การจัดงานมหกรรมจีนอาเซียน ครั้งที่ 10 ที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซีของจีน ระหว่างวันที่ 3-6 กันยายนที่ผ่านมา หนึ่งในไฮไลท์ของงานคือ การจัดแสดงนิทรรศการ "เมืองมนต์เสน่ห์" ของแต่ละประเทศจากชาติสมาชิกอาเซียน และจีน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมงานได้รู้จัก และรับรู้ข้อมูลด้านต่างๆที่น่าสนใจของเมืองดังกล่าว ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน อาหารการกินและศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ รวมทั้งเอกลักษณ์ท้องถิ่น
ในปีนี้ จังหวัดตราดของไทย ได้รับการคัดเลือกมาเป็นตัวแทน "เมืองมนต์เสน่ห์"
สำหรับตัวแทนจากเมืองอื่นๆ ได้แก่
หนานหนิง ของจีน
บันดาเสรีเบกาวัน ของบรูไน
ยอร์คยากาต้า ของอินโดนีเซีย
เวียงจันทน์ของลาว
เมืองสิงคโปร์
อีโป ของมาเลเซีย
กำปงธม ของกัมพูชา
เคียวผิ่วของเมียนม่าร์
บินดิน ของเวียดนาม
อิซาเบลล่า ของฟิลิปปินส์
คุณชาญชัย ดีอ่วม ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดตราด หนึ่งในคณะที่เดินทางมาร่วมงานครั้งนี้เล่าว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพานิชย์ เป็นผู้คัดเลือกตัวแทนประเทศไทยในแต่ละปี โดยรอบสุดท้ายมีจังหวัดที่เข้ารอบ3 จังหวัดได้แก่ ตราด ตรังและสุราษฎร์ธานี จังหวัดตราดได้รับการคัดเลือกจากแนวคิด
เล็กแต่โดดเด่น (small but outstanding)
มีการนำอาหาร ผลไม้ไทย อาทิ ทุเรียน เงาะ ลองกอง สับปะรดพันธุ์ท้องถิ่นของตราดคือ พันธุ์ตราดสีทอง อาหารทะเลแปรรูป มาให้ชิมฟรี นำการนวดแผนไทย พร้อมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยมาโชว์ ได้รับเสียงตอบรับจากผู้เข้าชมงานจากจีนเป็นอย่างดี อีกทั้งมีกลุ่มผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจมาสอบถามข้อมูล แสดงความสนใจที่อยากจะทำการค้า พร้อมนำเข้าผลไม้จากเมืองไทยเข้ามาในประเทศจีน
"คนจีนหลายคนยังไม่รู้จักลองกอง ว่าคืออะไร ก็เข้ามาสอบถาม มาทดลองชิม ผมหวังว่า ถ้าสามารถมีการติดต่อการค้าได้ลงตัว จะเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรที่จะส่งผลไม้มายังจีนได้ โดยลดขั้นตอนของพ่อค้าคนกลางได้มากที่สุด ประโยชน์จะได้ตกอยู่กับชาวสวนอย่างแท้จริง งานรอบนี้ก็มีตัวแทนหลายคนมาคุยกับเรา หวังว่าเราจะได้คู่ค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เราก็จะพัฒนาคุณภาพให้ได้เกณฑ์มาตรฐานที่ลูกค้าต้องการ"
นอกจากนี้ยังนำเอาอาหารแปรรูป ผลไม้ ทุเรียนทอดกรอบ ทุเรียนกวด ปลาเค็มแห้ง มาจัดแสดงด้วย พร้อมกับเชิญตัวแทนผู้ประกอบการรายย่อยในจังหวัดตราดมาร่วมงาน
คุณจตุภัทร ฤกษ์สหกุล หุ้นส่วนผู้จัดการ บริษัททีเอ็มเคฟูดส์ หนึ่งในตัวแทนผู้ประกอบการท้องถิ่น นำปลากรอบหลากหลายรส ที่บรรจุหีบห่อพร้อมรับประทานมาจัดแสดง โดยบอกว่า มีเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดีจากผู้เข้าชมงานชาวจีน จุดเด่นที่ทำรสชาติหลายแบบ เช่น รสเผ็ด รสเค็ม ก็จะสนองตอบความต้องการลูกค้าที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
