นอกจากเสียงสะท้อนจากวงวรรณกรรมจีนแล้ว เราหันมาดูว่า ในสายตาชาวต่างชาติโม่ เหยียนเป็นคนแบบไหน สำหรับโกแรน มัลควิสต์ (Goran Malmqvist) ผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษาและหนึ่งในคณะกรรมการโนเบลสาขาวรรณกรรมของสวีเดน และเป็นผู้ที่เข้าใจภาษาจีนเพียงหนึ่งเดียวในสมาชิกคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจากจำนวน 18 คน เขาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ผลงานของโม่ เหยียนมีความคิดสร้างสรรค์และสนุกสนานมาก เขาเชี่ยวชาญในการเล่านิทาน แต่นวนิยายของเขายาวมาก ถ้าสามารถสั้นกว่านี้จะดียิ่งขึ้น เขาเคยพูดกับโม่ เหยียนว่า "นวนิยายของคุณยาวเกินไป คุณเขียนมากเกินไป" โม่ เหยียนฟังแล้วตอบกลับใสว่า "ผมทราบครับ แต่เพราะว่าผมเชี่ยวชาญในการเล่านิทานมาก เมื่อเริ่มต้นแล้วก็จะเล่าเรื่อยๆ จนจบไม่ได้" นายโกแรน มัลควิสต์เห็นว่า การคว้า"โนเบลสาขาวรรณกรรม" ของโม่เหยียนครั้งนี้จะช่วยให้ผลงานวรรณกรรมของจีนเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั่วโลก
ส่วนเฉิน อันน่า นักแปลชาวสวีเดน ลูกศิษย์ของโกแรน มัลควิสต์บอกว่า โม่เหยียนเป็นคนพูดน้อย แต่ตลก มีอารมณ์สนุกสนาน แม้ว่าเล่านิทานของจีน แต่ผู้อ่านชาวตะวันตกก็สามารถเข้าใจได้ง่าย ซึ่งโม่เหยียนพูดถึงนิสัยของตัวเองเรื่องนี้ว่า มีเพียงแต่ในผลงานเขียนเท่านั้น จึงจะแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเต็มที่ กล้าใช้ถ้อยคำที่ปกติไม่กล้าพูด ส่วนมาร์ติน วาลเซอร์ (Martin Walser) นักเขียนชื่อดังชาวเยอรมันชื่นชมและยกย่องว่า ตัวละครทุกตัวในนวนิยายของโม่ เหยียนล้วนนับเป็นหนังประวัติศาสตร์และบทภาพยนตร์ได้ เขาบอกว่า "ผมไม่เคยเห็นนักเขียนผู้ใดที่ในขณะพรรณนาเรื่องราวของนวนิยายนั้น ยังสามารถเล่าถึงประวัติศาสตร์มากมายได้เหมือนโม่ เหยียน ผมกล้าพูดว่า เวลานี้ถ้ามีใครอยากเขียนหนังสือเกี่ยวกับเมืองจีน ต้องให้ไปอ่านผลงานของโม่ เหยียนก่อนจะดีกว่า นวนิยายของเขาเสมือนงานเลี้ยงที่ไม่มีวันสิ้นสุด ในผลงานของเขาเปิดเปลือยทุกอย่างจนผู้อ่านรู้สึกว่า ตัวเองล่อนจ้อนและย้อนคิดถึงการดำรงอยู่ของตัวเอง"
สื่อมวลชนต่างชาติพากันให้ความสนใจต่อผลงานของโม่เหยียน
ส่วนสื่อมวลชนต่างชาติก็พากันเขียนรายการเกี่ยวกับโม่ เหยียนหลังจากเขาได้รับรางวัลโนเบล หนังสือพิมพ์ฉบับสำคัญของรัสเซียเดาว่า คณะกรรมการโนเบลมีจุดประสงค์ที่จะทำลายอคติบางอย่างในอดีต และทำให้ผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ไม่ใช่ทั้งชาวยุโรปและก็ไม่ใช่ผู้ที่เข้าข้างฝ่ายการเมืองใดๆ โดยนวนิยายเรื่อง "The Republic of Wine" หรือ "สุรานคร" ของโม่ เหยียนจะวางจำหน่ายในรัสเซียในเร็วๆ นี้
เมื่อค่ำวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา สถานีวิทยุบีบีซีของอังกฤษรายงานว่า "เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนที่ 109 ของโลกคือ โม่ เหยียน นักเขียนชาวจีน" ทำให้ตัวอักษร MO ซึ่งเป็นตัวสะกดชื่อของโม่เหยียนในภาษาอังกฤษปรากฎในสื่อมวลชนภาษาอังกฤษสำคัญต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยบีบีซีเห็นว่า โม่ เหยียนชอบเขียนถึงอดีตของจีน ไม่สะท้อนปัญหายุคปัจจุบัน ผลงานของเขาข้ามยุคการปฏิวัติปี 1911 สงครามต่อต้านญี่ปุ่นและสมัย "การปฏิวัติวัฒนธรรม" ส่วนสำนักข่าวรอยเตอร์อ้างคำพูดของโม่ เหยียนว่า "ไม่มีใครเขียนเพื่อคว้ารางวัล"
ในฝรั่งเศส สำนักข่าวฝรั่งเศสวิจารณ์ว่า ผลงานของโม่ เหยียนได้หลีกเลี่ยงปัญหาในสังคมปัจจุบันอย่างเฉลียวฉลาด เขาเล่าเรื่องตลกร้าย ที่เหลือเชื่อได้ทุกเรื่อง ทำให้ผู้อ่านสำนึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาของสังคม โดยอ้างอิงคำวิจารณ์ของนายปีเตอร์ อังค์แลนด์(Peter Englund)เลขาธิการถาวรของคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาวรรรกรรมว่า ด้วยการใช้วิธีเขียนแบบเสียดเย้ยของโม่ เหยียน ทำให้ผู้อ่านมองเห็นมุมมืดของสังคม ด้วยเหตุนี้ บางคนจึงด่าว่า ผลงานของโม่ เหยียนหยาบคายและมีเนื้อหาลามก" อย่างนวนิยายเรื่อง "กบ" เป็นผลงานที่กล้าหาญมากที่สุดของโม่ เหยียน เรื่องนี้เหล่าถึงแพทย์หญิงในชนบทคนหนึ่งที่ทำงานด้านสูตินรีเวชมานานกว่า 50 ปี สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การคลอดบุตรและการดำเนินนโยบายวางแผนครอบครัวในชนบทของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ทำมาเป็นเวลาประมาณ 60 ปีได้อย่างถึงแก่นแท้