ในโอกาสที่ จีนกับอาเซียน ดำเนินความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์มาครบรอบ 10 ปีในปีนี้ ขณะที่จีน กำลังมีปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะในทะเลจีนใต้กับหลายประเทศในอาเซียน อาทิ เวียดนาม และฟิลิปปินส์
ประเทศไทยในฐานะของหนึ่งในชาติสมาชิกอาเซียนและได้รับบทบาทให้เป็นประเทศผู้ประสานงานอาเซียน มีภารกิจที่สำคัญและท้าทายอย่างมากรออยู่ข้างหน้า
กวี จงกิจถาวร ประธานเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) สื่อมวลชนอาวุโส และคอลัมนิสต์อิสระชาวไทย ให้ความเห็นเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเห็นว่า ปีนี้เป็นปีที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ในปีที่แล้วความสัมพันธ์ในกลุ่มอาเซียนตกต่ำมากที่สุด เพราะสมาชิกอาเซียนไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับปัญหาหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ เป็นครั้งแรกที่อาเซียนไม่สามารถออกข้อตกลงแถลงการณ์ร่วมได้
ดังนั้น ในขณะนี้ ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน ต้องทำหน้าที่ให้ดี ที่สุดเพื่อให้ประสานงานให้เกิดการเจรจา พูดคุยและสามารถทำขัอตกลงให้ได้ข้อสรุปที่ดีร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมา ไทยทำได้ดีในระดับหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียนจะเดินทางมาประชุมร่วมกันที่กรุงปักกิ่ง เพื่อหารือกันต่อว่าจะหาทางแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และวางแนวทางความร่วมมือในอนาคตอย่างไรต่อไป
ประเด็นสำคัญของความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนคือทั้งสองฝ่ายต้องการเพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีความร่วมมือระหว่างกันที่ดีมากอยู่แล้ว มีเขตการค้าเสรีระหว่างกัน ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงต้องการเพิ่มปริมาณการค้าให้มากขึ้น คาดว่า อีกสองสามปีข้างหน้า จะสามารถขยายมูลค่าได้มากถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ก็ยังมีการเจรจาเพิ่มเติมว่า จะสามารถสร้างความร่วมมือในกรอบที่ใหญ่กว่านี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่จีนกับอาเซียนจะขยายไปสู่ เกาหลี กับญี่ปุ่น
ประธานซีป้า เห็นว่า ขณะนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าในกลุ่มประเทศต่างๆ ก็มีการแข่งขันกันอยู่ อาทิ สหรัฐมี TPP (Tran pacific Partnership) ในอาเซียนมี RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) .ดังนั้นเมื่อในระดับนโยบายมีการแข่งขันกัน ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนจึงสำคัญมากโดยเฉพาะความสัมพันธ์ด้านการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน
สำหรับโอกาสและอนาคตที่จะเป็นทิศทางก้าวต่อไปของจีนกับอาเซียนนั้น คุณกวีเห็นว่า จากนี้ไปจะเป็นโอกาสที่ดีมาก แต่จะมีมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ 20 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นเวลาที่ไทยเหลืออยู่ในการทำงานในบทบาทและฐานะของผู้ประสานงาน เพราะมีปัญหาใหญ่ค้างคาอยู่คือ ข้อพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้
ไทยจีน ไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน จีนจึงมีความเชื่อมั่นในบทบาทของไทยมาก ทำให้แนวโน้มการเจรจาจะมีข้อได้เปรียบมากกว่า เมื่อเทียบกับผู้ประสานงานประเทศก่อนหน้านี้คือ เวียดนาม ซึ่งก็เป็นหนึ่งในคู่พิพาทกับจีน
ไทยทำหน้าที่ได้โดดเด่นก่อนหน้านี้ ในการสร้างความปรองดองของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ และยังสามารถเปิดเวทีให้ประเทศต่างๆมาร่วมเจรจากับจีนได้
ล่าสุดเมื่อระหว่างวันที่ 13-14 สิงหาคมที่ผ่านมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนนอกรอบ เพื่อหารือประเด็นการวางตัวและบทบาทระหว่างอาเซียนกับจีน และวางแนวทางการเดินต่อไปในอนาคตข้างหน้า
นอกจากนี้ ช่วงกลางเดือนกันยายนก็จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อเตรียมงานประชุมจีนอาเซียนในกรุงปักกิ่งด้วย ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญมากเพราะผู้เกี่ยวข้องจะมาร่วมกันร่างและวางแนวทางการแก้ไข รวมทั้งแนวปฏิบัติในปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เจ้าหน้าที่อาวุโสเหล่านี้ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ ส่วนจะตกลงว่า จะตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานรูปแบบไหน ต้องรอผลการประชุมปลายเดือนนี้ก่อน เช่น อาจมีเจ้าหน้าที่จาก 10 ประเทศอาเซียนและผู้แทนจีนมานั่งคุยร่วมกัน แล้วอาจจัดชุดเจ้าหน้าที่เฉพาะไปคุยกันนอกรอบ หลังจากนั้นให้สองชุดได้มาหารือร่วมกัน ต่อไป เป็นต้น
