เทศกาลตวนอู่เจี๋ย หรือเทศกาลบ๊ะจ่างตรงกับวันขึ้นห้าค่ำเดือนห้าตามปฏิทิตจันทรคติจีน ระลึกถึงการจากไปของชวีหยวน กวีเอกผู้รักชาติ ที่ตามประเพณีนิยมแต่โบราณจะทำบ๊ะจ่างไหว้ ดื่มเหล้าสงหวง ทานไข่เค็ม จัดแข่งเรือมังกร รวมถึงแขวนพืชสมุนไพรจีนไว้ที่ประตูตามความเชื่อที่ว่าช่วยขับไล่สิ่งอัปมงคลและปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ
ตวนอู่เจี๋ยถือเป็นหนึ่งในสามเทศกาลใหญ่สำคัญของจีน รวมกับตรุษจีนและไหว้พระจันทร์ ที่เมื่อเทศกาลตวนอู่เจี๋ยได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดตามกฎหมายจีนนับแต่ปี 2008 เป็นต้นมา การมอบบ๊ะจ่างบรรจุกล่องของขวัญสวยหรูเป็นของกำนัลให้แก่กันจึงยิ่งมีสำคัญมากยิ่งขึ้นตามอย่างขนมไหว้พระจันทร์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตลาดระดับบนของธุรกิจบ๊ะจ่างมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ราว 20% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000-1,200 ล้านหยวน ซึ่งโรงแรมมีระดับหลายแห่งต่างมองเห็นถึงผลกำไรจากตลาดบ๊ะจ่างระดับบนและเริ่มหันมาผลิตบ๊ะจ่างออกวางจำหน่าย อาทิ บ๊ะจ่างไส้ไก่หอยเป้าฮื้อของโรงแรมระดับห้าดาวแห่งหนึ่งในย่านการค้าหวังฝูจิ่งของปักกิ่ง มีราคาจำหน่ายสูงถึงลูกละ 120 หยวน
สำหรับปีนี้ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับธุรกิจการค้าบ๊ะจ่าง เพราะเทศกาลบ๊ะจ่างตรงกับวันที่ 23 มิถุนายน ช้ากว่าปีก่อนที่ตรงกับวันที่ 6 มิถุนายนถึงเกือบครึ่งเดือน การจัดบูธวางขายที่เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ทำให้ผลของยอดขายเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันตามปฏิทินจันทรคติพบว่ามีการเติบโตขึ้นราว 30%
ยิ่งในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้าเทศกาล ยอดขายบ๊ะจ่างพร้อมกล่องของขวัญยิ่งขายดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งการซื้อขายทางอินเตอร์เน็ตนับเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ตลาดธุรกิจนี้เติบโตขึ้น บ๊ะจ่างทางตอนใต้ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงขายไปถึงเมืองลาซ่าของทิเบต ประกอบกับรายการสารคดีทางโทรทัศน์ชุด "จีนบนปลายลิ้น" ตอนบ๊ะจ่าง ก็ช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมอยากลิ้มลองรสชาติบ๊ะจ่างเจ้าที่ถ่ายทำในรายการ ส่งให้ยอดมูลค่าการขายบ๊ะจ่างในปีนี้เติบโตขึ้นอย่างมาก
บ๊ะจ่างหลากไส้ อาทิ ไส้ธัญพืช ไส้ชาเขียวพุทรา ไส้หมูเห็ดหอม
ที่มีหน้าตาและสีสันชวนรับประทานผลิตออกมาเพื่อยั่วน้ำลายและเรียกเงินในกระเป๋าของลูกค้า
