คุณป้าศรีกานดาในวัยใกล้ 80 ปียังคล่องแคล่วกระฉับกระเฉง นอกจากสามารถดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดีแล้ว คุณป้ายังทำอาหารทำงานบ้านทำทุกอย่างเองทั้งไปหาหมอ ไปซุเปอร์มาเก็ต ไปติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ขณะที่คุณลุงเคยรับการผ่าตัดหัวใจในวัยย่าง 90 แม้จะช่วยเหลือตัวเองได้ ความจำยังดีแต่ก็มีบ้างที่ความคิดและการพูดจาช้าลงไปบ้างอันเป็นเรื่องปกติของวัย เคยถามคุณลุงว่าทำอย่างไรถึงความจำดี ไม่หลง ๆ ลืม ๆ คุณลุงแนะให้อ่านหนังสือทุกวัน อ่านแล้วเขียนสิ่งที่เราอ่าน เขียนสิ่งที่เราพบเห็น หรือแม้แต่เขียนเรื่องที่เราอยากเขียน ทำอย่างนี้ทุกวันจะไม่ลืม
คุณป้าศรีกานดาเขียนไว้ในหนังสือปักกิ่งในความทรงจำว่า ระยะแรก ๆ ที่มาใช้ชีวิตอยู่ในปักกิ่ง(ปลายทศวรรษ 1950) ฉันได้เห็นความเป็นอยู่ของคนที่นี่ค่อนข้างยากลำบาก เพราะเพิ่งสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่นาน พวกเรานักเรียนชาวจีนโพ้นทะเลที่มาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น ทางการจีนได้จัดให้ไปอยู่รวมกันที่โรงเรียนแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนเมืองปักกิ่ง....เป็นโรงเรียนกวดวิชาสำหรับนักเรียนชาวจีนโพ้นทะเลนครปักกิ่ง ....ชีวิตความเป็นอยู่ในโรงเรียนนี้ดีกว่าชาวปักกิ่งโดยทั่วไป เพราะทางการจีนดูแลเป็นพิเศษ เช่น จัดให้เราได้กินข้าวเจ้าตามความเคยชินของชาวเอเชียเกือบทุกมื้อ ส่วนชาวปักกิ่งในเวลานั้นส่วนใหญ่กินอาหารที่ทำจากแป้งข้าวสาลีและข้าวโพด นอกจากนี้ ทางการจีนรู้ว่านักเรียนชาวจีนโพ้นทะเลไม่เคยชินกับการอาบน้ำรวมกัน โดยแยกชายหญิงเหมือนชาวปักกิ่ง จึงได้จัดให้มีห้องน้ำเดี่ยวขึ้นในโรงเรียนและด้านอื่น ๆ ทางการจีนก็จัดให้ตามความเคยชินของนักเรียนชาวจีนโพ้นทะเลเช่นเดียวกัน
ในเวลานั้นนักเรียนชาวจีนโพ้นทะเลในโรงเรียน"ฮว๋าเฉียวปู่สีเสวียเสี้ยว"แห่งนั้นมีนักเรียนประมาณ 2,000 คน นักเรียนทุกคนพำนักอยู่ในโรงเรียน ส่วนมากมาจากอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า กัมพูชา ไทย ญี่ปุ่น เป็นต้น ชีวิตความเป็นอยู่ในโรงเรียนนี้แม้ว่าจะดีกว่าชาวปักกิ่งทั่วไป แต่ก็ยังคงไม่สะดวกสบายเหมือนตอนที่ฉันอยู่บ้านที่กรุงเทพฯ...ฉันเรียนภาษาจีนที่โรงเรียนนี้ประมาณ 1 ปี ก็สอบเข้าได้ที่มหาวิทยาลัยครูปักกิ่ง ...การศึกษาวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยฉันไม่ค่อยรู้สึกยากลำบากอะไรมากนัก แต่ความไม่เคยชินกับลมฟ้าอากาศนี่ซิ เป็นตัวการสร้างความยากลำบากให้ฉัน เพราะปักกิ่งปีหนึ่งปีมี 4 ฤดูคือฤดูใบไม้ผลิ(ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม) ฤดูร้อน(ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม) ฤดูใบไม้ร่วง(ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว(ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์) สภาพร่างกายของฉันปรับเข้ากับสภาพอากาศของภาคเหนือของจีนไม่ค่อยทัน จึงมักรู้สึกไม่สบายบ่อย ๆ ในระยะแรก ๆ ที่อยู่ปักกิ่งโดยเฉพาะในฤดูหนาวอุณหภูมิจะลดลงกว่าศูนย์คือประมาณติดลบ 10ถึงติดลบ 2 องศาเซลเซียส อากาศหนาวเหน็บจริง ๆ ฉันเกิดและเติบโตในเมืองไทยซึ่งเป็นเขตที่มีอากาศร้อนเกือบตลอดปี ระยะแรก ๆ ไม่รู้สึกชินกับอากาศปักกิ่งเป็นอย่างมาก ระหว่าง 5 ปีแรกฉันจึงป่วยเป็นไข้หวัดเกือบทุกปี มีอยู่ปีหนึ่งฉันป่วยหนักจนต้องเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
