วันก่อนเพื่อนคนจีนถามว่า พอรู้ข่าวที่ฝรั่งหลายคนเสนอให้เปลี่ยนชื่อหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือ one belt one road หรืออีไต้ อีลู่ โดยวิจารณ์ว่าถ้าใช้ชื่อนี้หมายถึงประเทศจีนเป็นผู้ที่กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาหมดและคนที่จะได้ประโยชน์จริง ๆ ก็คือคนจีนเท่านั้น
ฟังแล้ว ได้แต่อุทานว่า ช่างคิดจังนะพ่อมโน
เขาใช้ชื่อนี้มาสามปีกว่าจนประเทศทั้งที่อยู่ในเส้นทางและนอกเส้นทางหลายสิบประเทศเขากระจ่างแจ้งว่าจีนกำลังทำอะไรแล้วประเทศที่เกี่ยวข้องจะได้ประโยชน์อย่างไรประเทศเหล่านั้นจึงพากันแสดงความจำนงเข้าร่วม แม้สหรัฐอเมริกาที่แต่แรกเป็นตัวตั้งตัวตีไม่เห็นด้วย แต่ผู้นำคนใหม่ก็มีท่าทีอ่อนลง ขณะที่บ้านใกล้เรือนเคียงอย่างญี่ปุ่นซึ่งเดิมแสดงท่าทีเอาใจลูกพี่แต่ตอนนี้ก็เห็นแล้วว่าเปลี่ยนท่าทีโดยนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้มอบหมายให้นายนิเคอิ โตชิฮิโระเลขาธิการพรรคเสรีประชาธิปไตยมาร่วมการประชุมฟอรั่มความร่วมมือระหว่างประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤษภาคมนี้ ที่กรุงปักกิ่ง แถมนายทานิกูติ มาโคโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหประชาชาติยังออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนเต็มที่ โดยบอกว่าญี่ปุ่นควรร่วมมือกับจีนในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพราะไม่เพียงมีส่วนช่วยต่อการปรับปรุงความสัมพันธ์ของสองประเทศให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียและทั่วโลกด้วย
ถ้าเราสังเกตคำกล่าวของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เจ้าของความคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งกล่าวในการประชุมสุดยอดนัดสำคัญ ๆ ของโลก อาทิ การประชุมสุดยอดจี 20 ที่เมืองหางโจว เมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 2016 ได้ย้ำเป็นพิเศษว่า กลไกและข้อเสนอใหม่ของจีนไม่ใช่มีขึ้นเพื่อตนเอง และมิใช่เพื่อใครโดยเฉพาะด้วย แต่เป็นการชดเชยและปรับปรุงกลไกระหว่างประเทศในปัจจุบันให้สมบูรณ์ มีเป้าหมายที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาไปด้วยกันและเพื่อประสบผลสำเร็จร่วมกัน การที่จีนเปิดประเทศไม่ใช่เพื่อจีนเอง แต่ยินดีต้อนรับทุกฝ่ายเข้าร่วม ไม่ใช่มุ่งขยายอิทธิพล แต่จะสนับสนุนการพัฒนาร่วมกันของประเทศต่าง ๆ ไม่ใช่สร้างสวนดอกไม้ของตนเอง แต่จะสร้างสวนดอกไม้ใหญ่ที่ประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมเชยชม
หรือคำกล่าวในที่ประชุมสุดยอดเอเปกที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.2014 ที่ว่า โลกเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ เราต้องเร่งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน สร้างการเชื่อมต่อกันทุกด้าน การเชื่อมต่อกันไม่ว่าทางหลวง ทางรถไฟ สายการบิน หรือเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เราเชื่อมต่อถึงไหน ความร่วมมือของเราก็ไปถึงนั่น การเชื่อมต่อกันเป็นหนทางแห่งการสร้างหลักเกณฑ์ เมื่อประสานความร่วมมืออุปสรรคด้านหลักเกณฑ์ก็จะลดลง การขนส่งสินค้าและการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลก็จะสะดวกราบรื่นยิ่งขึ้น การเชื่อมต่อกันเป็นจิตวิญญาณ คุณเข้าใจผม ผมเข้าใจคุณ เข้าใจกันมากขึ้น งานต่าง ๆ ก็จะราบรื่นยิ่งขึ้น เพิ่มความเข้าใจกันด้วยการเข้าถึงข่าวสาร แบ่งปันผลการปฏิบัติที่ดีที่สุดด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ส่งเสริมการประสานการปฏิบัติ ต้องมีความเชื่อมั่นกัน เข้าใจกัน ร่วมมือกัน และได้ชัยชนะด้วยกัน
ความคิดริเริ่มของประธานาธิบดีสี จิ้นผิ่งที่ตั้งใจเชิญประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมที่เคยทำมาค้าขายกับจีนมาแต่โบร่ำโบราณกาล แต่เมื่อมีการพัฒนาการค้าทั้งวิธีการขนส่งและรูปแบบการค้าทำให้แต่ละประเทศเหมือนอยู่กันเป็นจุด ๆ เมื่อจีนซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาประเทศของตนจนเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในหลายๆ ด้านก็อยากจะนำประสบการณ์ของตนและทรัพยากรที่มีอยู่ไปแบ่งปันกับประเทศต่าง ๆ ในลักษณะที่เปิดกว้าง เชื่อมั่นกัน เข้าใจกัน ร่วมมือกัน เกื้อกูลกันและได้ชัยชนะด้วยกันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยกัน
