ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีประชากรวัยชราเกิน 100 ล้านคน และเพิ่มขึ้นในอัตรากว่า 3% ต่อปี ซึ่งเป็น 5 เท่าของอัตราเติบโตถัวเฉลี่ยของประชากรจีน คาดว่าจนถึงปี 2015 จำนวนผู้สูงอายุจะเป็น 221 ล้านคน คิดเป็น 16% ของยอดจำนวนประชากร และจนถึงปี 2020 จำนวนนี้จะเพิ่มเป็น 243 ล้านคน เป็น 18% ของยอดประชากร เมื่อจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาต่างๆ เช่นการรักษาพยาบาล การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนปัญหาทางจิตของบรรดาผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจและพยายามหาทางแก้ไขแต่เนิ่นๆ
ปัจจุบัน ครอบครัวชาวจีนกว่า 50% เหลือแต่คนแก่อยู่ที่บ้าน ไม่มีลูกอยู่ด้วย ซึ่งเรียกว่าครอบครัว"รังเปล่า"(empty nest) และในเมืองใหญ่อัตรานี้จะเกิน 70% ด้วยซ้ำ ในแผนพัฒนาการประกันชราภาพของจีนระยะ 5 ปีฉบับที่ 12 ซึ่งกำหนดโดยคณะรัฐมนตรีจีนระบุไว้ว่า ในขณะที่สังคมจีนเข้าสู่สังคมชราภาพนั้นครอบครัวมีขนาดเล็กลงและครอบครัว"รังเปล่า"เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ความต้องการที่มีต่อการประกันชราภาพและการบริการผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความรู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยวของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กันตามลำพัง ตลอดจนปัญหาการดูแลผู้สูงอายุ เป็นปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน
เมื่อกล่าวถึงเรื่องประกันสังคม ยกตัวอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับว่ามีระบบประกันสังคมที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก ถึงแม้ได้เลื่อนอายุเกษียณครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาประกันชราภาพเช่นกัน เมื่อปี 2005 นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวว่า ถึงปี 2018 เงินประกันชราภาพของสหรัฐฯ จะมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ และรายจ่ายจะเพิ่มขึ้นทุกปี จนถึงปี 2042 เงินประกันชราภาพจะถูกใช้จนหมดเกลี้ยง ระบบนี้จะล้มละลาย ปี 2010 หลายมลรัฐพากันยอมรับว่า เงินประกันชราภาพที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนนั้น จะแบกรับต่อไปไม่ไหวแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ต้องลดสวัสดิการสังคม และรัฐสภาเสนอให้เลื่อนเวลาเกษียณไปถึงอายุ 70 ปี ซึ่งย่อมจะได้รับความไม่พอใจหรือการประท้วงจากประชาชน กระทั่งก่อให้เกิดความวุุ่นวายในสังคม เช่น เมื่อปี 2011 ภายหลังรัฐบาลอังกฤษประกาศใช้นโยบายปฏิรูปเงินบำเหน็จผู้สูงอายุ มีแรงงานมากกว่า 2 ล้านคนนัดหยุดงานเพื่อประท้วง