เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:ร้อยแซ่พันธุ์มังกร (2) แซ่ผสม จูเก่อเลี่ยง (诸葛亮ขงเบ้ง)
  2012-04-10 16:31:36  cri

ทาเคชิ คาเนชิโร่ (金城武) ผู้รับบทจูเก่อเลี่ยงหรือขงเบ้ง

ในภาพยนตร์เรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ(ศึกผาแดง) ออกฉายปี 2008 กำกับโดยจอห์น วู

ตัวอย่างแซ่ผสม ได้แก่ ซือหม่า (司马) กงซุน (公孙) โอวหยาง (欧阳) และที่รู้จักคุ้นหูกันดีกับ "จูเก่อ (诸葛)" ของขงเบ้ง(จูเก่อเลี่ยง) กุนซือเอกผู้มีความฉลาดปราดเปรื่องเป็นเลิศของแคว้นสู่ (蜀 จ๊กก๊ก) ในยุคสามก๊ก ก็เป็นแซ่ผสมเช่นเดียวกัน ซึ่งในสมัยโบราณมีชาวจีนที่แซ่ผสมอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว โดยในสมัยขงจื๊อ ลูกศิษย์ 72 คน มีกว่า 20 คนที่แซ่ผสม ซึ่งที่มาของแซ่ผสมก็มีมากมาย อาทิ จากชื่อสถานที่ ชื่อยศตำแหน่งขุนนางในอดีต หรือคำเรียกขานภาษาของชนกลุ่มน้อย

สำหรับแซ่ "จูเก่อ (诸葛)" ของขงเบ้งนี้มีความเกี่ยวพันกับแหล่งที่อยู่อาศัย โดยว่ากันว่าในอดีตเมื่อสี่พันกว่าปีก่อน ชาวจีนที่อยู่อาศัยบริเวณแม่น้ำฮวงโหต้องประสบเหตุอุทกภัยร้ายแรงอยู่เสมอ จนในที่สุดต้าอี่ว(大禹) ก็สามารถหาวิธีบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนและได้ขึ้นเป็นผู้นำ (ระหว่าง2140-1711ปีก่อนค.ศ.) ต่อเมื่อสละตำแหน่งได้ตั้งใจมอบหน้าที่ผู้นำต่อให้กับโป๋อี้แต่โป๋อี้กลับไม่ต้องการ ตำแหน่งจึงตกทอดยังลูกของต้าอี่ว คือ ฉี่ (启) ซึ่งต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์เซี่ย(ครองราชย์ระหว่าง2095-2085ปีก่อนค.ศ.) และเพื่อตอบแทนที่โป๋อี้หลีกทางให้ตน จึงแต่งตั้งบุตรโป๋อี้ขึ้นเป็นเจ้าพระยาครองแคว้นเก่อกั๋ว (葛国)

จวบช่วงปลายราชวงศ์เซี่ย (เซี่ย 2140-1711 ปีก่อนค.ศ.) อำนาจเจ้าครองแคว้นเก่อกลับตกอยู่ในมือผู้ปกครองที่ไร้คุณธรรม ไม่ใยดีสุขทุกข์ราษฎร์ขาดการเคารพทำนุบำรุงวัดแห่งบรรพชน ตรงข้ามกับ เฉิงทัง (成汤) ที่เป็นที่รักนับถืบของผู้คน ซึ่งต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์ซาง (ซาง 1711-1066 ปีก่อนค.ศ.) เมื่อเฉิงทังนำวัวแกะไปเป็นเครื่องเซ่นไหว้บูชาก็ถูกเจ้าแคว้นเก่อยึดไปดื้อๆ พอเฉิงทังทำการเพาะปลูกก็กลับถูกปล้นไปอีก เฉิงทังทนต่อความไร้ซึ่งเหตุผลของเจ้าแคว้นไม่ไหวจึงนำกำลังพลมาบุกแคว้นเก่อ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลืออย่างดีจากชาวบ้านชาวเมือง เพราะต่างหมดความศรัทธาในเจ้าครองแคว้นมานานแล้ว ชัยชนะจึงตกสู่เฉิงทังในที่สุด

ลูกหลานเจ้าครองแคว้นเก่อต่างหลบหนีเอาชีวิตรอดไปยังเมืองจูเฉิง (诸城 มณฑลซานตงในปัจจุบัน) ซึ่งเดิมทีถิ่นนี้เป็นที่อยู่อาศัยของคนแซ่เก่อมาแต่เดิม เหล่าทายาทลูกหลานอดีตเจ้าครองแคว้นเก่อจึงตัดสินใจนำชื่อเมืองมาผสมเข้าไปในแซ่เป็น จูเก่อ เพื่อให้มีความต่างกับชาวบ้านท้องถิ่นและรำลึกถึงอดีตที่ตนสืบสายเลือดเจ้าครองแคว้นมาก่อน

ส่วนแซ่โอวหยางก็มีที่มาทำนองเดียวกันคือเกี่ยวพันกับสถานที่ โดยภายหลังฉี่ก่อตั้งราชวงศ์เซี่ยขึ้นมาแล้วก็มีการสืบราชบัลลังค์ต่อมาจนถึงจักรพรรดิเส้าคัง(少康) ซึ่งพระราชโอรสองค์หนึ่งของพระองค์ อู๋อี๋ว์ (无余) ซึ่งปกครองแคว้นเย่ว์ (越 เมืองเส้าซิง มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) แต่ต่อมาถูกแคว้นฉู่ เข้ายึดครอง ลูกหลานของอู๋อี๋ว์จึงพากันอพยพหลบหนีไปถึงด้านใต้เขาโอวอี๋ว์ซาน (欧余山 เมืองอู๋ซิง มณฑลเจ้อเจียง) ซึ่งตามหลักภูมิศาสตร์ในสมัยโบราณนั้นถือว่า ด้านใต้ของภูเขาและทางเหนือของแม่น้ำเป็นลักษณะแบบหยาง ส่วนทางเหนือของภูเขาและทางใต้ของแม่น้ำเป็นแบบหยิน (ระหว่างวันด้านใต้ของภูเขาจะได้รับแดดมากกว่าทิศเหนือจึงเป็นหยาง ส่วนพื้นที่ด้านตอนเหนือของแม่น้ำเป็นที่สูงจะแห้งเพราะน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำด้านใต้ของแม่น้ำจึงมีความชุ่มชื้นกว่าเป็นหยิน) ดังนั้น รัชทายาทของอู๋อี๋ว์ที่หลบหนีมาตั้งหลักแหล่งที่อยู่ใหม่ที่บริเวณทิศใต้ของภูเขาจึงเลือกใช้แซ่ตระกูลว่า "โอวหยาง"

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040