"เห็นโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการไทยท้องถิ่น เพราะเมืองไทยอุดมสมบูรณ์และมีอาหารทะเลหลากหลาย สินค้าบ้านเรา แปลกใหม่ แตกต่างจากที่ชาวจีนมีอยู่ ดังนั้นก็เชื่อว่า จะพัฒนาได้และมีโอกาสทางธุรกิจได้มากในอนาคต"
ภายในงาน มีตัวแทนจำหน่ายที่เจียงซูได้เข้ามาติดต่อกับคุณจตุภัทร เพื่อคุยเรื่องความเป็นไปได้ที่จะซื้ออาหารทะเลแปรรูปจากไทยไปขายในเจียงซูด้วย
ด้านคุณอรรคพล เอกอรรถพร ตัวแทนผู้ประกอบการทำปลาอินทรีย์เค็มคั่วแห้ง ทำเป็นผงพร้อมรับประทานเล่าว่า เพิ่งจะเดินทางมาออกงานในต่างประเทศครั้งนี้เป็นครั้งแรก ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เห็นโอกาสในการนำข้อมูลไปปรับปรุงและเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดตลาดสู่ต่างประเทศในครั้งต่อไป
การคัดเลือก เมืองมนต์เสน่ห์ ในงานมหกรรมจีนอาเซียน ดำเนินการไปแล้ว 93 เมือง ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา
สำหรับเมืองไทย บางจังหวัดเคยได้รับการคัดเลือกแล้ว มากกว่าหนึ่งครั้ง เช่น เชียงใหม่ ครั้งที่ 2 และ 9 ขอนแก่น ครั้งที่ 3 และ 8 ชลบุรี ครั้งที่ 4 ภูเก็ต ครั้งที่ 5
สมุทรปราการ ครั้งที่ 6 เชียงราย ครั้งที่ 7 และครั้งล่าสุดในปีนี้คือ จังหวัดตราด
ตราดอยู่ทางภาคตะวันออกของไทย มีพื้นที่ประมาณ 650 ตารางกิโลเมตร เป็น จังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องแหล่งท่องเที่ยว มีเกาะต่างๆ จำนวน 52 เกาะ เช่น เกาะช้าง เกาะกูด เกาะเหลายาใน เกาะง่าม เกาะหมาก เกาะขาม เกาะช้าง มีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดและใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ รองจากภูเก็ต
คำขวัญของจังหวัดได้รวบรวมเอาเอกลักษณ์เด่นต่างๆมาไว้ด้วยกัน คือ
"เมืองเกาะครึ่งร้อย พลอยแดงค่าล้ำ ระกำแสนหวาน หลังอานม้าดี ยุทธนาวีเกาะช้าง สุดทางบูรพา"
ยุทธนาวีเกาะช้าง คือการรำลึกถึงเหตุการณ์สงครามในช่วงระหว่างสงครามอินโดจีน เรือรบฝรั่งเศส ได้บุกเข้ามายังประเทศไทยทางน่านน้ำจังหวัดตราด กองทัพเรือไทยได้ป้องกันและต่อสู้จนสามารถขับไล่เรือรบฝรั่งเศสออกไปจากราชอาณาจักรได้ แต่เราก็ต้องสูญเสียเรือรบหลวงไปถึงสามลำคือ เรือรบหลวงสงขลา เรือรบหลวงชลบุรีและเรือรบหลวงธนบุรี พร้อมกำลังทหารอีกจำนวนหนึ่งเสียชีวิตในการรบครั้งนั้น
ตราดยังเป็นพื้นที่เชื่อมต่อการค้าชายแดนไทย กัมพูชา เส้นทางหลวงหมายเลข 318 ซึ่งเริ่มจากตัวเมืองตราด เลียบทางขนานเทือกเขาบรรทัด ไปสุดทางที่อำเภอคลองใหญ่ เพื่อต่อไปยังเกาะกง ของกัมพูชา
ตราดมีบทบาทในฐานะเมืองท่าทางชายทะเลที่มีความสำคัญทางการค้ามาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดคือ เกาะ ที่มีโป๊ะประมงอยู่ด้านหน้า และมีเรือใบ ซึ่งสื่อความหมายถึงการค้าทางทะเล
ที่นี่ยังเคยเป็นแหล่งการค้าขายสินค้าสำคัญคือ พลอยแดงหรือทับทิมสยาม อันเลื่องชื่อ แต่ปัจจุบันหาได้ยากแล้ว
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง
อ้างอิง
ภาพประกอบบางส่วนจาก http://www.tradnews.com/News%20Images/Trad/1/9.jpg