจผู้ซื้อ ติดตามอ่านกันได้กับบทสัมภาษณ์ของคนไทยที่ได้เข้าไปทำงานในบริษัทแห่งนี้กันครับ
กาสะลองส่องจีน ตอน 7.1 : "คนไทย" กับการทำงานในบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน "หัวเว่ย" : ภัทรวุฒิ ปรีชาสุชาติ