สามปีแห่งการดำเนินยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง รัฐวิสาหกิจจีน 47 แห่งดำเนินโครงการร่วมกับประเทศรายทาง 1,676 โครงการทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมระบบราง พลังงานไฟฟ้าได้ส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นของประเทศรายทาง มีการจ้างบุคลากร 384,000 คน โดยร้อยละ 85 เป็นคนท้องถิ่น
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติให้สัมภาษณ์ที่สำนักงานใหญ่ สหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ก่อนเดินทางมาร่วมการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางว่า การที่จีนเสนอยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นการทำแผนเพื่อพัฒนากระบวนการโลกาภิวัตน์ เป็นคุณูปการสำคัญต่อการแก้ปัญหาระดับโลกและการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าจีนเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโลก
นายโรดริโก ดูเตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ว่า ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางสอดรับกับเป้าหมายโครงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของรัฐบาลฟิลิปปินส์ เชื่อว่าจะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนและสร้างความผาสุกกับประชาชนฟิลิปปินส์
พลโทบุนยัง วอละจิต ประธานประเทศลาว กล่าวเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมว่า ในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยโอกาสและการท้าทายจากโลกาภิวัตน์ไม่มีประเทศใดที่จะสามารถพึ่งพาเฉพาะตัวเองแล้วแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้โดยลำพัง ความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์แก่กันเป็นความจำเป็นของยุคสมัย ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนส่งเสริมการติดต่อกันภายในภูมิภาค และเป็นโอกาสต่อการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งลาวด้วย ย่อมจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชานประเทศต่าง ๆ ลาวจึงสนับสนุนข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
หากประเทศต่าง ๆ ไม่ได้มองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากข้อริเริ่มนี้มีหรือที่จะพากันมาเข้าร่วม โดยเฉพาะในฟอรั่มความร่วมมือระหว่างประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง วันที่ 14 – 15 พฤษภาคมนี้ มีผู้นำประเทศ 29 ประเทศมาร่วม ผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศกว่า 70 องค์กรซึ่งรวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก ฯลฯ ผู้ร่วมประชุมจากกว่า 130 ประเทศ รวมแล้ว 1,500 คน ร่วมการประชุมครั้งนี้ โดยมีผู้สื่อข่าวจากจีและทั่วโลกรวมแล้วกว่า 4,000 คนลงทะเบียนมารายงานข่าวการประชุมครั้งนี้
นายสี จิ้นผิงประธานาธิบดีจีน ย้ำอีกครั้งในคำกล่าวเปิดฟอรั่มความร่วมมมือระหว่างประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมว่า บนพื้นฐานหลัก 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จีนยินดีที่จะดำเนินความร่วมมือฉันมิตรกับทุกประเทศที่มีส่วนร่วมสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จีนจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ไม่ประสงค์ส่งออกระบอบสังคมและรูปแบบการพัฒนา ไม่ใช้เล่ห์เพทุบายทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการแข่งขัน ไม่คิดสร้างกลุ่มอิทธิพลเพื่อทำลาความมั่นคงของภูมิภาค แต่มุ่งสร้างครอบครัวที่อยู่ร่วมกันอย่างปรองดองสมานฉันท์ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางให้เป็นแนวทางแห่งสัติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง การเปิดกว้าง การสร้างนวัตกรรมและอารยธรรม
เชื่อว่ากว่าร้อยประเทศที่มาร่วมฟอรั่มคงได้ไตร่ตรองแล้วว่ามีประโยชน์ต่อประเทศเขาจึงมาเข้าร่วม ร่วมมือเพื่อพัฒนาและชนะด้วยกัน
ถึงตอนนี้ท่านคงได้คำตอบแล้วว่า หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ใครได้ ใครเสีย
------------------------------------------------------------------------------------