"อย่ากลัวที่จะเริ่ม"
คำให้กำลังใจนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ย่อท้อต่อชะตากรรมของตนเอง เพื่อเติมความฝันใฝ่ให้เป็นจริง เพราะไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าเรากล้าที่จะลงมือทำ
เมื่อได้เริ่มต้นแล้ว ก็จะรู้เองว่าสิ่งที่เราตั้งใจนั้นไกลเกินเอื้อม หรืออยู่แค่ปลายมือ สิ่งสำคัญที่สุดคือความอดทน ไม่ย่อท้อ ไม่มีใครหัดขี่จักรยานแล้วไม่ล้ม มีแผลฟกช้ำตามเข่าและข้อศอก เช่นเดียวกับแม่ครัว ถ้าใครไม่เคยถูกมีดบาด ไม่มีร่องรอยน้ำมันกระเซนลวกหลังมือและข้อแขน ก็ไม่น่าจะทำอาหารอร่อย รอยแผลเป็นเหล่านั้นคือหลักไมล์แห่งประสบการณ์ที่ฉายให้เห็นความชำนาญ และการฝึกฝนที่หนักหนาสาหัส
และเมื่อเริ่มแล้วก็จะต้องจริงจัง มุ่งมั่นในสิ่งนั้นไม่วอกแวก ใส่ใจกับการงานที่ทำอย่างเต็มที่ และสำคัญที่สุดคือ อย่าดูถูกความสามารถของตนเอง และไม่มีอะไรที่ด้อยค่ากว่ากันในการกระทำอะไรสักอย่าง คนกวาดถนนกับนายธนาคารก็ไม่ต่างกัน หากทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างสมบูรณ์
เช่นเดียวกับ "คนขายขิง" ในตลาดสดของกรุงปักกิ่งที่กำลังโด่งดัง เนื่องจากว่าอยู่ดีๆ เขาก็ลุกขึ้นมาเขียนชีวประวัติของตัวเองกลางตลาด โดยอาศัยยามเช้าตรู่ที่ลูกค้ายังไม่ออกจากบ้านมาจับจ่าย เขาจะรีบตั้งแผงให้เสร็จ แล้วก็จะจมไปกับพจนานุกรมเล่มเล็กๆ เก่าๆ ที่ยืมลูกชายคนเล็กมา เปิดทีละหน้า ไล่ดูทีละตัว หาคำที่มีความหมายตรงกับใจของเขา แล้วก็จดมันลงในสมุดบันทึกที่เขาพกติดตัวไหนมาไหนด้วยตลอด
ทุกวันดำเนินไปเช่นนี้ ตัวหนังสือของเขาที่หัดเขียนลงในสมุดนั้นราวกับต้องแกะมันขึ้นมาจากแผ่นหินขนาดใหญ่ เพราะทุกตัวล้วนมีความยากเย็นและต้องผ่านความพยายามในการเขียนซ้ำไปซ้ำมาจนกลายเป็นถ้อยคำ และเพิ่มมากขึ้นเป็นประโยค เป็นเรื่องราว ซึ่งปัจจุบันนี้มากถึง 200,000 ตัวอักษร
"คนขายขิง" คนนี้ไม่เพียงต้องต่อสู้กับความยากในการลุกขึ้นมาเรียนรู้ภาษาจีนอีกครั้งตอนตัวเองอายุเกือบ 50 ปี และมีฐานความรู้เดิมเพียงแค่ระดับประถม 4 เท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับสายตาของเพื่อนพ้องชาวตลาดว่าเขาเป็นคนเพี้ยน เดิมเคยร้องเรียกลูกค้าวุ่นวาย แต่เดียวนี้กลับกลายเป็นเงียบงึม งุดหน้าจดอะไรยุกยิกอยู่ไม่ขาด นอกจากนี้ยังต้องผจญกับปัญหาครอบครัว เพราะภรรยาก็ไม่เข้าใจว่าคนหาเช้ากินค่ำอย่างเขาฝันที่จะเขียนหนังสือไปทำไม สู้เอาเวลาไปตะขายของแข่งกับเจ้าอื่นๆ ไม่ให้ยอดตกไม่ดีกว่าหรือ ซ้ำยังเย้ยว่าชีวประวัติของคนบ้านนอกคอกนาที่เป็นแรงงานอพยพสามัญๆ เช่นนี้ใครเขาจะมาอ่านกัน ฝันเกินตัวไปหรือเปล่า และไม่ได้ว่าเปล่า ภรรยาโมโหร้ายของเขาถึงกับเอาสมุดบันทึกของเขาไปฉีกทิ้งเสียอีกด้วย
