ชาวจีนชอบเรียกคนที่เกิดระหว่างปี 1980-1990 เป็นคนรุ่นหลังปี 1980 (80后) ซึ่งปัจจุบันถึงอายุต้องแต่งงานแล้ว แต่ปัจจัยต่างๆ ทำให้มีคนรุ่นนี้จำนวนมากยังไม่มีแฟน จึงเกิดคำใหม่ว่า "剩男" (เซิ่งหนาน) และ "剩女" (เซิ่งหนี่ว์) หมายถึงคนที่ถึงอายุแต่งงานแล้ว แต่ยังไม่ได้แต่งงาน ส่วนใหญ่หมายถึงกลุ่มคนอายุมากกว่า 25 ปี
ปัจจุบัน "เซิ่งหนี่ว์" และ "เซิ่งหนาน" เป็นปัญหาที่เพื่อนๆ และญาติพี่น้องมักเสนอขึ้นมาเป็นประเด็นคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของเพื่อนๆ และญาติพี่น้องอันดับแรกเสมอ เมื่อถึงเทศกาลที่ญาติพี่น้องอยู่ร่วมกัน ก็จะมีคนถามว่ามีแฟนแล้วหรือไม่ ทำให้พวก "เซิ่งหนาน" "เซิ่งหนี่ว์" ต้องปวดหัวไปตามๆกัน บางคนต้องเช้าแฟนหรือยืมแฟนกลับบ้าน เพื่อทำให้พ่อแม่ญาติพี่น้องวางใจ
"เซิ่งหนาน" "เซิ่งหนี่ว์" ทำอะไรก็ต้องทำเอง โดยใช้เวลาหมดไปกับการเล่นอินเตอร์เน็ตและบนเตียงเป็นส่วนใหญ่ "เซิ่งหนี่ว์" และ "เซิ่งหนาน" มักเป็นคนที่อาศัยอยู่ในเมือง เพราะที่ชนบท เมื่ออายุถึง 24-25 แล้วยังไม่แต่งงาน ชาวบ้านจะเห็นว่ามีปัญหา จึงมีจำนวนน้อยมาก แต่ในประเทศตะวันตก คนกลุ่มนี้อาจไม่มีปัญหา แต่ในประเทศจีน ซึ่งประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นพ่อแม่และปู่ย่าตายาย ยังมีความคิดค่อนข้างเก่ายึดตามขนบธรรมเนียมที่สืบเนื่องตั้งแต่สมัยโบราณ จึงเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่
เมื่อเทียบกับ "เซิ่งหนี่ว์" แล้ว "เซิ่งหนาน" ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเป็นห่วงเรื่องแต่งงาน เพราะสังคมยอมรับให้ผู้ชายสามารถแต่งกับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่าได้ อีกทั้งผู้คนต่างเห็นว่าผู้ชายอายุมากกว่า 30 ปีจะมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น แต่ผู้หญิงเมื่ออายุมากแล้ว ก็ยิ่งจะหาแฟนได้ยาก สาเหตุที่เกิดคนกลุ่มนี้มีหลายปัจจัยด้วยกัน ผู้หญิงที่ตกเป็น "เซิ่งหนี่ว์" ง่ายๆ ได้แก่
1. ผู้หญิงที่รักความอิสระ หรือถือตนเองเป็นศูนย์กลาง
ตั้งแต่จีนดำเนินนโยบายปฏิรูปเป็นต้นมา ให้ความสำคัญกับสถานะของผู้หญิงในสังคมมากยิ่งขึ้นทุกวัน ปัจจุบัน ยอมรับว่าผู้หญิงมีสิทธิเสมอภาคกันกับผู้ชาย ซึ่งสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนและทำงานในวงการต่างๆ แถมบางคนยังทำได้ดีกว่าผู้ชาย จึงทำให้มีนิสัยที่เข้มแข็ง ถือตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ยอมรับฟังคำวิจารณ์หรือความคิดเห็นที่ต่างกัน ผู้หญิงแบบนี้มักมีความก้าวหน้าดีในการทำงาน ซึ่งมีเงินเดือนสูง บางคนมีรถและบ้านของตนเอง จึงไม่ยอมหาผู้ชายที่ทำงานธรรมดา เงินเดือนน้อย และผู้ชายที่ไม่มีบ้านของตนเอง เพราะไม่อยากลดคุณภาพชีวิตหลังแต่งงาน