ช่วงนี้เรามาทบทวนความเป็นมาและภารกิจของเอเปคครับ เอเปค (APEC)หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation-APEC) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตอนแรก เอเปคมีสมาชิก 12 ราย ต่อมาเอเปคได้รับสมาชิกเพิ่ม ขณะนี้มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ
เมื่อปี 1989 การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เพื่อจัดตั้งกลุ่มหารือในกรอบความร่วมมือเอเปค ประกอบด้วยสมาชิกเริ่มแรก 12 ราย ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ดารุสซาลาม แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และสหรัฐอเมริกา ที่ประชุมเล็งเห็นความสำคัญของการมีเวทีหารือด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคและตกลง ให้มีการหารือเป็นประจำทุกปี
การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ของ เอเปคจัดที่สิงคโปร์ ในปี 1990 เพื่อหารือถึงรูปแบบขององค์กรเอเปคอย่างเป็นทางการ ที่ประชุมเห็นว่า เอเปคควรเป็นเวทีสำหรับการหารืออย่างกว้างๆ มากกว่าเวทีเพื่อการเจรจา และการดำเนินการต่างๆ ของเอเปคควรยึดถือหลักการฉันทามติ ความสมัครใจของทุกฝ่าย ความเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก โดยคำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจและสังคม และระดับการพัฒนาของสมาชิก
การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 3 จัดที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อปี 1991 ได้กําหนดเป้าหมายเพื่อธำรงไว้ซึ่งการเจริญเติบโตและการพัฒนาในภูมิภาค ส่งเสริมประโยชน์จากการขยายตัวของการค้าสินค้าและบริการ รวมทั้งการไหลเวียนของทุนและเทคโนโลยี พัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบ การค้าพหุภาคี และลดอุปสรรคทางการค้าสินค้าและบริการระหว่างสมาชิกโดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจอื่นๆ
การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 4 ของเอเปคจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 1992 โดยมีการออกแถลงการณ์ประกาศจัดตั้งสำนักเลขาธิการเอเปคขึ้นที่สิงคโปร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของการประชุมและดำเนินการประสานงานในเรื่องต่างๆ ในกรอบความร่วมมือของเอเปค อันนับเป็นก้าวแรกของการสร้างกลไกเพื่อติดตามให้มีความต่อเนื่องในกิจกรรม ความร่วมมือต่างๆ ของเอเปค อย่างถาวร
ต่อมาในปี 1993 มีการยกระดับความสำคัญของกรอบความร่วมมือเอเปคไปสู่ระดับผู้นำ โดยนอกเหนือจากการประชุมระดับรัฐมนตรี เอเปคประจำปีแล้ว ยังมีการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปคครั้งแรกที่เมืองซีแอตเติ้ล สหรัฐฯ โดยมีการออกแถลงการณ์ว่าด้วยวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจของผู้นำเอเปค ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การมีประชาคมเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการค้าและการลงทุนเสรี นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในลักษณะที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวม และการมีระบบการค้าพหุภาคีแบบเปิด
เมื่อปีที่แล้ว การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 21 จัดที่เกาะบาลี ประเทศอินโดนีเซีย ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายโบกอร์และการสนับสนุนการค้าพหุภาคี โดยผู้นำที่ร่วมประชุมเรียกร้องให้การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 9 ได้ข้อสรุปในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า ประเด็นด้านการพัฒนา และสินค้าเกษตรบางประเด็น นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคยังได้หารือถึงการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียม และการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค
เอเปคเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีพลังของการเจริญเติบโตสูงสุดของโลก กลุ่มสมาชิกเอเปคมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ รวมกันกว่า 19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของโลก มีสัดส่วนการค้ากว่าร้อยละ 41 ของมูลค่าการค้าโลก เอเปคสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแบบเปิดกว้าง โดยสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกเอเปคให้แก่กันจะมีผลให้ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกเอเปค ได้รับประโยชน์ด้วย เอเปคมีเป้าหมายสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี โดยการดำเนินการของเอเปคจะเป็นการหารืออย่างตรงไปตรงมา ยึดหลักการฉันทามติ และความสมัครใจ ของ ทุกฝ่าย ความเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก โดยคำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจและสังคม และระดับการพัฒนาของสมาชิก
เป้าหมายของเอเปคคือ เป้าหมายโบกอร์ที่สมาชิกเอเปคเห็นชอบในระหว่างการประชุมผู้นำเอเปคที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี 1994 ที่จะให้มีการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก โดยเริ่มจากสมาชิกที่พัฒนาแล้วภายในปี 2010 และสมาชิกกำลังพัฒนาที่เหลือภายในปี 2020
สมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ จะผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค โดยปักกิ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเปคปีนี้ และได้กำหนดหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคในปีนี้ว่า "ร่วมสร้างอนาคตแห่งความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนในเอเชีย-แปซิฟิก" ผู้นำที่ร่วมประชุมจะเน้นพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก เราจะติดตามความคืบหน้าของการประชุม และนำเสนอข้อมูลใหม่แก่ท่านผู้ฟังทุกท่าน