กาสะลองส่องจีน ตอน 77 : ยิงปืนนัดเดียวได้นก "ทั้งฝูง"
  2017-02-19 13:56:40  cri

วันศุกร์ที่แล้วผมได้รับเชิญจากทางมหาวิทยาลัยเยาวชนระหว่างประเทศให้ไปสื่อข่าวการทำเกี๊ยวของนักเรียนกลุ่มหนึ่งครับ ดูเผิน ๆ แล้วไม่เห็นจะน่าสลักสำคัญอะไรมากใช่ไหมล่ะครับ ผมเองก็คิดเช่นนั้น ความที่เราคิดว่ามันไม่สำคัญเนี่ยแหละครับ คือสิ่งสำคัญที่นำผมและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติหลายสิบชาติทั่วโลกนั่งรถออกจากออฟฟิศไปสถานที่จัดงาน

ผมเคยพูดถึงเรื่องระบบการศึกษาจีนอยู่บ่อยครั้ง หากตาม ๆ อ่านก็จะพอเข้าใจว่าจุดอ่อนในด้านนี้เขาก็มีอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างโรงเรียนในเมือง-ชนบท งบประมาณ หรือกระทั่งคุณภาพของครูผู้สอน แต่กับนักเรียนกลุ่มนี้ ในสถานศึกษาแห่งนี้แล้ว เรียกได้ว่าไม่มีข้อจำกัดใด ๆ สำหรับพวกเขาจริง ๆ ครับ คิดง่าย ๆ ว่างานงานนี้สามารถดึงชาวต่างชาติที่ทำงานในองค์กรชั้นนำทั่วปักกิ่งให้มาอยู่รวมกันได้ คนที่อยู่เบื้องหลังคอยผลักดันเด็ก ๆ กลุ่มนี้ย่อมไม่ธรรมดา

หากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือสองมหาวิทยาลัยแรกของแผ่นดินไทยที่เรานึกถึง มหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยชิงหวาก็เป็นสองมหาวิทยาลัยแรกของแผ่นดินจีนที่คนจีนนึกถึงเช่นกัน การสอบเข้าเรียนต่อในสองแห่งนี้ว่ายากแล้ว แต่สองสามปีมานี้มีอีกหนึ่ง "วิทยาลัย" ในจีนครับที่ถูกพูดถึงว่าเข้ายากเสียยิ่งกว่า

"Schwarzman College" คือวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยชิงหวา เกิดขึ้นจากความคิดของเศรษฐีแดนมะกันคนหนึ่งซึ่งมองว่าจีนกำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกในอนาคต เขามองว่าคนจะเป็นผู้นำโลกได้ต้องรู้ว่าจีนคิดอย่างไร เป็นอย่างไร และทำอย่างไร จึงตัดสินใจบริจาคเงินก้อนโตแบบที่ใช้เครื่องคิดเลขบ้าน ๆ คูณค่าเงินแล้วอาจจะพังได้ เพื่อเฟ้นหาเยาวชนที่เป็นที่สุดของที่สุดในโลกมาเรียนรู้และสร้างเครือข่ายร่วมกัน

แต่ละปีจะมีเยาวชน 200 คนได้รับทุนเต็มจำนวนให้เข้ามาศึกษาต่อยัง Schwarzman College แห่งนี้ และก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีเด็กไทยติดเข้าไปด้วยหนึ่งคนในรุ่นแรก แอบไปสืบมาก็พบว่าประวัติน้องเขาไม่ธรรมดาครับจบจากฮาร์วาร์ดแถมเป็นเด็กกิจกรรมเสียด้วย โปรไฟล์ขนาดนี้ก็ไม่น่าแปลกใจว่าฝ่าฟันผู้สมัครกว่า 3 พันคนเข้าไปได้อย่างไร

สำหรับกิจกรรมทำเกี๊ยวในวันนี้มีน้อง ๆ จาก Schwarzman College มาร่วมชั้นเรียกกับพวกเรา 8 คนครับ แต่ละคนถูกแยกให้ไปประจำในแต่ละโต๊ะเพื่อจะได้ไม่ให้จับกลุ่มอยู่แต่กับเพื่อน ๆ ตัวผมเองก็ถูกแยกกับผู้เชี่ยวชาญซีอาร์ไอชาติอื่น ๆ เช่นกัน อย่างโต๊ะผมก็มีที่มาจากทั้งบริษัทข้ามชาติ สถานทูต หน่วยงานรัฐบาลจีน ฯลฯ รวม ๆ แล้วไม่น่าจะเกิน 10 คนต่อโต๊ะครับ พวกเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นโดยมีครูคหกรรมแนะนำวิธีการทำเกี๊ยวอย่างใจเย็น ก็แน่ล่ะครับแต่ละคนต่างมีประสบการณ์ทำอาหารจีนกันเสียที่ไหน

ความน่าสนใจของกิจกรรมนี้ไม่ได้อยู่แค่ที่ทุกคนรู้ว่า "เกี๊ยว" ทำอย่างไร หรือมีเรื่องราวสืบสาวไปยังเทศกาลสำคัญใด ๆ พูดตรง ๆ คือคนจัดไม่ได้ตั้งใจจะเผยแพร่วัฒนธรรมจีนเท่านั้น และหากจะพูดให้ถูกเข้าไปอีก เขาเพียงอาศัย "เกี๊ยว" เป็นตัวเดินเรื่องเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างเยาวชนหัวกะทิกับบุคคลวงการต่าง ๆ ของปักกิ่งให้ได้รู้จักกันเท่านั้นเอง ถือว่าคณะผู้จัดทำการบ้านมาดีตั้งแต่ยังไม่เหนี่ยวไกครับ พอยิงปุ๊ปได้ประโยชน์หลายต่อนักข่าวต่างชาติได้เรียนรู้การทำเกี๊ยว มีข่าวให้เขียนงานส่ง คณะผู้จัดก็ประสบความสำเร็จในการประชาสัมพันธ์ทุนดังกล่าวนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นโดยแทบจะไม่ต้องใช้เงินสักสลึง ตัวนักเรียนก็ได้เครือข่ายมหาศาลสู่การปูทางในอนาคต เรียกว่าได้ชัยชนะร่วมกันโดยถ้วนทั่วเลยว่าไหมครับ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040