"ไม่ท้อที่จะเริ่มต้นใหม่" คนขายขิงไม่แยแสอคติต่างๆ รอบกาย เพราะเขาเชื่อมั่นว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้คือ "ความสุข" แม้สมุดเล่มแรกจะกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่สิ่งที่เขาได้เริ่มไปแล้วทั้งหมดอยู่ในสมอง เมื่อลงมือเขียนขึ้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นการทวนของเดิม ยิ่งทำให้เกิดการขัดเกลามากขึ้น ตัวหนังสืออ่านง่ายขึ้น เรื่องราวประติดประต่อมากขึ้น
จนกระทั่งสื่อต่างๆ ในประเทศจีนพากันรายงานความพยายามของ "ลุงโง่ย้ายภูเขา" ที่เพียรเขียนหนังสืออยู่หลังแผงขายขิงมานานปีออกไปให้สาธารณชนรับรู้นั่นแหละ เพื่อนชาวตลาดและภรรยาของเขาจึงเข้าใจ จนกลับกลายเป็นความภาคภูมิใจที่ได้รู้จักกับคนที่ไม่ย่อท้อต่อชะตาชีวิตเช่นเขา และแม้กระทั่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคน
คนที่ไม่กลัวที่จะเริ่มต้นและมุ่งมั่นฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จเช่นนี้เกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่และทุกบริบทสังคม ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เจริญหรืออ่อนด้อยพัฒนา และไม่ว่าสังคมจะแตกต่างกันเช่นไร
ในอเมริกาที่ว่าเจริญก้าวหน้าและระดับการศึกษาสูงก็ยังมีคนที่ไม่รู้หนังสืออยู่อีกมาก ทั้งยังต้องซุกซ่อนความไม่รู้ของตนเองไว้อย่างอับอาย จนเมื่อชายชราอายุราวหนึ่งศตวรรษ ลุกขึ้นมาเปิดเผยชีวิตของตัวเองโดยการเริ่มเรียนหนังสือใหม่อีกครั้งตอนอายุ 92 ปี และสามารถเขียนและพิมพ์เป็นเล่มได้เมื่ออายุ 99 ปี
คุณปู่จากรัฐโร้ด ไอร์แลนด์ กลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืนและเป็นกำลังใจให้กับคนไม่รู้หนังสือทั่วประเทศ หลังจากหนังสือชื่อ " In a fisherman's Language" ที่มีความหนา 80 หน้านี้วางจำหน่าย และกลายเป็นหนังสือแบบเรียนชั้นประถมทุกแห่ง
หนังสือได้บอกถึงความหดหู่และเศร้าใจที่ต้องปิดใครต่อใครว่าไม่รู้หนังสือ และยังให้กำลังใจได้อย่างเหลือหลายว่า "อย่ากลัวที่จะเริ่ม" เพราะขนาดคุณลุงอายุมากขนาดนี้ยังสามารถเรียนเขียนอ่านได้
อีกทั้งพื้นเพความรู้ของคุณปู่รายนี้ก็ไม่ได้ต่างจาก "คนขายขิง" ที่เมืองจีนนัก เพราะได้มีโอกาสร่ำเรียนแค่ประถม 3 จากนั้นก็ใช้ชีวิตอยู่กับงานหนักงานเหนื่อยที่อักษรและภาษาไม่ได้มีอิทธิพลต่อการทำงานหาเลี้ยงชีพ
จนกระทั่งหลังวัยเกษียณหลายสิบปี เมื่อคุณปู่เริ่มเข้าใจตัวอักษรบนหน้ากระดาษ และได้อ่านงานอัตชีวประวัติของนักเขียนชราชาวอเมริกันผิวดำที่มีปู่เป็นทาส ซึ่งเริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุ 98 ปี จนในที่สุดออกหนังสือของตัวเองได้เมื่ออายุ 103 ปี
คุณปู่จึงมีแรงบันดาลใจที่จะลงมือเรียนอีกครั้ง เพราะอย่างน้อยตัวเองก็เริ่มช้ากว่านักเขียนคนนั้นตั้ง 6 ปี
ความพยายามอย่างจริงจังนี้แสดงให้เห็นว่า "ความฝันไม่มีวันหมดอายุ" จริงๆ
