จีนประกาศนโยบายลูกคนเดียวตั้งแต่พ.ศ.2523 เพื่อควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้ขยายตัวจนเร็วเกินไป และได้ผลในระดับหนึ่ง แต่กระนั้นผ่านมาเป็นเวลากว่า สามสิบปี จนถึงขณะนี้จีนก็มีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน เกือบถึง 1,400 ล้านคน
สถานการณ์อีกด้านที่จีนและประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ก็คือ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากวิทยาการด้านการแพทย์เจริญก้าวหน้า ทำให้ผู้คนมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้นกว่าเดิม สำหรับเมืองจีน ผลกระทบเรื่องนี้ยิ่งหนักมากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งเชื่อมโยงมากจากนโยบายลูกคนเดียว เนื่องจาก คนหนุ่มสาว ต้องแบกรับภาระหนักในการดูแลสมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้น คิดง่ายๆ คนหนึ่งคน ต้องดูแลตัวเอง ดูแลพ่อแม่ รวมแล้วคือ อย่างน้อย 4 คน แต่ถ้าแต่งงานแล้ว ผู้ชายในฐานะผู้นำครอบครัวก็อาจต้องเพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้น คือดูแล ภรรยา และอาจพ่วงไปถึงพ่อแม่ของภรรยาด้วย แล้วถ้าปู่ย่า ตายาย ของทั้งสองฝ่าย ยังมีอายุยืนยาว นั่นหมายความว่า คู่สามีภรรยาหนึ่งคู่ ต้องรับผิดชอบคนอีกจำนวนไม่น้อยกว่า 8 คน โดยลำพัง ไม่มีพี่น้องคนอื่นๆ ที่จะมาเฉลี่ยภาระอันหนักอึ้งนี้
ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ราคาข้าวของเครื่องใช้แพงขึ้น ที่ดินบ้านอยู่อาศัยโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ก็แพงมากจนคนรุ่นใหม่ทำงานหาเช้ากินค่ำ แทบจะไม่สามารถมีกำลังในการซื้อมาเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวได้เลย ลำพังตัวเองคนเดียวจะให้รอดก็ยากแล้ว ยิ่งมีภาระต้องดูแลคนอีกหลายคนด้วยแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการประคองชีวิตให้อยู่รอดได้
คาดการณ์กันว่า สัดส่วนผู้สูงอายุ วัย เกิน 65 ปี ของจีนจะมีมากถึงร้อยละ 30ภายในปีพ.ศ. 2593 ส่วนตัวเลขของกลุ่มประชากรวัยทำงาน ก็มีจำนวนลดลง ปีที่แล้ว 2555 เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
ตัวอย่างในเซี่ยงไฮ้ อัตราการเกิดลดลงอย่างมาก ประเมินว่าภายในปี 2573 จะมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี ถึงร้อยละ 40 นั่นคือสัดส่วนมากกว่า หนึ่งในสามเป็นคนสูงวัย
ปัญหาใหญ่ที่ซ่อนอยู่ภายในเรื่องของจำนวนประชากรอีกประเด็นที่สังคมจีนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ สัดส่วนระหว่างเพศหญิงกับเพศชายไม่สมดุล คนจีนมีค่านิยมที่ตกทอดกันมายาวนานเรื่องการให้ความสำคัญกับลูกชายและผู้ชายเป็นใหญ่ ทุกครอบครัวอยากได้ลูกชาย หลานชายไว้สืบสายตระกูล และเชื่อว่า เมื่อแก่ตัวไป ลูกชายก็จะเป็นที่พึ่งในการกลับมาดูแลพ่อแม่ให้สุขสบายได้
ในหลายๆ ยุคการไม่มีบุตรชาย เป็นทั้งความอับอายและน่าผิดหวัง คนจีนถือว่า ลูกสาว แต่งออก (ไปจากบ้าน) แต่งงานแล้วก็ไปเป็นคนของบ้านอื่น ไม่ใช่สมบัติหรือคนของครอบครัวเดิมอีกต่อไป ส่วนลูกชายแต่งงานแล้วก็เอาสะใภ้เข้า (บ้าน) นั่นย่อมต้องเป็นเรื่องที่ดีกว่า
ในชนบทของจีน เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับครอบครัวถึงขนาดว่า หากบ้านไหนไม่มีลูกชาย จะถูกเพื่อนบ้านดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามให้ได้รับความอับอาย สังคมแวดล้อม ก็มีส่วนอย่างมากในการสร้างแรงกดดันให้กับคู่สามีภรรยา บ้างถึงกับต้องมีภรรยาใหม่ และมีภรรยาหลายคน เพื่อทำให้มีลูกชายให้ได้
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลอนุญาตให้แต่ละครอบครัวสามารถมีลูกได้คนเดียว แน่นอนว่า ถ้าเลือกได้ ทุกคนย่อมอยากได้ลูกชายไว้ก่อน แต่เนื่องจากไม่สามารถกำหนดได้ ก่อนเด็กจะปฏิสนธิ ดังนั้นเมื่อรู้ว่าภรรยาท้อง สิ่งที่พ่อแม่จะทำได้คือ การทำให้รู้เพศลูกล่วงหน้าเพื่อตัดสินใจว่า จะเก็บเด็กไว้หรือไม่ หลายครอบครัว เมื่อรู้ว่า ท้องนี้เป็นลูกสาว ก็จะเลือกการทำแท้ง เพื่อหวังว่า ครั้งต่อไปจะได้ลูกชาย หากยังเป็นลูกสาวอีก ก็ใช้วิธีการเดิม เพื่อจะรอจนกว่าจะได้ลูกชาย สมความปรารถนา
