ถึงปี 2035 โครงสร้างประชากรจีนคือ ประชากรวัยทำงานทุกๆ 3 คนต่อคนชรา 1 คน การขาดแคลนเงินประกันชราภาพ จะเป็นปัญหาน่าปวดหัวที่สุดของรัฐบาลชุดต่อๆ ไป เพราะไม่ว่าทุ่มเทกำลังทรัพย์เข้าไปมากเท่าไร ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอ
ย้อนหลังไปเมื่อปี 1980 ประเทศจีนดำเนินนโยบายวางแผนครอบครัว หรือคุมกำเนิด เคยคาดการณ์ไว้ว่า กว่าสังคมจีนจะเข้าสู่สังคมวัยชรา ก็คงต้องหลังปี 2020 แล้ว อีกทั้งมั่นใจว่า ผู้สูงอายุสามารถได้รับการดูแลจากรัฐได้ แต่ความจริงคือ จีนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 1999 ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วพากันกังวลเรื่องนี้ และมุ่งใช้นโยบายส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนประชากรนั้น นักประชากรศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์บางคนกลับเห็นว่า การที่อัตราผู้สูงอายุในจีนเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องดีสำหรับจีน ยิ่งมาเร็วยิ่งดี
แต่ความรู้สึกของประชาชนทั่วไปต่างกับผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์ซินจิงเป้าทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่าน ปรากฏว่า 70.8% กังวลว่าแก่แล้วจะไม่สามารถดูแลตัวเองได้ 74.6% เห็นว่าสถานสงเคราะห์คนชราและเงินบำเหน็จผู้สูงอายุน้อยเกินไป
พร้อมกันนั้น ผลการสำรวจครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ชาวจีนจำนวนมากยังคงรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่อวิกฤตชราภาพที่แฝงอยู่ มีเพียง 15.6% เท่านั้นที่ทราบสถานการณ์อย่างชัดเจน 80.2% รู้เล็กน้อย เมื่อเทียบกับชาวอเมริกันซึ่งมี 85% เลือกที่จะใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ใน
บ้านของตัวเองแล้ว ชาวปักกิ่งมีเพียง 49.5% เท่านั้นเลือกที่จะอยู่บ้าน ความจริงใครๆ ก็อยากอยู่กับลูก แต่ชาวจีนส่วนใหญ่มีลูกเพียงคนเดียว ซึ่งหมายความว่า ต่อไป สามีภรรยาคู่หนึ่งต้องดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 4 คน เพราะฉะนั้น อยู่บ้านเพื่อให้ลูกดูแลจึงไม่ค่อยเหมาะกับครอบครัวชาวจีน
ตอนที่รัฐรณรงค์ให้ปฏิบัติตามโยบายวางแผนครอบครัว ประชาชนก็เคยฝากความหวังไว้กับรัฐบาลว่า เมื่อแก่แล้วรัฐจะดูแล 40.5% จึงหันมาพึ่งระบบประกันชราภาพหรือประกันสังคม และ 10% เลือกที่จะเข้าสถานสงเคราะห์คนชรา แต่สภาพความเป็นจริงคือ จนถึงสิ้นปี 2010 สถานสงเคราะห์คนชราทั่วประเทศจีนมีเตียงทั้งหมด 3,149,000 เตียง เป็นเพียง 1.77% ของยอดผู้สูงอายุ และสถิติจากหน่วยงานพลเรือนทั่วประเทศแสดงว่า มีเพียงมณฑลเจียงซีและกรุงปักกิ่งเท่านั้นที่มีเตียงสำหรับผู้สูงอายุเฉลี่ยแล้วมากกว่า 30 เตียงต่อ 1000 คน และมี 6 มณฑล ที่ผู้สูงอายุ 1,000 คนมีเตียงในสถานสงเคราะห์คนชราไม่ถึง 10 เตียง