ขณะนี้ การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนชุดที่ 12 ครั้ง ที่ 2 กำลังจัดขึ้นที่มหาศาลาประชาคมในกรุงปักกิ่ง โดยเปิดฉากเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา จะจัดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน มีตัวแทนจากทั่วประเทศเดินทางมาเข้าร่วมทั้งหมดประมาณ 3,000 คน
หลายวันมานี้ สื่อมวลชน และบุคคลในแวดวงต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศพากันแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายต่อรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมา และแนวทางพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแถลงต่อที่ประชุม สภาดังกล่าว โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดมี 4 ประการดังนี้ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างหลักประกันทางสังคมแก่ประชาชน การทำสงครามกับมลพิษ และการต่อต้านปัญหาคอรัปชั่น
นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า จีนจำเป็นต้องเดินหน้าปฏิรูป ส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว แม้จะเผชิญหน้ากับแรงกดดันมหาศาลจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน สถานการณ์ต่างๆที่จีนต้องประสบในปีนี้มีความซับซ้อน มีปัจจัยทั้งบวกและลบมากมาย นอกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอนแล้ว การปรับเปลี่ยนนโยบายของบางประเทศ ยังก่อให้เกิดตัวแปรใหม่ๆ ขณะที่เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ก็กำลังเผชิญกับความยากลำบาก และความท้าทายต่างๆ
ในส่วนของจีนเอง ปัญหาต่างๆที่ยืดเยื้อมานาน กำลังมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ แต่นายหลี่ เค่อเฉียง มั่นใจว่า จีนมีศักยภาพขยายตัวในระดับปานกลาง หรือแม้กระทั่งระดับสูงในอนาคต เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมและเขตเมืองยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และพื้นที่ต่างๆของประเทศมีศักยภาพในการพัฒนาอย่างมาก
ด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ จีนยังคงกำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีไว้ที่ 7.5% เท่ากับสองปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืนมากขึ้น
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคจะให้คงไว้ที่ 3.5% รวมทั้งจะสร้างงานในเมืองอีก 10 ล้านตำแหน่ง ควบคุมอัตราว่างงานในเขตเมืองไม่ให้เกิน 4.6% และจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน
ด้านนโยบายการคลังและการเงินในปีนี้ จีนจะยังคงดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุกและนโยบายการเงินที่ระมัดระวัง ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M2 หรือปริมาณเงินตามความหมายกว้างจะขยายตัวประมาณ 13%
นักวิเคราะห์ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศส่วนใหญ่เห็นว่า จากรายงานดังกล่าวพบว่า จีนมีความตั้งใจจริงที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจ และปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง ปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตราประมาณ 7.5% นักเศรษฐศาสตร์หลายๆ คนแสดงความเห็นว่า รัฐบาลจีนต้องสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในขณะนี้ ลดการพึ่งพาการส่งออก แล้วหันไปกระตุ้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทขนาดย่อมและขนาดกลาง กลไกการตลาดจะมีบทบาทมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจจีน
การปฏิรูปโครงสร้างรัฐวิสาหกิจจีนเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ต้องให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในรัฐวิสาหกิจได้ กำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้รัฐวิสาหกิจมีความโปร่งใสมากขึ้น
รัฐบาลอาจต้องผ่อนคลาย หรือถอนตัวออกจากการครอบครองธุรกิจบางประเภท แล้วให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องยกเลิกมาตรการบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจจีนมีความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลกมากขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
นักวิเคระห์ส่วนใหญ่ยังชื่นชมทางการจีนที่ได้ออกมาตรการกำกับธุรกิจการเงินนอกระบบธนาคารพาณิชย์ หรือที่เรียกกันว่า "ธนาคารเงา" ที่ประเมินกันว่า อาจมีขนาดใหญ่ถึง 36 ล้านล้านหยวน หรือประมาณร้อยละ 69 ของจีดีพีของจีน ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมามีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้ทางการจีนสามารถติดตาม ตรวจสอบ และกำกับธุรกรรมทางการเงินดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมา ธุรกรรมนอกระบบธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว มักจะมีความไม่ชัดเจน ยากต่อการตรวจสอบ โดยเฉพาะในประเด็นความเสี่ยงต่อเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ที่อาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะคนกลางในการจัดทำธุรกรรมการเงินนอกระบบแบงก์ดังกล่าว
เหตุผลที่ธนาคารพาณิชย์เข้าไปจัดธุรกรรมนอกระบบแบงก์ หรือธนาคารเงา ส่วนหนึ่งเพื่อที่จะหลบเลี่ยงการกำกับควบคุมของทางการทั้งด้านการปล่อยสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ยังได้รับประโยชน์ในรูปของค่าธรรมเนียมการจัดการ เช่น การเป็นคนกลางและการค้ำประกัน
นอกจากนี้ ธุรกรรมนอกระบบดังกล่าว บางส่วนไม่ได้บันทึกในบัญชีของธนาคารโดยตรง ทำให้ดูเหมือนว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะความมั่นคงของธนาคารแต่อย่างใด
ธนาคารเงาดังกล่าว มีทั้งฝั่งการปล่อยกู้และการระดมเงินออม โดยในด้านการระดมเงินออมนั้น รูปแบบที่เป็นที่นิยมได้แก่ ผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่ง โดยเสนอให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์
ล่าสุด รัฐบาลจีนได้ออกกฎ เพื่อจัดระเบียบใหม่ และกำกับดูแลการระดมเงินออมดังกล่าวให้เข้มงวดมากขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าว จะต้องแยกหน่วยงานนี้ออกมาให้ชัดเจน รวมถึงมีมาตรการรองรับการบริหารความเสี่ยงด้วย