กาสะลองส่องจีน ตอน 75 : ทางออกของกลุ่ม LGBT จีน
  2017-01-22 10:37:36  cri

จีนยังคงเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่ปิดกั้นกลุ่ม LGBT ครับ หนึ่งในทางออก (ที่มีไม่มาก) ของกลุ่มคนเหล่านี้คือการที่พวกเขาใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อนำไปสู่การพบปะสานสัมพันธ์ พฤติกรรมที่กลุ่ม LGBT จีนใช้โลกเสมือนจริงเปิดเผยตัวเองกันอย่างล้นหลามนั้น ทำให้ปีหลัง ๆ มีแอพพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นมาเจาะตลาดกลุ่มเพศทางเลือกมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Blued, Lesdo หรือ The L แต่ถึงกระนั้นแอพฯเหล่านี้ก็ไม่อาจตอบสนองปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญมันได้ในชีวิตจริง

หนุ่มสาวแดนมังกรทุกคนเมื่อย่างเข้าวัยทำงานแล้ว ผู้เป็นพ่อแม่มักจะกดดันให้พวกเขาเร่งหาแฟน แต่งงาน และมีลูก กับชายจริงหญิงแท้ว่ายากแล้ว สำหรับ LGBT จีนที่ไร้ทางเลือกมันคือฝันร้าย

กลุ่มสตาร์ทอัพกลุ่มหนึ่งในกรุงปักกิ่งเล็งเห็นโอกาสจากปัญหานี้จึงได้พัฒนาแอพฯสำหรับ "หาคู่บังหน้า" ชื่อว่า iHomo ขึ้นเพื่อให้พ่อแม่ของพวกเขาเลิกกดดันเสียที เสี่ยวไป๋ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง iHomo บอกว่า "การสมรสและมีบุตรสำหรับชาวจีนแล้วมันเปรียบเหมือนหน้าที่ และมันจะไม่มีข้อยกเว้น สำหรับตัวผมเอง พ่อแม่ขอแค่ให้ผมได้แต่งงาน พวกเขาไม่แม้แต่จะสนใจว่าผมจะดูแลพวกเขาหรือไม่ สุดท้ายผมก็เลือกใช้วิธี "xínghun" 形婚 หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Lavender marriage เป็นทางออก ผมจัดงานแต่งกับเจ้าสาวที่ไม่รู้จักเมื่อปี 2012 มันผ่านไปด้วยดี และที่พิเศษกว่านั้นคือเพื่อนเจ้าบ่าวในงานก็คือเจ้าสาวตัวจริงของผม"

ปีแรกของการแต่งงาน ชาวจีนมีธรรมเนียมว่าต้องให้คู่บ่าวสาวย้ายไปอยู่บ้านเดียวกัน เสี่ยวไป๋และยี่ซีภรรยากำมะลอใช้ชีวิตร่วมกันในแบบเพื่อน หากใครมีปัญหาอะไรก็จะช่วยกันแก้ การได้อยู่ร่วมกันเช่นนี้ทำให้ยี่ซีเข้าใจว่าพวกเขาไม่ใช่คู่เดียวที่เผชิญกับปัญหา เธอขายไอเดียให้เสี่ยวไป๋ไปพัฒนาจนกลายมาเป็นแอพฯ iHomo ในที่สุด

เสี่ยวไป๋บอกอีกว่า "กลุ่มเกย์จีนที่ประสบปัญหาถูกทางบ้านกดดันมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และผมก็คิดว่าการสมรสบังหน้าคือทางออกที่เหมาะสมที่สุด" ยี่ซีเสริมด้วยว่า "พวกเราอยู่ในสังคมที่ไม่สามารถแสดงออกได้ และหากแสดงออกมากเกินไปก็จะเป็นภัยต่อตัวเอง การสมรสบังหน้าคือวิธีที่ยังทำให้พวกเรายังคงสถานภาพในสังคม"

เรื่องราวของคุณเสี่ยวไป๋ ผมได้ถอดความมาส่วนหนึ่งจาก Technode ครับ หากท่านใดสนใจอ่านต่อก็สามารถตามหากันได้ แต่คุณผู้อ่านสงสัยเหมือนผมไหมครับว่าแล้วเรื่องลูกล่ะ เขาจะทำยังไงกัน ผมนัดทานข้าวกับเพื่อนชาวจีนท่านหนึ่ง เขาดูตกใจกับประเด็นที่ผมยิงไปกลางโต๊ะอาหาร แต่ก็ยอมตอบตามประสบการณ์ที่เคยได้ยิน เขาบอกว่าจริง ๆ แล้วเรื่องแต่งงานบังหน้านี่มีมานานแล้ว เพียงแต่เพิ่งเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ให้อะไร ๆ มันสะดวกขึ้น แต่ละวันมีงานแต่งงานที่จัดขึ้นเพื่อให้คู่บ่าวสาวเพศทางเลือกยังคงมีที่ยืนในสังคมต่อไปนับไม่ถ้วน ทั้งคู่จะตกลงกันไว้แล้วก่อนหน้าตั้งแต่เรื่องสินสอดทองหมั้นยันการมีบุตร เท่าที่เขาทราบกลุ่มเพศทางเลือกเมื่อแต่งงานแล้วจะพยายามทุกทางเพื่อไม่ให้มีทายาท โดยอาจจะให้เหตุผลพ่อแม่ในเรื่องของความพร้อม หน้าที่การงาน สุขภาพ หรืออะไรก็ตามแต่เพื่อยื้อเวลาให้มากที่สุด หากถูกทางบ้านยื่นคำขาดก็จะใช้วิธีแนว ๆ ว่าเกิดความระหองระแหงจนจำต้องหย่าแล้ววนลูปกลับไปใหม่ แต่ถ้าดิ้นไม่หลุดจริง ๆ จำเป็นต้องมีมันก็ต้องมี ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะตั้งใจทำหน้าที่พ่อแม่ให้ดีที่สุดและหวังว่าเมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะเข้าใจและยอมรับกับสิ่งที่พ่อแม่ของเขาเป็น

รอบ ๆ ตัวผมเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในออฟฟิศแม้จะแต่งงานกันครบทุกคนแล้ว แต่ทุกคนมีแนวโน้มมีลูกช้ากว่าชาวจีนรุ่นก่อนพอสมควรครับ ลักษณะการดำเนินชีวิตของชาวจีนในหลาย ๆ อย่างกำลังเปลี่ยนไปช้า ๆ เราอาจจะยังไม่เห็นภาพที่ว่านี้ชัดเจนนักในอนาคตอันใกล้ อย่างน้อยที่สุดผมก็เชื่อว่ากลุ่ม LGBT จีนจะสามารถหาทางออกให้กับตัวเองได้มากขึ้นกว่าเดิม

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040