อีกเรื่องหนึ่งที่ฉันไม่ค่อยเคยชินก็คืออาหารที่ทำด้วยแป้งสาลีและแป้งข้าวโพดที่คนปักกิ่งเรียกว่า"หมานโถว"และ"อัวโถว" คนพื้นเมืองเขากินอาหารดังกล่าวเป็นอาหารประจำเหมือนคนไทยเรากินข้าว ถ้าวันไหนโรงอาหารของมหาวิทยาลัยขายแต่หมานโถวและอัวโถว ฉันก็ต้องจำใจกิน..วันนั้นฉันก็มักจะกินไม่อิ่มด้วย...หมานโถวและอัวโถในสมัยนั้นมันไม่เหมือนกับทุกวันนี้
ต้นทศวรรษ 1970 เพื่อนของฉันคนหนึ่งเดินทางจากกรุงเทพฯมาเยี่ยมน้องสาวของเธอที่ปักกิ่ง วันหนึ่งน้องสาวทอดไข่ให้ทาน ไข่ที่ทอดนั้นผสมด้วยน้ำเปล่าและแป้งสาลี ต่อมาเพื่อนคนนั้นได้บ่นให้ฉันฟังว่า"ทำไมวิธีทอดไข่ทางปักกิ่งจึงไม่เหมือนกับทางบ้านเรานะ ไม่อร่อยเลย ฉันจึงบอกความจริงให้เธอฟังว่า "การทอดไข่ผสมแป้งก็เพื่อให้ได้ปริมาณมากขึ้น เพราะไข่ไก่ที่แต่ละครอบครัวซื้อมาด้วยคูปองได้จำนวนจำกัด จึงจำเป็นต้องประหยัด เพื่อนของฉันได้จดจำการใช้ชีวิตอย่างประหยัดของคนปักกิ่งในเวลานั้นมาจนทุกวันนี้ เกือบทุกครั้งที่เธอพบฉันที่กรุงเทพฯ เรามักจะพูดกันว่า "ผู้คนที่เคยผ่านชีวิตในสภาพยากลำบากมาแล้ว แน่ละพวกเขาต้องมีมานะสร้างบ้านเมืองของตนให้เจริญได้รวดเร็วอย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้
อย่างไรก็ตามชีวิตความเป็นอยู่ของคนปักกิ่ในเวลานั้นยังนับว่าดีกว่าคนมณฑลอื่น ๆ อย่างน้อยก็มีอาหารรับประทาน ไม่ถึงกับอดอยาก แม้ว่าคุณภาพของอาหารไม่สูงและไม่อุดมสมบูรณ์อย่างทุกวันนี้ แต่ก็ได้กินอิ่ม ไม่มีคนอดตายเหมือนในสมัยจีนเก่าระหว่างต้นทศวรรษ 1960ถึงปลายทศวรรษ 1970 คนจีนมีชื่อลือกระฉ่อนไปทั่วโลกว่าเป็น "คนจน"และถูกดูหมิ่นไปทั่วแห่งหน แม้แต่ญาติของตนในต่างประเทศก็ไม่อยากจะติดต่อด้วย เพื่อนของฉันคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เธอไปเยือนกรุงเทพฯ ญาติหลายคนนหลบหน้าไม่ยอมมาพบ เพราะกลัวว่าเธอจะไปขอความช่วยเหลือจากพวกเขา แต่เมื่อปีกลายเธอไปธุระที่กรุงเทพฯโดยไม่ได้บอกกล่าวกับญาติคนไหน พอพวกเขาได้ข่าวก็พากันแห่มาเยี่ยม บางคนว่าจะหาทางทำการค้าที่ปักกิ่งบ้าง บางคนก็ว่าอยากจะส่งลูกหลานมาเรียนที่ปักกิ่ง
ถ้าโลกนี้คือละคร ละครชีวิตของคุณป้าศรีกานดาและคุณลุงสุชาติ ภูมิบริรักษ์ถือว่าเป็นละครชีวิตที่น่าสนใจเพราะบริบทชีวิตที่แวดล้อมด้วยการเมือง สังคม วัฒนธรรมจีนจากช่วงที่เพิ่งเปลี่ยนเป็นจีนใหม่หรือสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ไม่นานที่ตอนนั้นใครๆก็ดูแคลน จนถึงช่วงที่จีนผงาดในเวทีโลกเช่นปัจจุบัน คุณลุงคุณป้าทั้งสองท่านนี้ได้ร่วมเป็นฟันเฟืองอยู่ในกระบวนการพัฒนาร่วมอยู่ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านของจีน คราวหน้าติดตามต่อนะคะ