ขุนเขาและสายน้ำแห่ง "กุ้ยหลิน" งามล้ำเป็นหนึ่งในใต้หล้า
ขุนเขาและสายน้ำแห่ง "หยางซั่ว" งามงดเป็นหนึ่งในกุ้ยหลิน
เมืองกุ้ยหลิน เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี(กวางสี) ได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับในเรื่องวิวทิวทัศน์ธรรมชาติที่งดงามเป็นที่สุด ซึ่งอำเภอหยางซั่ว ตั้งอยู่ห่างจากเมืองกุ้ยหลินไปทางใต้ 65 กิโลเมตร มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า 1,400 ปี และเป็นที่นิยมชมชอบอย่างมากของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตก ที่เรียกว่าเดินไปตามถนนหนทางอันเก่าแก่ของหยางซั่ว เป็นต้องได้สวนกับฝรั่งหัวแดง จมูกโด่ง ตาสีฟ้า จึงไม่น่าแปลกใจหากพ่อเฒ่าแม่แก่ทั้งหลายจะสามารถพูดภาษาอังกฤษทักทายประโยคทั่วไปได้ด้วย และชาวต่างชาติเหล่านี้ก็มิใช่อยู่ในสถานะนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาทักแป๊บๆ แล้วก็จรจากหายหน้าไป แต่พวกเขากลับเลือกลงหลักปักฐานอยู่อาศัยกันที่นี่เลย ด้วยเพราะต้องมนต์เสน่ห์ที่งามเป็นหนึ่งในกุ้ยหลินของหยางซั่วเข้าเต็มเปา เหมือนดังหนุ่มใหญ่วัย 40 ต้นๆ นามว่า Ian คนนี้
Ian หรือในชื่อจีนว่า "เฟิงจื่ออิง" สถาปนิกชาวแอฟริกาใต้
ผู้หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมจีน จัดการเช่าซากบ้านโบราณยุคราชวงศ์ชิงในอำเภอหยางซั่วจำนวน 5 หลัง
เป็นระยะเวลา 20 ปี เพื่อบูรณะความงามในสิ่งปลูกสร้างให้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นใหม่
เฟิงจื่ออิง (疯子鹰 อินทรีย์บ้า) เป็นชื่อที่เพื่อนชาวจีนตั้งให้เขา เพราะต่างเห็นว่าเขามีไอเดียความคิดที่แปลกแหวกแนว ซึ่งตัวเขาเองก็ชอบชื่อนี้ โดยย้อนหลังกลับไปเมื่อราวสิบปีก่อน สถาปนิกหนุ่มใหญ่จากแอฟริกาใต้นามว่า Ian ได้ลาออกจากอาชีพสถาปนิกที่ทำอยู่มาสมัครเข้าทำงานกับบริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่อังกฤษ และได้รับผิดชอบในส่วนตลาดการท่องเที่ยวที่จีน ทำให้เขาได้มีโอกาสเดินทางท่องไปทั่วประเทศจีนถึงกว่า 20 เมือง หนึ่งในนั้นก็คือหมู่บ้านไป๋ซาเจิ้น อำเภอหยางซั่วแห่งนี้โดยบังเอิญในปี 2002 เขาว่าวันนั้นตนและเพื่อนได้ขี่จักรยานผ่านไปหมู่บ้านเก่าแห่งนี้ แล้วก็เหมือนกับต้องอยู่ในมนต์สะกดแห่งความงามของท้องทุ่งและแสงสีทอง โดยเฉพาะบ้านอิฐเก่าๆ เหล่านั้น สะกดเขาให้ตรึงอยู่กับที่ ใจเขาคิดหากได้อาศัยอยู่ในบ้านแบบนี้ก็คงจะดีไม่น้อย เขาหลงใหลในเสน่ห์ของบ้านเก่าๆ ที่สร้างขึ้นจากอิฐก้อนเทาๆดำๆ เรียงซ้อนกันเพียงแรกพบ เมื่อสอบถามก็ได้ความว่าบ้านเก่าเหล่านี้สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง มีอายุเกือบร้อยปีแล้ว ปัจจุบันถูกทิ้งร้างไร้คนเหลียวแล
เพราะมีความประทับใจลึกซึ้ง ทำให้เขาเกิดความเสียดายมาก อยากฟื้นชีวิตให้กับความงามอันทรงคุณค่าเหล่านี้ จนเมื่อสองสามปีก่อน เขาตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำและมาทำสัญญาเช่าบ้านโบราณในหยางซั่วจำนวน 5 หลัง เป็นระยะเวลา 20 ปี เพื่อทำการบูรณะคืนชีวิตให้กับความเสื่อมทรุดแห่งซากตึกนั้น โดยเขาได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญด้วย โดยทุ่มเงินกว่าสี่หมื่นหยวนเพื่อพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียจากบ้านพัก ปัจจุบันซากตึกเก่า 2 หลัง ความสูง 2 ชั้นได้กลับมามีชีวิตชีวาใหม่ในฐานะโรงแรมที่พัก เพื่อต้อนรับให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสถึงความงามตามธรรมชาติและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของหยางซั่วไปได้พร้อมกัน
จากซากตึกโบราณ 2 หลังที่ดูรกร้างไร้ค่าในสายตาชาวบ้านทั่วไป ปัจจุบันถูกบูรณะเปิดเป็นโรงแรม
ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อที่เขาจะนำเงินรายได้ไปบูรณะซ่อมแซมตึกเก่าอีก 3 หลังที่เช่าไว้
