ภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์จีน (1)
  2014-12-31 13:06:35  cri

ภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์จีนเริ่มปรากฎในจีนตั้งแต่ทศวรรษปี 1950 ทำให้ชาวจีนจำนวนมากในสมัยนั้นเริ่มมีโอกาสสัมผัสกับวัฒนธรรมต่างประเทศ หลังจากนั้นเป็นเวลาหลายสิบปี ภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์จีนได้รับความนิยมจากชาวจีนอย่างมาก แต่หลายปีมานี้ ดูเหมือนว่า ภาพยนตร์รูปแบบนี้ได้รับความสนใจจากชาวจีนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่า ผู้ชมจำนวนมากในยุคนี้ไม่ต้องการภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์จีนอีกแล้ว เพราะคนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เยาวชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี

จากบันทึกในประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์พากย์จีนเรื่องแรกที่ฉายในโรงภาพยนตร์ในจีนคือ แฮมเล็ต ที่ดัดแปลงจากบทละครแนวโศกนาฏกรรมของวิลเลียม เชกสเปียร์ ช่วงที่มีการฉายหนังเรื่องนี้ ผู้คนเบียดเสียดแย่งกันซื้อบัตรเข้าชม จนเต็มทุกรอบทุกวัน จากหนังเรื่องนี้ ชาวจีนจำนวนมากรู้จักและชื่นชอบงานเขียนของวิลเลียม เชกสเปียร์

สำหรับหนุ่มๆ สาวๆ ยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่คงไม่ค่อยคุ้นเคยกับภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์จีนในช่วงทศวรรษ 1970-1980 แต่สำหรับวัยกลางคน และผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จำภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์จีนชื่อดังๆ ในสมัยนั้นได้แม่น และทุกครั้งที่พูดถึงภาพยนต์เหล่านั้น มักจะนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาในยุคสมัยที่พวกเขายังเป็นหนุ่มเป็นสาว

นางหลี่ ฉือ วัย 55 ปีกล่าวว่า ภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์จีนเรื่องแรกที่เธอไปชมเป็นภาพยนตร์ของอดีตสหภาพโซเวียต เพราะว่าช่วงเวลานั้น ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตมีความสนิทแน่นแฟ้นมาก ด้วยเหตุนี้ ภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์จีนส่วนใหญ่จึงนำเข้าจากอดีตสหภาพโซเวียต หลังต้นทศวรรษ 1970 ภาพยนตร์พากย์จีนเริ่มมีความหลากหลายขึ้น มีทั้งภาพยนตร์ที่นำเข้าจากประเทศยุโรปตะวันออก ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ผู้ชมบางกลุ่มเมื่อเจอภาพยนตร์ที่ชอบ มักจะไปชมหลายๆ รอบ บางคนถึงขนาดจำบทสนทนาของพระเอก และนางเอกได้ แต่ก่อน นักพากย์จีนมาจากสองที่เท่านั้น คือโรงถ่ายภาพยนตร์เซี่ยงไฮ้ และโรงถ่ายภาพยนตร์ฉางชุน นักพากย์ทุกคนเป็นมืออาชีพหมด กว่าจะมาเป็นนักพากย์ พวกเขาต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นมาเป็นเวลาหลายปี เสียงของนักพากย์แทบทุคคนมีเสน่ห์ จึงได้รับความชื่นชอบจากผู้ชมภาพยนตร์อย่างมาก

นายถง จื้อหรง เป็นหนึ่งในนักพากย์ที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างมาก เมื่อปี 1975 เขาพากย์เสียงพระเอกในภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่องโซโล เสียงพากย์ของเขาทรงพลัง มีอรรถรส และเป็นธรรมชาติ ผู้ชมจำนวนมากเห็นว่า เสียงพากย์ของนายถง จื้อหรงดีกว่าเสียงของพระเอกต้นฉบับด้วยซ้ำ จากการพากย์ภาพยนต์เรื่องดังกล่าว นายถง จื้อหรง ได้รับการยกย่องว่า เป็นนักพากย์ยอดเยี่ยมของจีน

นายถง จื้อหรงกล่าวว่า ทุกครั้งที่รับงานพากย์ภาพยนตร์ เขาจะต้องศึกษาตัวละครก่อน เพื่อทำความเข้าใจว่า ตัวละครตัวนั้นมีนิสัยเป็นอย่างไร มีอารมณ์ความรู้สึกเป็นอย่างไรในแต่ละฉาก หลังจากนั้น จะต้องท่องจำบทสนทนาของตัวละครให้ได้ และพยายามสร้างอารมณ์ความรู้สึกให้ใกล้เคียงกับตัวละครในแต่ละฉากให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หลังเสร็จสิ้นการเตรียมการดังกล่าว จึงมีความมั่นใจว่า พร้อมที่จะพากย์แล้ว