การขายบ๊ะจ่างพร้อมบรรจุภัณฑ์ สำหรับตลาดจีนทางเหนือและใต้มีความแตกต่างกันกล่าวคือ ตลาดจีนทางเหนือจะเป็นการเติบโตไปในทิศทางอย่างการขายขนมไหว้พระจันทร์ ที่ให้ความสำคัญกับความสวยงามหรูหราของหีบห่อ เนื่องจากโดยปกติทั่วไปแล้วชาวจีนทางใต้แม้ไม่ใช่ช่วงเทศกาลก็มีการรับประทานบ๊ะจ่างผิดกับทางเหนือที่จะนิยมทานตามหน้าเทศกาล และมอบให้กันเป็นของขวัญของกำนัลจึงให้ความสำคัญในเรื่องของหีบห่อมากกว่า
ทำให้หลายคนเห็นแล้วอดรำพึงไม่ได้ว่า เทศกาลไหว้พระจันทร์มาเร็วขนาดนี้เชียวหรือ เพราะเหมือนกับเพียงแค่เปลี่ยนเอากล่องขนมไหว้พระจันทร์มาใส่บ๊ะจ่างเข้าไปแทน และการใช้บ๊ะจ่างเป็นแกนดึงเอาของอื่นมารวมจัดขายเป็นชุดเพื่อเพิ่มมูลค่าก็เป็นกลยุทธทางการตลาดที่เจริญรอยตามอย่างขนมไหว้พระจันทร์
บ๊ะจ่างภายใต้เงาจางๆ ของขนมไหว้พระจันทร์
(ขวา) ชุดของขวัญที่มีสนนราคาจำหน่ายสูงถึง 1,880 หยวน
ตัวอย่าง "ชุดของขวัญบ๊ะจ่าง" ของบริษัทผลิตขนมและของหวานตำรับชาววัง ที่เป็นตะกร้าปิ่นโต 3 ชั้นแบบโบราณ ที่มีสนนราคาสูงถึง 1,880 หยวน ชั้นแรกประกอบด้วย บ๊ะจ่าง 24 ลูก6 รสชาติ ชั้นสองเป็นขนมเปี๊ยะห้ามงคล 1 กล่อง ใบชาหนึ่งกระบอก และชามพร้อมฝาปิดหนึ่งใบ ชั้นสามเป็นสุราแช่หรือไวน์ข้าวขึ้นชื่อของเมืองเส้าซิงมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งราคาชุดของขวัญบ๊ะจ่างแสนแพงนี้ เป็นการมุ่งแสวงผลกำไรอย่างเห็นได้ชัดของผู้ค้า แต่ถ้ามองในมุมกลับก็เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อบางกลุ่มด้วยเช่นกัน ที่ต้องการสั่งซื้อเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับหัวหน้าหรือลูกค้ารายสำคัญของบริษัท
โดยหลายปีก่อนขนมไหว้พระจันทร์มีราคาสูงกว่ามากมีตัวอย่างถึงเกือบหมื่นหยวนด้วยหีบห่อที่หรูหรา หรือวัตถุดิบที่ใช้ทำไส้เป็นของดีมีราคาแพง ผนวกกับการจับสินค้าอื่นมาเข้าชุดขายร่วม ทำให้ทางการจีนได้ออกกฎคุมเข้มในเรื่องบรรจุภัณฑ์ของขนมไหว้พระจันทร์ และห้ามนำสินค้าอื่นใดมารวมขายพร้อมกับขนม ซึ่งสำหรับสินค้าอื่นในลักษณะทำนองนี้ยังคงไม่มีมาตรการคุมเข้มโดยตรง
แต่มีการออกข้อกำหนดในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ของอาหารที่ได้มาตรฐาน 3 ประการ ได้แก่ จำนวนหีบห่อบรรจุภัณฑ์ต้องไม่เกิน 3 ชั้น อัตราช่องว่างต้องไม่เกิน 60% และต้นทุนของบรรจุภัณฑ์ต้องไม่สูงเกินกว่า 20 % ของราคาสินค้าขายปลีก ตัวอย่างเช่น ราคาต้นทุนของบ๊ะจ่างอยู่ที่ 3-5 หยวน ราคาขายปลีกก็จะไม่เกิน 10 หยวน หากสมมติให้หนึ่งกล่องของขวัญบรรจุบ๊ะจ่าง 10 ลูก ต้นทุนของบรรจุภํณฑ์ก็ไม่ควรเกินกว่า 20 หยวน หากเกินถือว่าเป็นการบรรจุหีบห่อที่ไม่ได้มาตรฐานฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府