วันที่ 19 มกราคมที่จะถึงนี้ตรงกับวันขึ้นแปดค่ำเดือนสิบสองตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งชาวจีนเรียกว่าล่าปาเจี๋ย ต่างกับเทศกาลอื่นๆคือ ในวันล่าปาหรือล่าปาเจี๋ย ชาวจีนไม่มีการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่เหมือนช่วงตรุษจีน แต่ก็เป็นเทศกาลที่ผู้คนทั่วประเทศต้องให้ความสำคัญตามประเพณีที่สืบทอดกันมา ซึ่งต้องเซ่นไหว้บูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษ เพื่อขอความเป็นสิริมงคลและมีชีวิตที่สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน
แม้ว่าไม่มีการจุดประทัด การดูโคมไฟ หรืองานฉลองอันใหญ่หลวงใดๆก็ตาม แต่ท้องที่ต่างๆของจีนต่างมีขนบธรรมเนียมในวันล่าปา เช่น ภาคใต้ของจีน โดยเฉพาะในเขตชนบทในมณฑลอันฮุย ทุกครอบครัวจะทำเต้าหู้ล่าปาก่อนวันขึ้นแปดค่ำเดือนสิบสอง ซึ่งเป็นเต้าหู้แห้งชนิดหนึ่งที่มีลักษณะพื้นเมืองเป็นพิเศษ ส่วนภาคเหนือของจีนบางที่มีความนิยมกินบะหมี่ล่าปาในเช้าวันนั้น โดยทำซอสด้วยผลไม้และผักชนิดต่างๆ แล้วทานกับบะหมี่น้ำ
ภาคเหนือส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในบริเวณกรุงปักกิ่ง นครเทียนสิน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะนิยมทำกระเทียมล่าปาในวันขึ้นแปดค่ำเดือนสิบสอง ซึ่งนำกระเทียมแช่ลงไปในน้ำส้มสายชู แล้วปิดกระป๋องให้แน่น วางไว้ที่เย็น ทิ้งไว้ประมาณสองสัปดาห์ กระเทียมจะค่อยๆกลายเป็นสีเขียว ไว้ทานกันในช่วงตรุษจีน กระเทียมล่าปาจะออกรสเปรี้ยวหวาน ไม่เผ็ด จึงได้รับความชื่นชอบจากผู้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กๆที่ปกติไม่ชอบรสเผ็ดของกระเทียม
กล่าวถึงความเป็นมาของกระเทียมล่าปา เล่ากันว่า พ่อค้าภาคเหนือส่วนใหญ่จะชำระบัญชีก่อนวันขึ้นแปดค่ำ เพื่อไม่ให้หนี้สินค้างไว้ผ่านปีเก่า คำว่า "กระเทียม" นั้นในภาษาจีนออกเสียงว่า "ซ่วน" มีเสียงเดียวกับอีกคำหนึ่งที่มีความหมายว่า "ชำระหนี้" จึงค่อยๆเกิดความนิยมที่ใช้กระเทียมล่าปาเปรียบเทียบคำว่า "ชำระหนี้ในวันล่าปา" ถึงยุคปัจจุบัน แม้ว่ากระเทียมล่าปาอร่อยน่ากินก็ตาม แต่ชาวจีนแต่ละครอบครัวต้องทำเองที่บ้าน คงไม่มีคนใดเคยเห็นมีการขายกระเทียมล่าปาเช่นนี้ในร้านหรือตลาด ก็เพราะว่า กระเทียมแบบนี้หมายถึงการบังคับให้ชำระหนี้สิน