2019-12-18 10:41ไชน่ามีเดียกรุ๊ป
ปัญหา PM 2.5 ทำให้ผู้คนตื่นตัวในวงกว้าง ถือเป็นโอกาสดีที่จะช่วยกันกระตุ้นและกดดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทำหน้าที่อย่างแข็งขันเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ควบคุมยานพาหนะให้ได้มาตรฐานยูโร 5 หรือ 6 จำกัดการใช้รถส่วนตัว จำกัดการใช้รถเก่าที่ก่อมลพิษสูง ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนในภาพรวมเพื่อลดการปล่อยมลพิษและความคับคั่งของการจราจร ตลอดจนตรวจจับการปล่อยมลพิษ PM 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า เป็นต้น
ด้านกรุงปารีสส่งเสริมให้หลายคนใช้รถคันเดียว หากว่ารถส่วนตัวคันใดมีผู้โดยสาร 3 คนขึ้นไป ก็จะมีสิทธิพิเศษที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการห้ามรถทะเบียนเลขคู่เลขคี่วิ่งสลับกันบนถนน นอกจากนี้ กรุงปารีสยังรณรงค์ให้บรรดาชาวเมืองใช้ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งรวมถึงรถไฟใต้ดิน รถโดยสารประจำทาง จักรยานสาธารณะ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสาธารณะ เป็นต้น โดยมีการแจกบัตรใช้จักรยานสาธารณะฟรีเป็นเวลาหนึ่งวัน ซึ่งราคาปกติอยู่ที่ 1.7 ยูโร โดย เทศบาลกรุงปารีสเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวแทน และสำหรับผู้ที่เช่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า ก็จะใช้บริการฟรีในชั่วโมงแรก กรุงปารีสไม่เพียงแต่ใช้มาตรการต่าง ๆ ในการกำจัด PM2.5 เท่านั้น หากยังมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดอีกด้วย ทุกวัน จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 700 คน ออกปฏิบัติหน้าที่ตามสถานีตรวจสอบการจราจรจำนวน 60 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วกรุง
เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ศาลฝรั่งเศสเปิดไต่สวนคดีที่แม่และลูกสาวคู่หนึ่งฟ้องร้องค่าเสียหาย เนื่องจากทางการไม่มีประสิทธิภาพในการขจัดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งคู่จึงเรียกค่าเสียหายมูลค่า 160,000 ยูโร
ศาลปกครองมงเทรย์ ทางตะวันออกของกรุงปารีส เปิดไต่สวนคดีนี้ และพบว่า ตอนที่สองแม่ลูกอาศัยอยู่ในเขตแซงต์ฮวน ชานกรุงปารีส ซึ่งอยู่ใกล้ถนนวงแหวนที่มียานพาหนะวิ่งผ่านวันละ 1.1 ล้านคัน และเต็มไปด้วยควันพิษ มารดาวัย 52 ปี ต้องลางานบ่อย ๆ เพื่อพาบุตรสาววัย 16 ปี ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด ไปรักษาที่โรงพยาบาล
ทนายความระบุว่า เมื่อทั้งคู่ย้ายไปอาศัยในเมืองอื่นตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว สุขภาพของบุตรสาวก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สองแม่ลูกจึงตัดสินใจฟ้องทางการว่า ไม่บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองประชาชน และไม่ใช้มาตรการที่มีอยู่อย่างเต็มที่ นี่จึงถือเป็นคดีแรกที่ชาวบ้านฟ้องร้องทางการเนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศ
พูดถึงการใช้ระบบกฎหมายคุ้มครองประชาชน ที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีการส่งเสริมให้เยื่อมลพิษทางอากาศยื่นฟ้องธุรกิจที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยญี่ปุ่นยังมีระบบชดเชยและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากมลภาวะ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้บัญญัติกฎหมายว่าด้วยการชดเชยความเสียหายต่อสุขภาพจากมลภาวะในปี 1973 ส่วนเงินชดเชยก็ไม่ได้มาจากงบประมาณการคลังของรัฐบาล แต่มาจากภาษีที่เก็บจากธุรกิจที่ก่อให้เกิดมลภาวะ โดยรัฐบาลได้ขึ้นบัญชีดำธุรกิจที่ก่อให้เกิดมลภาวะกว่า 8,300 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเก็บภาษีมลภาวะ ขณะเดียวกัน ยังเก็บภาษีเจ้าของรถยนต์ด้วย ซึ่งมีรายงานว่า รัฐบาลเคยให้การยืนยันต่อผู้ป่วยจากมลภาวะจำนวน 110,000 คนว่า จะจ่ายค่าชดเชย 100,000 ล้านเยน จนถึงปลายปี 2014 โดยทั่วประเทศมีประชาชน 38,000 คน ได้รับเงินชดเชย
สถิติพบว่า การป้องกันและกำจัดหมอกควันพิษ รวมไปถึงมลภาวะ ไม่ใช่การลงทุนที่ขาดทุน ตัวอย่างเช่น ทุกปี รัฐบาลญี่ปุ่นลงทุนในเรื่องการป้องกันโรคประมาณ 100 ล้านเยน แต่สามารถป้องกันความเสียหายคิดเป็นเงิน 12,600 ล้านเยนได้
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนการพลังงาน ฉบับที่ 5 โดยกำหนดว่า จะผลิตรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน 40,000 คัน ในปี 2020 และจะผลิตรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนให้ได้ 800,000 คันในปี 2030
รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน เป็นรถยนต์พลังงานสะอาด ไม่ใช้น้ำมัน ใช้การเติมไฮโดรเจนแทน การเติมก๊าซไฮโดรเจนเพียง 3 นาที ทำให้รถยนต์วิ่งได้ไกลถึง 650 กิโลเมตร แถมการเติมเชื้อเพลิงเต็มถังยังคิดเป็นเงินประมาณ 5,000 เยน ซึ่งก็พอ ๆ กับราคาน้ำมัน แต่สิ่งที่รถพลังงานไฮโดรเจนปล่อยออกมากลับไม่ใช่ควันพิษ แต่คือน้ำเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างแท้จริง
ด้านการขนส่งมวลชน ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีรถประจำทางพลังงานไฮโดรเจนกว่า 100 คัน วิ่งอยู่ตามท้องถนนในกรุงโตเกียวและเมืองนาโกย่า ในขณะที่ทั่วประเทศมีสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจน ที่มีสัญลักษณ์ “H2” กว่า 100 แห่ง
นอกจากรถยนต์พลังงานใหม่แล้ว ญี่ปุ่นยังประดิษฐ์คิดค้นรถยนต์ใช้งานร่วมกันแนวใหม่ ซึ่งสามารถใช้งานได้หลายอย่าง และเป็นรถยนต์ไร้คนขับด้วย โดยในช่วงเช้าและเย็นจะรับส่งคนไปทำงาน หรือ เดินทางกลับบ้าน ส่วนในช่วงเที่ยง จะให้บริการส่งอาหาร ต่อมาในช่วงบ่ายจะให้บริการส่งพัสดุด่วน รถเอนกประสงค์ที่คิดค้นขึ้นใหม่นี้จะทดลองใช้ในช่วงงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ที่จะจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ในปี 2020