"กลุ่มคนไทยถ้าเราร่วมมือกันจริง ๆ ราคาตรงนี้ เราจะสามารถกำหนดได้ เราต้องเป็นผู้กำหนดราคา คนไทยมานี่ 2 เจ้า มาได้เพราะเราไม่ปล่อยราคา ถ้าปล่อยเราก็ขายไม่ได้ เพราะไหนจะค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าโรงแรม ค่าล่าม เราพูดไม่ได้ เราก็เสียอีก"
ล่วงเลยมาถึงตอนสุดท้ายกับมหากาฬ "เชียงรุ้งมีดีอะไร" กันเสียทีนะครับ วันนี้ยังอยู่กับคุณอ้อม ชัดชารี จินดารักษ์ เจ้าของธุรกิจผลิตภันฑ์สปาออแกนิกจากเชียงใหม่ ที่ได้ให้โอกาสกาสะลองส่องจีนมาถ่ายทอดความรู้สึกและประสบการณ์การทำธุรกิจที่ประเทศจีน
คุณอ้อมเล่าว่าปัญหาที่เจออยู่ในตอนนี้คือการที่คนไทยไม่จับมือกันแน่นพอ บ่อยครั้งที่มีชาวจีนเดินทางมาไทยเพื่อซื้อสินค้ากลับไปขายจำนวนมาก ๆ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ดี และก็ขายไปในราคาส่ง แต่หากมองอีกแง่หนึ่งนั่นหมายถึงการตัดโอกาสการทำธุรกิจของเราเองในประเทศนี้ เพราะต้นทุนเวลาเราไปตีตลาดที่จีนมันสูงกว่าของเขาชัดเจน
เมื่อผมถามว่างานไหนที่เข้ามาแล้วประทับใจมากที่สุด คุณอ้อมตอบอย่างชัดเจนว่างานประเภทที่จัดขึ้นเพื่อขายสินค้าเพียงอย่างเดียว เช่นงานวันชาติสิบสองปันนา ลักษณะของการประเภทนี้คือเป็นงานแสดงสินค้าที่รวมสินค้าจากทุกทั่วสารทิศไว้ในที่เดียวกัน เพราะฉะนั้นคนที่จะมาคือกลุ่มคนที่ตั้งใจจะมาซื้อสินค้าจริง ๆ ซึ่งกลุ่มลูกค้าก็อาจจะแต่งต่างกับงานที่มาในวันนี้ที่เน้นเที่ยวมากกว่า
"ส่วนงานต่อไปที่อยากจะไปมาก ๆ ก็คงจะเป็นงานเทศกาลสงกรานต์ สิบสองปันนา เขาว่ากันว่าคนจีนทั้งประเทศมีสงกรานต์ที่เดียว ถ้าตรุษจีนยังมีหลายที่ วันชาติก็มีทั่วประเทศ คือคนที่เขาไม่มีกำลังมาเชียงใหม่ เขาก็จะมาที่นี่"
พูดถึงการขนส่งสินค้า ตัวผมเองก็เพิ่งทราบว่าในประเทศไทย หากใครจะส่งสินค้ามาจีนบริษัทรายใหญ่ที่ทำงานด้านนี้เฉพาะนั้น เขามีสำนักงานตั้งอยู่ที่บ้านถวาย จังหวัดเชียงใหม่ แต่ละบริษัทก็จะเป็นเอกในสินค้าแต่ละชนิดไป สมมุติว่าใครจะขายสบู่ ก็ต้องเจ้านี้ ใครจะส่งขนมก็อีกเจ้าหนึ่ง ซึ่งอัตราค่าจัดส่งคุณอ้อมเล่าว่าโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือคิดตามน้ำหนัก และแปรผันตรงตามพื้นที่จัดส่ง เช่นจะส่งสินค้ามาสิบสองปันนา ราคาก็จะตกประมาณ 20-25 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือสินค้าประเภทที่มีน้ำหนักเบาแต่มีขนาดใหญ่ ก็จะคิดเป็นคิว ๆ ไป ทั้งนี้คุณอ้อมให้เหตุผลที่เลือกจัดส่งสินค้าผ่านทางบริษัทเหล่านี้ว่ามีความสะดวกกว่าและง่ายกว่าในการนำสินค้าผ่านด่านตรวจ
"เอามาเองก็กลัวจะมีปัญหาเรื่องด่านตรวจ ไหนจะน้ำหนักอีก ด่านที่เข้มสุดก็ของทางจีนที่ต้องเอ็กซเรย์ถึง 2 รอบ ที่บ่อหาน เวลาเช็คเขาก็จะให้เราเปิดดูของข้างใน ของต้องห้ามประเภทยาทั้งหลายห้ามนำเข้ามานะ ใครมีบัตรเชิญจากรัฐบาลจีนที่ออกให้ก็สบายไป แต่บางงานเขาก็ไม่ออกให้ไง เราก็เลยไม่อยากเสี่ยง"
คำถามสุดท้ายก่อนที่ผมจะปล่อยคุณอ้อมไปค้าขายต่อ แน่นอนว่าก็เป็นคำถามสามัญประจำบ้าน "มีอะไรจะฝากถึงคนไทยที่อยากจะมาขายของที่จีนบ้าง?"
"ศึกษาตลาดให้มาก ๆ เพราะเราเห็นสินค้าบางตัวที่เอามา เรามีเหมือนเขา แล้วจะขายเหมือนเขาบางทีก็ช้าไปแล้ว ตลาดที่นี่มันเร็วมาก ๆ มาเที่ยวนี้ เที่ยวหน้าจะมีสินค้าเหมือนเราละ อย่าชะล่าใจ เราต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและแข็งพอ ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องผลิตเอง ถึงจะสู้กับเขาได้ ถ้าประเภทซื้อมาขายไป เราจะได้ครั้งเดียวเท่านั้น อีกอย่างหนึ่งคืออยากให้ทั้งรัฐบาลจีนกับไทย ร่วมมือกันให้ความดูแลผู้ประกอบการที่เดินทางมาทำธุรกิจที่จีนมากยิ่งขึ้น"
ผมเห็นด้วยกับคุณอ้อมในเรื่องของการศึกษาตลาดนะครับ ยิ่งละเอียดเท่าไหร่ความเสี่ยงก็ยิ่งลดลงเท่านั้น คนจีนในแต่ละพื้นที่มีลักษณะนิสัย มีระบบความคิดที่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน ทำความเข้าใจเขาให้มาก ๆ ผมเชื่อว่าความสำเร็จไม่ไกลเกินเอื้อมครับ