เช่นเดียวกับที่เมืองไทย "นักเขียนแม่ครัว" อายุ 54 ปี ผู้มีอาชีพหลักเป็นแม่ค้าในตลาดสด แม้จะไม่ได้แอบเขียนอยู่ใต้แผง เหมือนคนขายขิง แม้จะอ่านออกเขียนได้กว่าคุณปู่นักจับล็อสเตอร์ชาวอเมริกัน แต่แม่ค้าคนนี้ก็ไม่เคยหยิบจับคอมพิวเตอร์มาก่อนเลยในชีวิต และแอบเคาะ เขียน ค้นหาจนตาลายกับแป้นคีย์บอร์ดที่บ้าน จนพิมพ์หนังสือของตัวเองออกมาแล้วถึง 2 เล่มด้วยกัน คือ "ฝันทีละบรรทัด" และ "คนก้นครัว"
เมื่อครั้งแว่วว่าแม่ค้าเขียนหนังสืออยู่ที่บ้านหลังเลิกงานทุกวัน เพื่อนในตลาดก็ถึงกับร่ำลือกันยกใหญ่ว่าจะเขียนไปทำไม และเขียนได้จริงหรือ จนหนังสือเล่มแรกออกวางจำหน่าย แม่ค้านำหนังสือของตัวเองไปให้เพื่อนในตลาดดู คนก็พากันมุง และมีเสียงแว่วเล็ดลอดมาว่า "เขียนหนังสือทำนายฝันเหรอ" เพราะเห็นว่ามีคำว่า "ฝัน" ห้อยท้ายอยู่ โดยหารู้ไม่ว่านี่คือ "นวนิยาย" ที่แปลกใหม่อีกเล่มหนึ่งของเมืองไทย
และยิ่งร่ำลือกันหนักเข้าไปอีก เมื่อรายการโทรทัศน์มาถ่ายทำ ภาพถ่ายและบทสัมภาษณ์ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน บ้างก็ซุบซิบว่า "เขียนดีอย่างนี้เชียวหรือ" บางก็ว่า "เขียนเองหรือเปล่า"
แม่ค้าไม่ครหามุ่งหน้าสานฝันของตัวเองต่อไปจนในที่สุดหนังสือเล่มที่สองก็ปรากฏบนแผงอีกครั้ง คราวนี้เล่มหนากว่าเดิมถึงสองเท่าตัว รูปแบบการเขียนและการใช้คำก็พัฒนาขึ้นไปตามวันเวลาที่มุมานะมานาน จนเป็นที่รับรู้กันเลยออกจากตลาดไปไกล
คราวนี้ก็ยังร่ำลือกันอีกว่า "แกกล้าที่จะฝันเนอะ" "ไม่มีใครแก่เกินเรียนเลย"
นอกจากแม่ค้าจะต้องต่อสู้กับการเรียบเรียงภาษาที่ฝุ่นจับเกรอะกรัง เพราะร้างค้างคาไว้ตั้งแต่ชั้นประถม 4 ให้ใช้งานได้แล้ว ยังต้องฟันฝ่ากับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีระบบซับซ้อนมากกว่าที่คิดก่อนลงมือหัด ไหนจะตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ ไหนจะวิธีพิมพ์ ไหนจะวิธีใช้งาน ไหนจะหัดใช้มายสเปซ เอ็มเอสเอ็น และเฟซบุ๊ก แม่ค้าก็ขยันเรียนทีละนิดด้วยตัวเอง จนเริ่มคล่องแคล่วขึ้น
แสดงให้เห็นอีกหนึ่ง "ความฝัน" ที่ไม่มีวันหมดอายุ
นักเขียนสามคนนี้อยู่คนละมุมโลก มีพื้นฐานประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน มีสังคมรายรอบคนละแบบ แต่ก็พ้องกันต้องตรงกันในเรื่องการ "ไม่กลัวที่จะเริ่มต้น" ไม่หวั่นที่จะ "ลงมือทำ" และไม่ท้อเมื่อทำแล้ว "มีความสุข"
แล้วในที่สุด "ความฝัน" ของเขาเหล่านี้ ก็ได้รับการบอกต่อในรูปแบบหนังสือ รูปแบบอื่นๆ จากสื่อมวลชนที่มองเห็นว่าพวกเขาคือ "แรงบันดาลใจ" ที่จะให้ใครหลายต่อหลายคนมีกำลังใจที่จะ "ทำในสิ่งที่รัก" และ "กล้าในสิ่งที่ฝัน"
ซึ่งไม่จำเป็นว่าความพยายามของทุกคนจะต้องมีผลลัพธ์ที่ความโด่งดัง มีคนรู้จัก มีหนังสือของตัวเอง มีสื่อมวลชนเขียนหรือไปทำข่าว แต่ทั้งสามตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงโดยไม่เกรงกลัวต่ออุปสรรคใดๆ ไม่ว่าจะเป็นอายุ ฐานะทางสังคม หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ เมื่อได้ลงมือทำในสิ่งที่ตนเองรักอย่างสุดหัวใจ
พัลลภ สามสี