กรุงเทพฯ – วันที่ 9 เมษายน 2556 สมาคมไทย-จีนร่วมกับสมาคมประชาชนจีนเพื่อมิตรภาพกับชาวต่างประเทศ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปเปิดงานนิทรรศการภาพเขียนศิลปะร่วมสมัย สานสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ไทย-จีน เป็นการนำผลงานของศิลปินที่มืชื่อเสียงจากจีนและไทยเข้าร่วมจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ภายในงานมีนายฉินอี้ว์เซิน อุปทูตที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย, พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ นายกสมาคมไทย-จีน, หม่อมราชวงศ์จิราคม กิติยากร ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมไทย-จีน, นางสาวอัจฉรา แข็งสาริกิจ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป, ศิลปินและผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวจีนเข้าร่วมงาน
พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ นายกสมาคมไทย-จีน กล่าวว่า การจัดแสดงนิทรรศการศิลปะภาพเขียนร่วมสมัยในครั้งนี้ มีทั้งศิลปินไทยและจีนได้แสดงผลงานร่วมกัน แสดงออกถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทำให้เกิดการซาบซึ้งต่อศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ถือเป็นโอกาสอันดีของการครบรอบ 38 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-จีน และเป็นการต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วย และทางสมาคมไทย-จีนซึ่งมีสาขาอยู่ที่ประเทศจีนในหลายๆเมือง ไม่ว่าจะเป็น ปักกิ่ง กว่างโจว ซีอาน จะพยายามสรรหาและจัดกิจกรรมต่างๆที่น่าสนใจเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเป็นระยะๆ
นางหลี่เวย รองประธานสมาคมไทย-จีนที่บินมาจากปักกิ่งเพื่อจัดและร่วมงานกล่าวว่า นี่เป็นครั้งที่สองที่เธอเดินทางมาประเทศไทย สำหรับเธอนั้นเมืองไทยไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงมากนักจากครั้งแรกที่มาเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ผู้คนยังน่ารักและเป็นมิตรเช่นเคย ทิวทัศน์ก็ยังงดงามและอาหารไทยก็อร่อยถูกปากมาก น่าเสียดายที่ทุกครั้งของการมาเยือนไทยจะเป็นการทำงานและอยู่ในกรุงเทพฯตลอด ยังไม่เคยได้ไปเที่ยวจังหวัดอื่นเลย สำหรับศิลปะนั้นเป็นการแสดงออกทางจิตใจและวัฒนธรรมของคนแต่ละท้องถิ่น ศิลปะไม่ได้ถูกจำกัดด้วยภาษา ประเทศ ฯลฯ ผลงานที่นำมาแสดงครั้งนี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินจีนที่มีชื่อเสียงและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หวังว่าคนไทยที่ได้ชมศิลปะเหล่านี้จะมีความเข้าใจและซาบซึ้งกับวัฒนธรรมจีนมากขึ้น
นาย เหอเจียอิง ศิลปินร่วมสมัยชื่อดังจากมณฑลเทียนจินที่บินมาจากจีนเพื่อนำผลงานมาร่วมในงานนี้พูดถึงผลงานที่นำมาแสดงว่าศิลปะการวาดรูปคนในประเทศจีนมีประวัติศาสตร์มายาวนานแล้ว ถือได้ว่าสมัยราชวงศ์ถังเป็นยุคทองที่ศิลปะการวาดภาพคนสมบูรณ์แบบที่สุด เพราะฉะนั้นจิตรกรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะทั้งหลายจึงได้พยายามรวบรวมความรู้และเทคนิคการวาดภาพต่างๆตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์ถังเพื่อมาศึกษาและสืบทอดต่อ โดยหลักสำคัญคือการเน้นที่ธรรมชาติ แต่ลักษณะพิเศษของการวาดของเขาคือการวาดแบบโบราณแต่ผสมสภาพแวดล้อมจริงในปัจจุบันเข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นภาพที่เขาเขียนจึงไม่ได้ออกมาแบบโบราณทั้งหมด เขาได้ยกตัวอย่างผลงานชิ้นหนึ่ง ชื่อ Break of Dance หรือ ระหว่างพักเต้นรำ เป็นภาพที่นักบัลเล่ต์หยุดพักระหว่างการซ้อม ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่ค่อนข้างจะแปลกไปจากงานทั่วไปของเขาเพราะปกติแล้วผลงานของเขาจะเน้นวาดเกี่ยวกับชนบทและโรงเรียนเป็นหลัก เขาเลือกที่จะเขียนภาพตอนนักเต้นพักผ่อน ไม่ใช่ในขณะที่กำลังแสดง เพราะเขาคิดว่าการที่วาดรูปตอนที่กำลังแสดง เป็นการวาดกิริยาในขณะที่ตั้งใจทำ ไม่ใช่ธรรมชาติในชีวิตจริงๆ ส่วนเรื่องการชมศิลปะต้องใช้สายตาหรือความรู้ทางศิลปะมากหรือน้อยอย่างไรนั้น เขาเชื่อว่าศิลปะเป็นการสื่อสารแบบสากล ผู้เสพงานศิลป์จะเข้าใจหรือตีความงานชิ้นนั้นๆไปในทางใดอยู่ที่ตัวของเขา เชื่อว่าทุกคนสามารถชมศิลปะได้ถึงแม้จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็ตาม
งานนิทรรศการนี้มีศิลปินชาวจีนร่วมแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยทั้งหมด 9 ท่านและมีศิลปินไทย 1 ท่านร่วมแสดงผลงานศิลปะพู่กันจีน โดยผลงานเหล่านี้จะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 9-12 เมษายน 2556 ผู้สนใจสามารถไปชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿
ภาพ: พันธสัญญา โชติธนพุทธิพงษ์