เมื่อไม่นานมานี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก้ได้ลงมติให้ขึ้นทะเบียน "เส้นทางสายไหม" (The Silk Road) เป็นมรดกโลก โดยเส้นทางสายนี้มีระยะทางยาวประมาณ 14,000 กิโลเมตร เป็นเส้นทางสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางการค้าและวัฒนธรรมระหว่างเอเชียและยุโรป ซึ่งมีประวัติศาสตร์กว่า 2,000 ปี นักวิชาการของจีนกล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ จีน คาซัคสถาน และคีร์กีสถานได้เตรียมการวางแผนอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุบน "เส้นทางสายไหม" อย่างจริงจัง เพื่อร่วมกันยื่นขอขึ้นทะเบียน "เส้นทางสายไหม" เป็นมรดกโลก และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ
นายเหมียว เฉียง นักประวัติศาสตร์ หัวหน้าบรรณาธิการสำนักพิมพ์การสอนและวิจัยภาษาต่างประเทศแห่งประเทศจีนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า จริงๆ แล้ว หลายปีก่อน จีนก็มีแผนที่จะยื่นขอขึ้นทะเบียน "เส้นทางสายไหม" เป็นมรดกโลกแล้ว เมื่อปี 1979 สถานีโทรทัศน์แห่งชาติจีน หรือซีซีทีวี ได้ร่วมมือกับบริษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น หรือเอ็นเอชเค ในการถ่ายทำสารคดีประวัติศาสตร์เรื่อง "เส้นทางสายไหม" ทำให้ "เส้นทางสายไหม" โด่งดังทั่วโลก หลังจากนั้น จีนเริ่มลงมือเตรียมการเพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียน "เส้นทางสายไหม" เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม แต่เนื่องจาก "เส้นทางสายไหม" เป็นเส้นทางที่เชื่อมเอเชียและยุโรปครอบคลุมพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล และมีโบราณสถาน โบราณวัตถุจำนวนมหาศาล การเตรียมการดังกล่าวจึงมีความสลับซับซ้อน และเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก ในที่สุด จีน คาซัคสถาน และ คีร์กีสถานได้ร่วมกันคัดเลือกโบราณสถานบน "เส้นทางสายไหม" รวม 33 แห่ง เพื่อยื่นให้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก้พิจารณาตรวจสอบ โบราณสถาน 33 แห่งนี้ประกอบด้วย พระราชวัง เจดีย์ และซากปรักหักพังบนทะเลทรายที่ปัจจุบันเข้าถึงได้ยาก
ในจำนวนนี้ มี 22 แห่งตั้งอยู่ในเขตแดนของจีน 8 แห่งอยู่ในคาซัคสถาน และอีก 3 แห่งอยู่ในคีร์กีสสถาน นับเป็นครั้งแรกที่จีนร่วมมือกับต่างประเทศในการเสนอขอขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นมรดกโลก
นายเหมียว เฉียงแสดงความเห็นว่า "เส้นทางสายไหม"ได้มาตรฐานของยูเนสโก้ในการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เขากล่าวว่า
โบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมต้องสอดคล้องกับมาตรฐานทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรม อีกทั้งมีเอกลักษณ์ของตน "เส้นทางสายไหม"สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ทุกประการ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพียงพอที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เส้นทางสายไหม มีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างเอเชียและยุโรปมาช้านาน ข้อนี้ทำให้ "เส้นทางสายไหม"ได้รับความสนใจมากจากยูเนสโก้