ผู้สื่อข่าว ในเดือนกรกฎาคมนี้ สภาพัฒนาการเมืองได้จัดคณะออกไปดูงานในต่างประเทศถึง 4 กลุ่ม ได้แก่จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย-สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ อยากทราบว่ามีวัตถุประสงค์หลักในการจัดกิจกรรมนี้อย่างไร
ดร.ธีรภัทร์ สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองในประเทศไทยมีทั้งหมด 125 คน ปีนี้ได้แบ่งออกไปศึกษาดูงาน 4 สายที่สำคัญ การเดินทางครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญ 3 ประการ คือให้ไปดูการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของประชาชน การรักษาสิ่งแวดล้อมและนิเวศน์วิทยา
กลุ่มของเราเลือกเดินทางมาที่นี่ เพราะแม้ว่าจีนมีการเมืองการปกครองที่ไม่ใช่แบบประชาธิปไตยตะวันตก แต่ประเทศจีนเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลกและของเอเชียด้วย ดังนั้นประสบการณ์หลายๆ เรื่อง คิดว่าสามารถศึกษาและนำมาเป็นแบบอย่างได้
คณะเราได้เลือกไปศึกษาดูงานในกิจการที่จีนมีความแข็งเกร่ง เช่น ระบบอุดมศึกษาของจีน ไปที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสรุปให้ฟังว่า มหาวิทยาลัยปักกิ่งเน้นการเรียนการสอนอย่างไร เพราะเราถือว่าหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศอยู่ที่การศึกษา เราได้พบว่า มหาวิทยาลัยปักกิ่งมีอายุยาวนานนับร้อยปี สอนหลายสาขาวิชา ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่อาจารย์ก็สามารถสอนเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นลัทธิเกี่ยวกับโลกสมัยใหม่ร่วมด้วย
สถานที่แห่งที่สองซึ่งเราไปศึกษาดูงานคือเขตเศรษฐกิจที่นครเทียนสิน ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมาก มีประชากรนับเป็นแสนคน มีเศรษฐกิจประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่เป็นหัวใจหลักเพื่อพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้าน logistic ด้านอุตสาหกรรม การประกอบเครื่องจักร ศูนย์ต่อเรือซึ่งอาจจะใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน หรือของโลกก็ว่าได้ ก็ต้องขอบคุณทางเขตเศรษฐกิจของนครเทียนสินที่ให้เราไปดูถึงพื้นที่ เช่น บริเวณที่ก่อสร้าง ได้เห็นว่าเขาต่อเรือกันอย่างไร ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ใหม่สำหรับพวกเรา อันนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนที่ประเทศไทยน่าจะนำมาดูเป็นแบบอย่าง
นอกจากนี้ เรายังได้ไปที่หมู่บ้านหันชุนเหอ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องกับการปกครองตนเอง การมีส่วนร่วมของประชาชน ผมคิดว่าได้รับประโยชน์อย่างมากในเรื่องนี้ รวมถึงต้องขอขอบคุณท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ท่านกรุณาให้เข้าเยี่ยมคารวะ และสรุปภาพรวมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนให้เราฟัง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นประโยชน์ที่สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองได้นำประสบการณ์ ข้อมูลและทัศนะที่แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกันไปใช้เป็นประโยชน์ในประเทศไทยได้
(Nune/Ping)