ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่ไถเอ๋อจวง
  2015-05-05 16:47:35  cri

เมื่อย้อนกลับไปในวันนี้ วันที่ 14 มีนาคมของปี 1938 ก็จะเป็นวันที่หน่วยรบแนวหน้า Seyaku ของกองพลที่ 10 กองทัพญี่ปุ่น เริ่มเคลื่อนทัพโดยรถไฟสายจินผู่ ผ่านอำเภอโจวเซี่ยนไปทางทิศใต้ บุกเข้าโจมตีอำเภอเถิงเซี่ยน เปิดฉากการสู้รบไถเอ๋อจวงเป็นครั้งแรก

หมู่บ้านไถเอ๋อจวงตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของคลองขุดปักกิ่ง-หางโจว ห่างจากเมืองสีว์โจวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นชุมทางเชื่อมทางรถไฟจินผู่กับทางรถไฟหล่งไห่ ซึ่งเป็นชัยภูมิสำคัญสำหรับการขนส่งสินค้าตามคลองขุดสายดังกล่าว และยังเป็นประตูสู่เมืองสีว์โจว

กลางเดือนมกราคมปี 1938 หลังจากที่กองพลที่ 5 ของกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเข้ายึดเมืองชิงเต่าได้แล้ว ก็ได้เคลื่อนทัพไปยังทิศตะวันตกและทิศใต้ตามทางรถไฟเจียวจี้และทางหลวงไถเหวย กองพลที่ 5 ได้เข้ายึดอำเภอจูเฉิง อำเภอฉีสุ่ย อำเภอเหมิงอิน อำเภอหลี่ว์เซี่ยน เรื่อยมาจนเข้าใกล้หลินอี๋ เมืองสำคัญทางภาคใต้ของมณฑลซายตุงไปทางเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร กองทัพญี่ปุ่นหมายจะยึดเมืองหลินอี๋ก่อน จากนั้นจะยั้งทัพรอกำลังเสริมจากกองพลที่ 10 ที่กำลังเดินทัพโดยรถไฟสายจินผู่เพื่อเข้าปิดล้อมเมืองสีว์โจวพร้อมกัน

วันที่ 14 มีนาคมปี 1938 หน่วยรบแนวหน้า Seyaku กองกำลังหลักของกองพลที่ 10 กองทัพญี่ปุ่น เคลื่อนทัพออกจากหมู่บ้านเหลี่ยงเสี้ยเตี้ยนของอำเภอโจวเซี่ยน มุ่งสู่อำเภอเถิงเซี่ยน กองทัพที่ 41 ของกองพลที่ 22 ของจีนต่อสู้กับการรุกรานของทหารญี่ปุ่นด้วยความองอาจ

วันที่ 16 มีนาคม ทหารญี่ปุ่นระดมสรรพาวุธทั้งปืนใหญ่ รถถังและเครื่องบินรบ บุกเข้าตีอำเภอเถิงเซี่ยน หวาง หมิงจาง รักษาการผู้บัญชาการกองทัพที่ 41 ผู้บัญชาการกองพลที่ 122 สั่งการให้เหล่าพลทหารต่อสู้สุดชีวิต และสาบานร่วมกันว่าจะต่อสู้จนกว่าจะหมดลมหายใจ

วันที่ 17 มีนาคม นายทหารส่วนใหญ่เสียชีวิต

วันที่ 18 มีนาคม กองทหารญี่ปุ่นนำโดยหน่วยรบแนวหน้า Seyaku สามารถบุกเข้ายึดเมืองเถิงเซี่ยนได้โดยสมบูรณ์และเข้ายึดอำเภอหลินเฉิง หมู่บ้านเจ่าจวง หมู่บ้านหานจวงและอำเภออี้เซี่ยน หวังจะยึดไถเอ๋อจวงโดยลำพังเพื่อปูทางให้กับการมาของทัพใหญ่จากเมืองสีว์โจว ในขณะที่เขตรบที่ 5 ของกองทัพจีนก็ได้ทุ่มกำลังป้องกันไถเอ๋อจวงเต็มที่ นายพลซุน เหลียนจ้ง สั่งการให้ทหารจำนวน 3 กองพลจากกองทัพที่ 2 เตรียมพร้อมรบ

วันที่ 24 มีนาคม เจียง ไคเช็ค เดินทางไปตรวจการณ์เมืองสีว์โจว และสั่งการให้นายพลไป๋ ฉงสี่ รองเสนาธิการใหญ่จัดตั้งคณะเสนาธิการเฉพาะกาล ร่วมกันบัญชาการกับนายพลหลี่ จงเหยิน ผู้บัญชาการเขตรบที่ 5

วันเดียวกัน หน่วยรบแนวหน้า Seyaku ได้บุกเข้าโจมตีไถเอ๋อจวง การต่อสู้เพื่อรักษาเมืองของทหารจีนต่อ Seyaku เป็นไปอย่างดุเดือดและยืดเยื้อยาวนานกว่า 3 วัน ล่วงเลยมาถึงวันที่ 4 ทหารญี่ปุ่นหน่วยหนึ่งสามารถบุกเข้าไปถึงตัวเมืองได้ นายฉือ เฟิงเฉิง ผู้บัญชาการกองพลที่ 31 นำหน่วยกล้าตายเข้าต่อสู้

วันที่ 29 มีนาคม เจียง ไคเช็คสั่งการเด็ดขาดว่าจะต้องรักษาไถเอ๋อจวงเอาไว้ให้ได้ นายหลี่ จงเหยินจึงได้สั่งการให้นายซุน เหลียนจ้งนำกองทัพที่ 2 เฝ้ารักษาสนามรบเอาไว้ และสั่งให้ทางเอินโบ๋นำกองทัพที่ 20 เคลื่อนทัพออกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเจ่าจวงมาเสริมทัพกับกองทัพที่ 2 เตรียมล้อมโจมตีทหารญี่ปุ่นอีกที นับเป็นวันเดียวกันกับที่หน่วยรบ Sakamoto ของกองพลที่ 5 กองทัพญี่ปุ่นเริ่มออกเดินทัพไปไถเอ๋อจวงพอดี

วันที่ 31 มีนาคม ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นตราทัพถึงเขตเซี่ยงเฉิงและเขตไอ้ฉี่ว์ ก็ได้ถูกทหารจีนโอบล้อม ทำให้แผนของหน่วยรบ Seyaku ที่ต้องการปูทางเพื่อการมาของทัพใหญ่ล้มเหลว

วันที่ 3 เมษายน กองทัพจีนทุ่มกำลังเต็มที่ตอบโต้ทัพญี่ปุ่นรอบด้าน ภายหลังจากการสู้รบกันเป็นเวลา 4 วัน กองทัพจีนก็สามารถปราบหน่วยรบ Seyaku ส่วนใหญ่และหน่วยรบ Sakamoto บางส่วนจนราบคาบ

เป็นเวลากว่าครึ่งเดือนที่ทหารจีนยืนหยัดต่อสู้อย่างเต็มความสามารถเพื่อรักษาที่มั่นไถเอ๋อจวงเอาไว้ เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เหล่าวีรชนคนกล้าต้องสละชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนกว่า 7,500 นาย ด้านทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตไปกว่า 15,000 นาย นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีสงครามต่อต้านญี่ปุ่นในจีน สร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชนจีนในขณะนั้นได้เป็นอย่างมาก

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040