ช่วงการประชุมสองสภาปีนี้ เศรษฐกิจจีนเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากชาวโลกอย่างมาก นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนรายงานผลการดำเนินงานและแถลงแผนนโยบายการดำเนินงานประจำปีต่อที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนว่า ปีนี้ จะเป็นปีแห่งความยากลำบากของเศรษฐกิจจีน พร้อมกับตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 7% ลดลงจาก 7.5% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเติบโตจริง 7.4% รวมทั้งคาดการณ์ดัชนีผู้บริโภค ไว้ที่ 3% และอัตราว่างงาน 4.5%
นายหลี่ เค่อเฉียงกล่าวด้วยว่า ปีที่แล้ว จีนเผชิญกับปัญหาทั้งยอดการลงทุนชะลอลง ความต้องการของผู้บริโภคลดลงอย่างมาก ค่าแรงสูงขึ้น รูปแบบการเติบโตยังไม่มีประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐานในชนบทยังด้อย และปัญหามลพิษ
อย่างไรก็ตาม นายหลี่ เค่อเฉียง ยังคงมั่นใจต่อศักยภาพของเศรษฐกิจจีน และกล่าวว่า อัตราการเติบโตในขณะนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะสร้างสังคมที่มั่งคั่งพอประมาณ และรายงานของรัฐบาลที่เสนอต่อที่ประชุมตอกย้ำถึงเป้าหมายที่จะคงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับกลางถึงระดับสูง และส่งเสริมการพัฒนาให้อยู่ในระดับกลางถึงระดับสูง
อย่างไรก็ตาม สถิติล่าสุดปรากฏว่า ปีที่แล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนขยายตัว 7.4% นี่แสดงให้เห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวต่อไป คนส่วนหนึ่งจึงกังวลว่า เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงขาลงหรือไม่ ต่อการนี้ ศาสตราจารย์หลิน อี้ฟู มหาวิทยาลัยปักกิ่งแสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจจีนยังคงมีศักยภาพอย่างมาก เพียงปฏิบัติตามมาตรการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ จีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ คือให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับกลาง ถึงระดับสูง อีกทั้งให้มีคุณภาพของเศรษฐกิจอยู่ในระดับกลาง ถึงระดับสูงด้วย
ศาสตราจารย์หลิน อี้ฟู กล่าวว่า ต้องพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจจีนในขณะนี้ตามสภาพความเป็นจริง วิเคราะห์ถึงสาเหตุทั้งภายในและภายนอกที่ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัว
หากเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูงกว่า 9% การขยายตัวที่อยู่ในระดับ 7.4% นับว่าชะลอตัวลงในระดับหนึ่งจริง แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ภาคการผลิตระดับสูง และธุรกิจภาคบริการที่ทันสมัยของจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก การบริโภคมีบทบาทค่อนข้างสูงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจมีคุณภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทำให้สามารถสรุปได้ว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจจีนยังคงอยู่ในภาวะที่ดี และมีจุดแข็งไม่น้อยทีเดียว
ศาสตราจารย์หลิน อี้ฟู กล่าวว่า การหาสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวนั้น ต้องพูดถึงระบบและกลไกการบริหารประเทศบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจริง แต่สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เศรษกิจจีนชะลอตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ ปัจจัยจากภายนอก
จากสถิติล่าสุด หลังปี 2010 ประเทศที่เศรษฐกิจตกต่ำไม่เฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น ประเทศที่เศรษฐกิจเคยเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วหลายประเทศก็เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเช่นกัน เช่น เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2010 โตถึง 6.3% แต่พอมาถึงปี 2013 โตเพียง 2.8% เท่านั้น เศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 2010 ขยายตัวถึง 14.8% แต่พอมาถึงปี 2013 ขยายตัวเพียง 3.7% เท่านั้น จะเห็นได้ชัดว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มตกต่ำเช่นเดียวกัน และปัจจัยภายนอกเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ชะลอตัวลง
ปัจจุบัน เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปยังคงมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของโลก จนถึงขณะนี้ ประเทศเหล่านี้ยังไม่สามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินที่ปะทุขึ้นเมื่อปี 2008 ได้เต็มที่ แรงกดดันที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงต่อไปจึงยังคงมีมาก เมื่อปี 2014 เศรษฐกิจจีนขยายตัว 7.4% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 0.1% ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นขยายตัวเพียง 2.4% 0.8% และ 0.2% ต่ำกว่าที่ธนานคารโลกคาดการณ์ไว้ที่ 2.8 % 1.1% และ1.4% ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ จีนในฐานะประเทศที่มีการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่สุดในโลก จึงต้องเผชิญกับปัญหาการส่งออกอย่างมาก และการขยายตัวของเศรษฐกิจต้องช้าลงไปบ้าง
ศาสตราจารย์หลิน อี้ฟู กล่าวว่า จีนต้องลงลึกปฏิรูปทุกด้าน และใช้มาตรการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตในระดับกลาง ถึงระดับสูงอย่างมั่นคงและยั่งยืน ศาสตราจารย์หลิน อี้ฟูเห็นว่า การให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในระดับกลางถึงระดับสูงนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะว่า หากเศรษฐกิจเติบโตในระดับที่ต่ำเกินไป การลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างจีนกับประเทศพัฒนาก็จะต้องใช้เวลามากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายที่ที่ประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสตร์จีนครั้งที่ 18 เสนอด้วย คือ ภายในปี 2020 จะให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และรายได้เฉลี่ยต่อคนของประชาชนในเมืองและชนบทเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าเมื่อเทียบกับปี 2010 และยังจะส่งผลกระทบต่อการสร้างงานด้วย