การทำแท้งในเมืองจีน ไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะยังมีเงื่อนไขอื่นๆที่เป็นเหตุผลให้ไม่ต้องเก็บทารกในครรภ์ไว้ได้ เช่น การตรวจพบว่า เด็กพิการ ไม่สมประกอบ หรือมีความผิดปกติซึ่งหากปล่อยให้คลอดออกมาก็จะเป็นภาระของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูและรักษาพยาบาล
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ทางการจีน ต้องปิดจุดอ่อนในเรื่องดังกล่าว โดยกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของจรรยาบรรณแพทย์ ที่จะไม่ยินยอมเปิดเผยเพศของลูกให้พ่อแม่มือใหม่ทั้งหลายได้รู้ จนกว่าจะถึงวันคลอด เพื่อป้องกันและลดจำนวนการเลือกเพศลูกด้วยวิธีทำแท้ง ข้อมูลที่จะบอกให้พ่อแม่รู้ได้ มีเพียงเรื่องสุขภาพโดยรวมทั่วๆไปของลูกเท่านั้น ถ้าแพทย์คนใดบอก ก็จะมีความผิดตามกฎหมายจีนด้วย
การทำแท้งในเมืองจีนเป็นเรื่องเปิดเผย คนต่างชาติอย่าได้แปลกใจหากเดินทางมาถึงเมืองจีนแล้วพบโฆษณาเชิญชวนและบอกว่า หากไปทำแท้งที่สถานพยาบาลแห่งนั้นๆ แล้วจะได้รับบริการที่ดี สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย วันรุ่งขึ้นสามารถไปทำงานได้ และอื่นๆ อีกสารพัด
นโยบายเรื่องนี้ สวนทางกับหลายๆ ประเทศ หรือในเมืองไทย ที่กำหนดให้การทำแท้งผิดกฎหมายแต่พ่อแม่ สามารถรู้เพศของลูกล่วงหน้าได้
ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีคนจีนกลุ่มหนึ่งที่พอจะมีฐานะทางการเงิน เดินทางไปฮ่องกงหรือต่างประเทศ เพื่อตรวจว่า ลูกในท้องเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ก่อนตัดสินใจว่า จะเก็บเด็กไว้หรือไม่
ระยะเวลากว่า 30 ปี นานเพียงพอที่จะทำให้ช่องว่างของสัดส่วนเพศชายและหญิง ถ่างกว้างออกจากกันมากเรื่อยๆ จนทำให้ขณะนี้ จีนเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนเพศของประชากรแรกเกิดไม่สมดุลมากที่สุดในโลก ติดต่อกัน ยาวนานที่สุดในโลก เช่น ในกรุงปักกิ่ง มีสัดส่วนเด็กชายต่อเด็กหญิงแรกเกิด สูงถึง 130:100 สูงกว่ามาตรฐานสากลมาก
ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา อัตราส่วนเพศของประชากรแรกเกิดของจีน เริ่มสูงขึ้น และเป็นแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผลกระทบที่ติดตามมาอีกเรื่องคือ ทำให้ปัจจุบันนี้หนุ่มจีน หาสาวจีนแต่งงานด้วยยากขึ้น เพราะสาวเจ้าจะมีสิทธิ์เลือกได้มากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงทุกคนก็ต้องเลือกเจ้าบ่าวโดยมองเรื่องความมั่นคงด้านฐานะการเงินและเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญ จนพูดกันว่า ถ้าหนุ่มไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง อย่าหวังว่าสาวจะมองหรือรับไว้พิจารณา หนุ่มโสดในสังคมจีนก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆด้วยเช่นกัน (ส่วนหนุ่มที่โชคดี พ่อแม่มีทรัพย์สมบัติและมีบ้านไว้ให้แล้วก็สบายไป)
รัฐบาลจีน เห็นปัญหาดังกล่าวจึงพยายามออกหลายมาตรการมาเพื่อป้องกัน แก้ไข นอกเหนือไปจากการควบคุมและดูแลป้องกันการทำแท้งแล้ว ยังมีโครงการในเชิงรณรงค์ให้สังคมจีน เห็นคุณค่าและความสำคัญของเด็กๆมากขึ้นโดยเฉพาะเด็กยากจนในชนบท ผ่านโครงการให้ความช่วยเหลือและอุปการะเด็ก แต่ก็ยังไม่วายเกิดปัญหาภายใต้โครงการดังกล่าว เพราะผู้ที่จะรับเป็นผู้อุปถัมภ์ ช่วยเหลือด้านการเงินเด็กยากไร้ ก็มักจะตั้งเงื่อนไขและเลือกเด็กผู้ชายก่อนเด็กผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้เด็กผู้หญิงกลายเป็นส่วนที่เหลือ และถูกทอดทิ้งจำนวนมาก หลังๆ จึงเกิดโครงการที่จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กหญิงเป็นการเฉพาะเช่น โครงการอาสาสมัครสานฝันเด็กหญิงให้เป็นจริง และโครงการ ดอกไม้แห่งเด็กหญิง ซึ่งก็บรรเทาปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง
แต่ยุคหลัง ค่านิยมและทัศนคติของสังคมจีน เปลี่ยนแปลงไปมากเกี่ยวกับลูกสาว พ่อแม่ชาวจีนยอมรับลูกสาวได้มากขึ้น เพราะเมื่อแก่ตัวไปกลายเป็นว่า หลายครอบครัว คนที่กลับมาดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดคือลูกสาวมากกว่าลูกชาย ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ผู้หญิงจะมีความละเอียดอ่อนและเอาใจใส่ได้มากกว่า
โสภิต หวังวิวัฒนา
เรียบเรียง