แนวคิดเชิงอนุรักษ์ของเขา คือ การบูรณะของเก่าให้ฟื้นดีดังเดิม ภายหลังจากเขาได้ตัดสินใจเช่าซากตึกเก่าที่ใกล้จะพังไว้ แล้วก็ทำการบูรณะซ่อมแซมส่วนหลังคาและบ้านโบราณสองชั้นนั้นใหม่ และแล้วความฝันของเขาที่ว่าอยากจะได้เข้าไปอยู่ในบ้านแบบนี้ก็เป็นจริงขึ้น โดยพวกชาวบ้านที่มาช่วยทำการซ่อมแซมเล่าว่า วัสดุที่เขาสรรหามาใช้เสริมแต่งนั้นล้วนเป็นของเก่าทั้งสิ้น บางอย่างไปเก็บเอาของที่คนอื่นทิ้งไม่ต้องการแล้วด้วยซ้ำก็ยังเอามาใช้
"เฟิงจื่ออิง" ฝรั่งใจอนุรักษ์คนนี้ว่าที่ทำอย่างนี้เพราะมีเหตุผลในใจอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง) เขาต้องการบูรณะของเก่าให้เหมือนเก่า ต้องการรักษากลิ่นไอความเป็นบ้านเก่าแบบจีนเอาไว้ สอง) ยึดตามคอนเซปต์รักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
ดังนั้น ที่เขาเลือกใช้ของเก่าไม่ใช่เพราะไม่อยากจ่ายเงินซื้อใหม่ แต่เพราะหากเขาซื้อไม้แผ่นใหม่ก็เท่ากับว่าจะต้องมีต้นไม้ต้นใหม่ถูกตัดโค่นลงไปอีก ซึ่งความคิดรักษาสิ่งแวดล้อมนี้ ยังแสดงออกในเรื่องการให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียของที่พัก โดยเขาได้ทำการวางท่อระบายน้ำทิ้งเสียใหม่ จากเดิมที่อยู่บนพื้นดินก็เอาลงไว้ใต้ดิน ให้น้ำเสียที่ไหลมาซึมผ่านตัวกรองผ่านชั้นดินลงไปเรื่อยๆ และจนท้ายที่สุดน้ำนั้นก็จะกลับไปสู่พื้นที่เพาะปลูก
"เฟิงจื่ออิง" อดีตสถาปนิกหนุ่มใหญ่กล่าวต่อว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เดิมทีมีความคิดที่ว่า พอมีเงินแล้วก็จะนำไปปลูกเรือนหลังใหม่อยู่ หรือสร้างบ้านหลังใหม่ให้เป็นเรือนหอลูกหลาน ไม่มีใครคิดที่จะนำเงินที่ได้กลับไปซ่อมแซมบ้านเก่าที่ทรุดโทรมเลย ทั้งๆ ที่บ้านหลังนั้นเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของบรรพบุรุษที่ไม่อาจคัดลอกกันได้อีก คนรุ่นหลังควรให้ความสำคัญรักษาไว้ให้คงอยู่สืบทอดสู่รุ่นต่อๆ ไป
ด้วยเหตุนี้บ้านโบราณ 2 หลังที่ได้รับการซ่อมบำรุงเสร็จแล้ว เขาจึงแบ่งส่วนหนึ่งไว้เป็นห้องสำหรับจัดแสดงของเก่าด้วย โดยห้องหนึ่งใช้จัดแสดงภาพวาดสีน้ำมันศิลปะแบบชาวตะวันตก ส่วนอีกห้องได้จัดวางเครื่องเรือนเครื่องใช้เก่าๆ ของชาวบ้าน อาทิ เครื่องสีข้าว งอบ เสื้อกันฝนจากหญ้าแห้ง ตู้กับข้าว เป็นต้น
เรือนเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมหลังได้รับการซ่อมแซม
ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นไอของจีนโบราณ ทั้งในส่วนของลานบ้าน
บานกรอบหน้าต่างไม้สลัก เครื่องเรือนของใช้แบบจีน เป็นต้น
เขาหวังว่าวิถีทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมแบบเปิดของเขานี้ จะได้รับการยอมรับและนำไปปฏิบัติตามกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านว่า บ้านเก่าทำนองนี้มีอยู่ในหมู่บ้านเกือบ 40 หลัง มีอายุเก่าแก่กว่าแปดเก้าสิบปีแล้ว ส่วนใหญ่ก็ถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการใส่ใจอย่างที่ว่า และมีไม่น้อยที่มีสภาพง่อนแง่นพร้อมจะพังทลายลงเต็มที
หลังจากฝรั่งตาน้ำข้าวอย่าง "เฟิงจื่ออิง" มาเช่าไปทำนุบำรุงเสียใหม่จนกลับมามีชีวิตชีวาน่าอยู่อาศัย ชาวบ้านต่างค่อยๆ เริ่มตระหนักถึงคุณค่าของบ้านเก่าที่ดูไร้ค่าเหล่านั้นแล้ว บางรายคิดที่จะทำการตกแต่งบ้านเก่าของตนตามอย่างบ้าง และหากใครคิดสร้างบ้านใหม่ขึ้นก็เลือกที่จะจัดวางระบบท่อระบายน้ำเสียตามอย่างเขา เพื่อช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับท้องถิ่น นับเป็นการสอนชาวบ้านให้ใส่ใจในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการลงมือทำให้ดูเป็นตัวอย่างของเขาประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าชื่นชมและน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府