สำนักงานสถิติกรุงปักกิ่งประกาศรายงานเกี่ยวกับการทำสำรวจสภาพการณ์มีคู่ครองของประชากรปักกิ่งในปี 2015 พบว่า กลุ่มคนอายุมากแต่ยังไม่แต่งงานยังคงเป็นในลักษณะที่ว่า "ชายมากหญิงน้อย" โดยสัดส่วนเพศชายที่มีอายุกว่า 30 ปีแล้วแต่ยังไม่แต่งงานในกรุงปักกิ่งเป็น 1.2 เท่าของเพศหญิง เทียบได้กับผู้ชายอายุมากแต่ยังไม่แต่งงาน 6 คนต่อผู้หญิงอายุมากที่ยังโสด 5 คน
หญิงจีนมีอัตราหย่าร้างและเป็นม่ายเพิ่มขึ้น
สถิติจากสำนักงานสถิติกรุงปักกิ่งแสดงว่า ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีนระยะ5 ปี ฉบับที่ 12 ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอายุประชากรทั่วประเทศ ทำให้สภาพการณ์แต่งงานของประชากรผู้อยู่อาศัยในปักกิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย คือ มีอัตราการแต่งงานเพิ่มสูงขึ้น คนที่ยังไม่แต่งงานลดน้อยลง พร้อมกับอัตราหย่าร้างและการเป็นม่ายก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยด้วย ขณะที่อัตราหนุ่มโสดในกรุงปักกิ่งยังคงมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่ามีผู้ชายจำนวนมากขึ้นเลือกที่จะเลื่อนเวลาการแต่งงานออกไป และเมื่อเทียบกับผู้ชายแล้ว สัดส่วนของผู้หญิงที่หย่าร้างและคงเป็นโสดค่อนข้างสูง สะท้อนให้เห็นถึงสภาพการณ์ของสตรีในสังคมปัจจุบันที่ยากจะแต่งงานอีกครั้ง นอกจากนี้ อัตราการเป็นม่ายของสตรีในกรุงปักกิ่งก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับอายุขัยโดยเฉลี่ยของผู้หญิงที่มากกว่าผู้ชาย
สาวโสดกว่า 90% อยู่ในตัวเมือง
รายงานยังระบุว่า ลักษณะพิเศษของกลุ่มคนที่อายุมากแต่ยังไม่แต่งงานของกรุงปักกิ่งในปี 2015 คือ จำนวนผู้ชายโสดยังคงมากกว่าผู้หญิงโสดอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มคนโสดของปักกิ่งเป็นเพศชายร้อยละ 55 แต่มีการเปลี่ยนแปลงคือ ความห่างระหว่างสัดส่วนของชายโสดกับหญิงโสดมีแนวโน้มหดแคบลงเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยขณะนี้สัดส่วนของชายโสดเป็น 1.2 เท่าของสาวโสด คือ 6 ต่อ 5 ขณะที่เมื่อ 5 ปีก่อนเป็น 6 ต่อ 4
รายงานยังชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนอายุมากแต่ยังไม่แต่งงานของจีนนี้ เพศชายและหญิงมีแนวโน้มเรื่องที่อยู่อาศัยและระดับการศึกษาออกเป็นสองขั้ว คือ หญิงที่อายุมากแต่ยังไม่แต่งงานร้อยละ 92.5 จะอยู่ในตัวเมือง โดยที่ระดับการศึกษาของพวกเธอร้อยละกว่า 81.1 สำเร็จการศึกษาในระดับสูงกว่าวิทยาลัย ส่วนชายที่อายุมากแต่ยังคงเป็นโสดส่วนใหญ่อยู่ในเขตชนบท และร้อยละ 53.7 มีระดับการศึกษาต่ำกว่ามัธยม
อัตราการคลอดลูกเมื่อปีที่แล้วต่ำสุด
สถิติแสดงว่า เมื่อปี 2015 อัตราการคลอดลูกของกรุงปักกิ่งลดลง โดยมีเด็กเกิดใหม่เท่ากับ 172,000 คน ลดลง 36,000 คนเมื่อเทียบกับปี 2014 โดยมีอัตราคลอดลูกเป็นร้อยละ 7.96 ลดลงพันละ 1.8 เมื่อเทียบกับปี 2014 นับว่าเป็นอัตราคลอดลูกต่ำสุดในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่12
หนุ่มในอุดมคติของสตรีจีน ต้องมีเงินเดือนอย่างน้อย 6,700 หยวน
"ซื่อจี้เจียหยวน" เว็บไซต์หาคู่ที่มีชื่อเสียงของจีน ทำสำรวจความคิดเห็นคนโสดจำนวน 15,000 คน เพื่อรับรู้ถึงทัศนคติที่มีต่อการแต่งงาน ปรากฏว่า ผู้หญิงจีนส่วนใหญ่เห็นว่า หนุ่มในอุดมคติต้องมีเงินเดือนอย่างน้อย 6,701 หยวน(อย่างน้อย 33,500 บาท) ผู้หญิงจีนในทั่วประเทศส่วนใหญ่เห็นว่า เงื่อนไขเบื้องต้นของการแต่งงานคือ ฝ่ายชายต้องมีบ้านเป็นของตนเอง
สำหรับความคิดเห็นของชายจีนที่มีเงินเดือนมากกว่า 10,000 หยวน มีคนจำนวนมากระบุว่าไม่เห็นด้วยที่จะต้องยื่นบัตรเงินเดือนให้ภรรยาดูแล โดยผู้หญิงจีนที่เกิดในช่วงทศวรรษปี 1980 ส่วนใหญ่มีความคิดที่ว่า ต้องการควบคุมอำนาจการใช้จ่ายเงินของครอบครัว ร้อยละ 78 ระบุว่า สามีควรมอบบัตรเงินเดือนให้เธอเป็นผู้ดูแล
Yim/kt