นางหลิว กว่างหนิง ผู้ได้รับรางวัลนักพากย์หญิงยอดเยี่ยมของจีนแสดงความเห็นว่า การพากย์ภาพยนตร์ต่างประเทศเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง การแปลบทสนทนาของตัวละครต้องตรงกับต้นฉบับ ส่วนการพากย์นั้นต้องใช้ภาษาจีนกลางที่ถูกต้องตามมาตรฐาน นอกจากนี้ การพากย์แต่ละคำแต่ละประโยคต้องเป็นธรรมชาติ เข้ากับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในฉากนั้นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว การพากย์ภาพยนตร์ต่างประเทศต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม ไม่ใช่เพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ก่อนอื่น ต้องมีการแปลบทสนทนาของตัวละครแต่ละตัว และเตรียมการอื่นๆ อีกมากมาย หลังจากนั้น นักพากย์ต้องประสานกับฝ่ายเทคนิค เพื่อทำให้งานที่ออกมามีคุณภาพมากที่สุด ผู้ชมภาพยนตร์ส่วนใหญ่อาจเข้าใจผิดว่า เสียงพากย์ภาพยนตร์นั้นเป็นผลงานของนักพากย์คนเดียว แต่จริงๆ แล้ว เป็นผลงานของทีมต่างหาก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการทำงานอย่างเอาจริงเอาจังของนักพากย์จีน ทำให้ผู้ชมภาพยนตร์จีนมีโอกาสชมภาพยนตร์ต่างประเทศที่มีชื่อเสียงจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยไม่มีอุปสรรคทางด้านภาษา เช่น ภาพยนตร์สหรัฐอเมริกา เรื่อง "Waterloo Bridge"หรือ " สะพานวอเตอร์ลู" ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จงดงามเรื่องรายได้ และถูกเสนอชิงรางวัลออสการ์ใน 2 สาขา คือ เพลงประกอบยอดเยี่ยมและถ่ายภาพยอดเยี่ยม ภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากเป็นภาพยนตร์ดังในอเมริกา แล้วยังเข้ามาดังในประเทศจีนในทศวรรษปี 1960 ด้วย โดยมีการพากย์จีน และถูกดัดแปลงเป็นโอเปร่าจีนด้วย เพลงประกอบในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ดังมากในจีน ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์อมตะ ได้รับความนิยมยาวนานหลายทศวรรษ จนในช่วงปี 1980 ก็ยังมีให้ชมกันในโรงภาพยนตร์ดังๆของจีน

อย่างไรก็ตาม ปีหลังๆ นี้ ภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์จีนได้รับความสนใจจากผู้ชมลดลงอย่างเห็นได้ชัด นักวิเคราะห์เห็นว่า ระยะหลังๆ นี้ รัฐบาลจีนได้เปิดประเทศให้กว้างยิ่งขึ้นต่อไป ชาวจีนมีช่องทางและโอกาสในการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น บรรดาหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่ในเมืองขนาดใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว ส่วนใหญ่เรียนภาษาอังกฤษมาแล้ว เวลาชมภาพยนตร์ต่างประเทศ คนเหล่านี้เข้าใจบทสนทนาของตัวละครได้อย่างสบาย โดยไม่จำเป็นต้องมีการพากย์จีน หรือใส่ซับไตเติล จึงนิยมชมภาพยนตร์ต่างประเทศเสียงในฟิล์มจากต้นฉบับมากกว่าภาพยนตร์พากย์จีน เพราะส่วนใหญ่เห็นว่าต้นฉบับเป็นธรรมชาติและน่าตื่นเต้นกว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ คนในแวดวงการพากย์จึงรู้สึกกังวลว่า ในวันข้างหน้า มีความเป็นไปได้ที่ภาพยนตร์ต่างประะเทศพากย์จีนจะสูญหายจากตลาดจีน แต่นายซุน อี้ว์เฟิง ผู้ที่เคยกำกับการพากย์ภาพยนตร์ต่างประเทศกว่า 300 เรื่องแสดงความมั่นใจว่า ภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์จีนจะไม่สูญหายจากตลาดจีน เพราะว่าจีนมีพื้นที่ชนบทกว้างใหญ่ไพศาล มีเมืองขนาดเล็กอีกจำนวนมาก ถึงแม้ว่าบรรดาหนุ่มสาวในเมืองขนาดใหญ่ส่วนใหญ่จะไม่ต้องการภาพยนตร์พากย์จีนอีก แต่สำหรับผู้ชมที่อาศัยอยู่ในชนบทหรือเมืองขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ยังต้องการ สิ่งที่เราต้องทำในปัจจุบันคือ ยกระดับคุณภาพของภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์จีนให้สูงขึ้น และเร่งอบรมบ่มเพาะนักพากย์รุ่นใหม่ เชื่อมั่นว่า นักพากย์และบุคลากรรุ่นใหม่ในแวดวงนี้จะสร้างผลงานที่มีคุณภาพสูงกว่าคนรุ่นเก่า

สื่อมวลชนรายงานว่า เมื่อปี 2011 โรงถ่ายภาพยนตร์เซี่ยงไฮ้ได้ก่อตั้งสถาบันฝึกอบรมนักพากย์ โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตนักพากย์มืออาชีพออกสู่ตลาดเป็นประจำทุกปี และทำให้ธุรกิจภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์จีนเจริญเติบโตขึ้นอีกครั้ง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040