"ช่วงเวลา 20 เดือนที่เหลืออยู่ของไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงาน เป็นโอกาสสำคัญที่ทั้งจีนและอาเซียนจะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไทยต้องทำให้เพื่อนสมาชิกมั่นใจว่าจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีความแตกแยกระหว่างกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับจีน เพื่อสร้างพลังของกลุ่มและทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน"
จีนจะให้ความสำคัญกับอาเซียนได้ต่อเมื่อ อาเซียนกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียว ซึ่ง
ไทยก็มีโอกาสดีที่สุดในขณะนี้ เพราะเมื่อพ้นวาระแล้ว ประเทศสิงคโปร์จะเป็นผู้ประสานงานต่อไป แล้วอีกสามปีคือฟิลิปปินส์ ซึ่งก็คืออีกหนึ่งในคู่พิพาทกับจีน ก็มีความเป็นไปได้ว่า หากไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขข้อพิพาทได้ แล้วปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อไปจนถึงเวลาดังกล่าว ก็ยิ่งทำให้การแกัปัญหาทำได้ยากมากขึ้น
ดังนั้นภารกิจเร่งด่วนและสำคัญที่สุดของรัฐบาลไทย คือการกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่า จะเดินหน้าในนามอาเซียนอย่างไร โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ต้องให้ความสำคัญและมุ่งมั่นกับกิจกรรมอาเซียนให้มากขึ้น อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับจีน เพราะจะเป็นประเทศที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในเวทีโลก ดังนั้นเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงใดขึ้นก็ตามจากจีน จะส่งผลกระทบและเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ทั่วโลกจับตามอง สหรัฐก็ต้องรู้ นานาชาติต้องรู้ความเคลื่อนไหวดังกล่าว
ส่วนประเด็น ความมีตัวตนและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน นอกเหนือจากเรื่อง เชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้ลักษณะการรวมตัวกันเป็นแบบหลวมๆและยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ได้คิดเห็นในแนวทางเดียวกัน โดยเฉพาะการตกลงว่าจะไม่แทรกแซงกิจภายในประเทศของกันและกัน อาจกลายเป็นอุปสรรคในการสร้างฉันทามติหรือมีข้อตกลงกับนานาชาติในนามอาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวหรือไม่
กวี จงกิจถาวร คอลัมนิสต์อาวุโสของไทย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาเซียนและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า ขณะนี้อาเซียนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วแล้ว แต่ละประเทศมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาติสมาชิกจะต้อง สงวนจุดต่างและแสวงหาจุดร่วมให้มากที่สุด เพราะตอนนี้ อาเซียนเนื้อหอมมากสำหรับมหาอำนาจประเทศต่างๆ ที่ต้องการมาผูกมิตรกับประเทศในอาเซียนเพื่อสร้างและเพิ่มอำนาจของตัวเองมากขึ้น แต่การผูกมิตรดังกล่าว มีแนวโน้มจะเป็นการผูกมิตรแบบสองต่อสอง และแยกส่วนกัน ไม่ได้ทำในนามประเทศนั้นๆ กับอาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียว
อาเซียนต้องมีแนวคิดใหม่ ว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ตัวเองแข็งแกร่งภายใต้ความรู้สึกร่วมของความเป็น กลุ่ม "อาเซียน" ไม่ใช่เฉพาะแต่ละประเทศ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความแตกแยกและการเดินต่อไปข้างหน้า มีความยากลำบากมากขึ้น
" สมาชิกอาเซียนควรต้องคุยกันให้ชัดเจนและสร้างฉันทามติในเรื่องเหล่านี้ให้ได้ ในส่วนของไทยเองก็มีสิ่งท้าทายใหม่ ในการดำเนินความสัมพันธ์ภายใต้กรอบอาเซียน โดยเฉพาะระหว่างจีนกับญีปุ่น อดีต ไทยให้ความสำคัญกับสหรัฐมาก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว ไทยควรต้องจับตามอง ญี่ปุ่นให้มากขึ้น ผู้กำหนดนโยบาย ต้องพิจารณาให้ดี เพราะสองประเทศนี้ อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ผมเห็นว่านโยบายของรัฐบาลไทยตอนนี้ยังไม่ดีพอ ยังไม่สามารถช่วงชิง นำผลประโยชน์แห่งชาติมาได้เต็มร้อยจากการเป็นชาติสมาชิกอาเซียน"
กวีเห็นว่า หลังปี 2015 ประชาคมอาเซียน จะถูกอ้างอิงในลักษณะเดียวกันคือ ประชาคมอาเซียน เป็นกลุ่มเดียว นั่นหมายถึง ประชากรจำนวน 630 ล้านคน (แม้ในทางปฏิบัติอาจไม่เป็นอย่างนั้น เพราะแต่ละประเทศยังมีความเป็นตัวตนของตัวเองสูงมาก )
นี่จึงเป็นความท้าทายที่กำลังรออยู่ข้างหน้า ทั้งกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียนและในส่วนของประเทศไทยเอง
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง