ชาวจีนที่อพยพเข้ามาในไทยยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมการกุศลด้วย กิจกรรมการกุศลของชาวจีนครั้งแรกมีขึ้นในพ.ศ. 2446
โดยชาวจีนจำนวนหนึ่งได้ระดมเงินสร้างโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยชาวจีน ต่อมา ในพ.ศ. 2452 พ่อค้าชาวจีน 12 คนก่อตั้งมูลนิธิปอเต็กตึ๊งขึ้น โดยมีเป้าประสงค์ในเบื้องแรก เพื่อเป็นสวัสดิการแก่สาธารณะ โดยจัดพิธีฌาปนกิจแก่ผู้เสียชีวิตที่ไร้ญาติ ต่อมามูลนิธิแห่งนี้ขยายบทบาทไปสู่การจัดหาที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคให้ผู้ยากจนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ รวมไปถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติและผู้ประสบอุบัติเหตุด้วย ปัจจุบัน องค์กรทั้งสองแห่งนี้ยังคงมีบทบาทสำคัญในสังคมไทย
ชาวจีนที่อพยพเข้ามาในไทย ได้จัดตั้งชุมชนชาวจีนจากเกณฑ์สำคัญสี่ประการคือ ภาษาถิ่น สาขาอาชีพ นามสกุล และกิจกรรมการกุศลเพื่อสังคม นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งสมาคมชาวจีนต่างๆ เป็นจำนวนมากด้วย
สมาคมชาวจีนที่ก่อตั้งขึ้นบนพื้นฐานของภาษาถิ่นมีหลายสมาคม เช่น สมาคมแต้จิ๋ว สมาคมไหหลำ สมาคมฮกเกี้ยน สมาคมฮากกา ส่วนสมาคมที่จัดตั้งขึ้นบนพื้นฐานของนามสกุลก็มีหลายสมาคมเช่นกัน ซึ่งมีขึ้นเพื่อกระชับความผูกพันในหมู่สมาชิกให้มากขึ้น เพิ่มโอกาสในการสร้างเครือข่ายญาติมิตร ปัจจุบัน ในประเทศไทย มีสมาคมที่ตั้งขึ้นจากนามสกุลจีนกว่า 60 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งสมาคมการค้าชาวจีนที่ประกอบด้วยนักธุรกิจสาขาอาชีพต่างๆ ด้วย สมาคมการค้ามีบทบาทเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ช่วยให้สมาชิกหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันโดยไม่จำเป็น มีหน้าที่ประสานติดต่อกับรัฐบาลในด้านนโยบาย และช่วยแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของชาวจีน ทั้งนี้สมาคมการค้าชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดและมีบทบาทมากที่สุดในประเทศไทยคือ หอการค้าไทย-จีน
หอการค้าไทย-จีนจัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2453 ช่วงนั้น เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะถดถอย พ่อค้าชาวจีนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ นำมาซึ่งความขัดแย้งทางธุรกิจต่างๆ นานามากขึ้น หอการค้าไทย-จีนได้ยื่นมือเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยยุติปัญหา สื่อสารกับคู่เจรจาทางการค้าต่างชาติ หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนบทบาทไปเป็นสถาบันสำคัญทำหน้าที่รักษาสิทธิประโยชน์ของนักธุรกิจชาวจีน อีกทั้งยังช่วยเหลือพ่อค้าชาวจีนที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อบังคับและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สำคัญของไทย
หอการค้าไทย-จีน ไม่เพียงแต่มีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหาทางการค้าเท่านั้น หากยังทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมสัมพันธภาพระหว่างประชาชนจีนและไทยอย่างไม่เป็นทางการด้วย เพราะก่อนพ.ศ. 2518 สองฝ่ายยังไม่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างปฏิบัติภารกิจดังกล่าว หอการค้าไทย-จีนยึดมั่นในหลักการแห่งการเคารพ เทิดทูนราชวงศ์ไทยอย่างสูงสุด ปฏิบัติตามกฎหมายในท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด ทำให้บทบาทของหอการค้าไทย-จีนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากสังคมไทย
ในพ.ศ. 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับเลือกตั้งเป็น นายกรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายจะพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้นในวันที่ 30 มิถุนายน ม.ร.ว.
คึกฤทธิ์จึงนำคณะผู้แทนเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง เพื่อเยือนจีนอย่างเป็นทางการ โดยเข้าพบประธานเหมา เจ๋อตงในวันรุ่งขึ้น ค่ำวันเดียวกัน คณะผู้แทนก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก ฯพณฯ โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นแม้จะยังอยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ก็ได้ออกมาต้อนรับคณะผู้แทนไทยด้วยตนเอง อีกทั้งเป็นประธานในพิธีลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย
ต่อมา ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2521 ทั้งสองประเทศได้ลงนามในข้อตกลงทางการค้า หลังจากนั้นไม่นาน ก็จัดตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าให้เพิ่มมากขึ้น
หลังสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในด้านต่างๆ พัฒนาอย่างรวดเร็ว เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2528 ประธานาธิบดี หลี่ เซียนเนี่ยน ของจีนได้เดินทางไปเยือนประเทศไทยพร้อมลงนามข้อตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การค้าทวิภาคีขยายตัวมากขึ้น หลังจากนั้น ไทยและจีนได้ร่วมกันริเริ่มความร่วมมือพหุภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าของอาเซียน หรือเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน
ขณะเดียวกัน ผู้นำของทั้งสองประเทศมีการไปมาหาสู่กันบ่อยขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ. 2524 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์พระองค์แรกที่เสด็จเยือนประเทศจีน และเสด็จมาอีกหลายต่อหลายครั้งในภายหลัง อีกทั้งทรงเชี่ยวชาญภาษาจีนเป็นอย่างยิ่ง ทรงได้รับคัดเลือกและให้เป็น 1 ใน 10 ของมิตรชาวต่างชาติ ที่ชาวจีนชื่นชอบในพ.ศ. 2552
ต่อมาก็มีสมาชิกพระราชวงศ์พระองค์อื่นๆ เสด็จเยือนจีนเช่นกัน เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนจีนในพ.ศ. 2528 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเยือน0uoในพ.ศ. 2530
ส่วนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนจีนในพ.ศ. 2531 แล้วยังได้เสด็จมาอีกหลายครั้งในปีต่อๆมา ทรงเป็นสมาชิกพระราชวงศ์พระองค์แรกของโลกที่สามารถทรงเครื่องดนตรีโบราณในราชสำนักจีน "กู่เจิ้ง" ของจีนได้เป็นอย่างดี ล่าสุด ทรงได้รับการถวายตำแหน่งเป็นทูตวัฒนธรรมของจีนเพื่อเผยแพร่ กู่เจิ้งให้ทั่วโลกรู้จัก อีกทั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ของไทย ได้ร่วมมือกับ กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน จัดการแสดงคอนเสิร์ต "สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน" เชื่อมมิตรภาพของไทยจีน เป็นประจำ โดยไทย-จีนสลับกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งปีพ.ศ. 2556 ที่ผ่านมาจัดในประเทศจีน นับเป็นครั้งที่ 6 แล้ว
การเสด็จฯเยือนจีน ครั้งที่สำคัญที่สุดคือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯมาในฐานะผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 16-31 ตุลาคม พ.ศ. 2543 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ ไทย-จีน ยิ่งทำให้มิตรภาพระหว่างกันที่มีอยู่แล้วลึกซึ้งและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ในช่วงเวลา 38 ปี นับตั้งแต่ทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์
ทางการทูตเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ทุกๆด้าน พัฒนาอย่างมั่นคงและราบรื่นมาโดยตลอด
ปัจจุบัน ชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ จะกลายเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ลูกหลานชาวจีนส่วนใหญ่ไม่ได้พูดภาษาจีนกับพ่อแม่ อากงอาม่า และญาติพี่น้อง เพราะพูดไม่เป็น ไม่ได้เรียน บางส่วนอาจมีการสื่อสารด้วยภาษาจีนในครอบครัวอีกต่อไป อาจพอฟังเข้าใจ แต่การเขียนและการอ่านนั้นคงเป็นไปได้ยากเต็มที
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงอยู่และสืบทอดในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนแทบทุกครอบครัวก็คือ วัฒนธรรมประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติ โดยเฉพาะประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิต เทพเจ้า และบรรพบุรุษ ลูกหลานชาวจีนส่วนใหญ่ยังมีคติความเชื่อและการปฏิบัติตัวตามขนบธรรมเนียมจีนที่สอนสั่งกันมาในครัวเรือน แม้หลายต่อหลายครั้งจะไม่ทราบความหมายหรืออธิบายถ่ายถอดสัญลักษณ์ต่างๆ ได้ไม่มากนัก ก็ยังยินดีจะปฏิบัติตาม
(NUNE/cai)