การเดินทาง - นั่งรถไฟใต้ดินสาย 3
ลงสถานี "สนามฟุตบอลหงโข่ว(虹口足球场站)"
ถนนวัฒนธรรมตัวหลุนลู่(多伦路文化街)เป็นถนนสายสั้นๆ ความยาวไม่เกิน 550 เมตร แต่ทางโค้งแคบนี้กลับมีเสน่ห์ดึงดูดผู้มาเยือนอย่างไม่ขาดสาย เพราะแม้ในเซี่ยงไฮ้ก็มีตรอกซอยน้อยใหญ่ทำนองนี้อยู่ทั่วไปหมด แต่ที่นี่มีความพิเศษกว่าตรงที่เคยเป็นศูนย์รวมปัญญาชนของจีนในยุค20-30 ของศตวรรษที่ 20 โดยมีนักเขียนวรรณกรรมจีนสมัยใหม่ชื่อดังแห่งยุค อาทิ หลู่ซวิ่น เหมาตุ้น กัวโม่รั่ว ต่างมารวมตัวอาศัยอยู่ที่นี่มากมาย ดังนั้น จึงเป็นเหมือนค่ายต่อสู้แสดงความคิดทางแวดวงวรรณกรรมจีนในยุคนั้น
บนพื้นถนนเก่าแก่ที่ปูด้วยหินสายนี้ ยังมีอาคารเก่าสไตล์ตะวันตกและพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กของเอกชน ให้เที่ยวชมสัมผัสกับบรรยากาศกลิ่นอายความเป็นจีนได้อีกด้วย อาทิ พิพิธภัณฑ์ตะเกียบ (เลขที่ 191 ถนนตัวหลุนลู่)ของนักสะสมตะเกียบโบราณนามว่า "หลานเสียง" ที่เก็บรวบรวมตะเกียบแบบต่างๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทั้งของจีนและต่างประเทศที่น่าสนใจไว้ให้ชมกว่า 1,600 คู่ หรือพิพิธภัณฑ์หิน(เลขที่ 189 ถนนตัวหลุนลู่)ของคู่สามีภรรยาเฉินรุ่ยเฟิงกับโจวเหวินซิ่ว ที่จะมีหินรูปร่างหรือลวดลายสีสันที่สวยงามแปลกตารวบรวมไว้ให้ชมกว่า 100 ชนิด
สำหรับอาหารดังประจำถิ่นของเซี่ยงไฮ้ ได้แก่ "เปี๊ยะกระดองปู (蟹壳黄)" "ซาลาเปาหนานเสียง (南翔小笼包)" "โจ๊กไก่เสี่ยวเส้าซิง (小绍兴鸡粥)"
"เปี๊ยะกระดองปู" ได้ชื่อเรียกนี้เนื่องจากรูปร่างและสีสันของขนม ที่มีลักษณะกลมแบนและหลังอบออกมาได้สีเหลืองออกแดงยวนตาคล้ายกับกระดองปูนั่นเอง โดยจะโรยหน้าด้วยงาและมีความหอมกรอบเป็นพิเศษ ซึ่งขนม "เปี๊ยะกระดองปู" ของเซี่ยงไฮ้นี้ ถือกำเนิดขึ้นตอนต้นยุค20 ของศตวรรษก่อน และได้รับความนิยมกลายเป็นของว่างประจำโรงน้ำชาต่างๆ ของเซี่ยงไฮ้ในยุคนั้น ขนมจะมีทั้งแบบรสเค็มและหวาน รวมถึงมีแบบใส่ไส้ เช่น ไส้หมู ถั่ว กุหลาบ พุทรากวน เป็นต้น
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府
ลิงค์เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:"เยียนไต้" ถนนเก่ากับอาหารถิ่น "ปักกิ่ง"
http://thai.cri.cn/247/2016/05/12/42s242171.htm
เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:"อู่ต้าเต้า" ถนนเก่ากับอาหารถิ่น "เทียนจิน"