การประชุมมหกรรม จีน-อาเซียน ครั้งที่ 10
เมื่อพูดถึงการเตรียมงานหรือการทำงานระดับชาติ หรืองานที่มีความสำคัญๆ หลังจากกิจกรรมดังกล่าวผ่านพ้นไปแล้ว ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะมากน้อยเพียงไร ก็ล้วนแล้วแต่ เป็นผลมาจากความพยายามและการเตรียมงานของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น
ผู้เขียนได้ไปร่วมในงานมหกรรมจีนอาเซียน และการประชุมพานิชย์และการลงทุนจีน-อาเซียน ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 3-6 กันยายนที่ผ่านมา ที่เมืองหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซีของจีน
งานมหกรรมฯ ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 10 แล้ว ได้รับความสนใจจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ การลงทุนและการค้า รัฐบาลส่วนกลางก็ให้ความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นเวทีเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นก็ถือเป็นงานใหญ่ประจำปี
เช่นเดียวกับสื่อมวลชนแขนงต่างๆในประเทศจีน และสื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มชาติอาเซียน ที่ได้ร่วมจัดแสดงในงานนี้ด้วย
สถานีวิทยุซีอาร์ไอ ก็ติดตามรายงานข่าวและความเคลื่อนไหวในงานมาต่อเนื่องทุกปี และจัดหมุนเวียนการถ่ายทอดสดในพิธีเปิดงาน ซึ่งจะมีผู้นำประเทศต่างๆมาเป็นผู้กล่าวคำปราศรัยด้วย
ปีนี้ มีผู้นำและผู้แทนจากชาติอาเซียนมาร่วมงานได้แก่ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของเมียนม่าร์ นายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นของกัมพูชา นายกรัฐมนตรีทองสิง ทำมะวง จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายกรัฐมนตรี เหงียน ตัน ตุง ของเวียดนาม นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทย นาย เตียว ชี เฮียน รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และนาย เล เลือง มินห์ เลขาธิการอาเซียน โดยมีนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียงของจีนเป็นผู้กล่าวเปิดงาน
ซีอาร์ไอ ซึ่งออกอากาศเป็นภาษาระหว่างประเทศ มากกว่า 60 ภาษาทั่วโลก เฉพาะในอาเซียนก็มีแผนกภาษาต่างๆ 8 ประเทศ ไม่รวมสิงคโปร์ กับบรูไน เพราะสิงคโปร์ สามารถฟังได้ทั้งภาษาอังกฤษ มาเลย์ และจีน ในขณะที่บรูไน ก็ฟังภาษามาเลย์และอังกฤษได้ ดังนั้น กิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนจึงถูกให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ
ทีมงานถ่ายทอดสด เราเดินทางไปเป็นคณะใหญ่ มากกว่า 15 คน โดยปีนี้ แผนกภาษาไทย เป็นผู้รับผิดชอบการถ่ายทอดเสียงเป็นภาษาไทย โดยออกอากาศทางเวปไซต์ www.cri.cn ภาคภาษาไทย และมีทีมถ่ายทอดสดภาษาจีนควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ยังมีทีมผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางของซีอาร์ไอ และทีมข่าวของแต่ละแผนกที่เป็นชาติสมาชิกอาเซียนต่างหากอีกด้วย รวมแล้วเกือบ 30 ชีวิต
ทีมถ่ายทอดสด ซีอาร์ไอ
การทำงานวิทยุ หากเป็นนักข่าว ก็จะสะดวกกว่างานสื่อโทรทัศน์ ในแง่ที่เดินทางและจัดการทุกอย่างเองได้เบ็ดเสร็จด้วยตัวคนเดียว แต่เมื่อทำงานถ่ายทอดสด จะมีความซับซ้อนและยุ่งยากมากกว่าหลายเท่า เพราะต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า และต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เนื่องจากเป็นรายงานสดที่อาจมีโอกาสผิดพลาดหรือไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ได้เสมอ ยิ่งเป็นงานระดับประเทศแบบนี้ ความผิดพลาด จะต้องเป็นศูนย์ เท่านั้น(คือต้องไม่พลาดเลย) ความกดดันจึงเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว
พวกเรา ได้รับรู้และเตรียมตัวกันล่วงหน้าหลายสัปดาห์ แต่ก็จะเตรียมได้แค่ข้อมูลพื้นฐาน เช่น ข้อมูลพื้นที่ รายละเอียดของงานอย่างคร่าวๆ เท่านั้น แต่ส่วนสำคัญที่สุดคือ คำกล่าวปราศรัยของบุคคลสำคัญทั้งหลายยังไม่มีข้อมูลใดๆ จนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของการเตรียมงาน
โชคดีที่ แผนกภาษาไทย มีประสบการณ์ไปถ่ายทอดสดแล้วหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ก็มีความชำนาญ ดังนั้น ในคณะจึงมีผู้เขียนเพียงคนเดียวที่เป็น "น้องใหม่" มาร่วมทีมเป็นครั้งแรก
เราเดินทางไปถึงหนานหนิงล่วงหน้าพิธีเปิดสองวัน เพื่อซักซ้อมและเตรียมการด้านอื่นๆ มีอุปสรรคและบททดสอบที่ทำให้เราต้องแก้ปัญหา เป็นระยะๆ รายทาง แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี
อุปสรรคแรก คือ ผู้เขียนไม่สามารถผ่านเข้าไปในสถานที่จัดงานล่วงหน้าในวันที่ 2 กันยายน ได้ เพราะบัตรผ่านนั้น อนุญาตเฉพาะระหว่าง วันที่ 3-6 กันยายน ในขณะที่มีความจำเป็นต้องซักซ้อมคิวการถ่ายทอดสด (แต่ทีมงานกลุ่มอื่นมีบัตรอีกใบหนึ่งที่ใช้ได้) เราพยายามประสานหลายฝ่ายเพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้มงวดมาก ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น
มองด้านหนึ่ง เป็นอุปสรรคสำหรับเรา แต่นั่นก็เป็นหน้าที่ของรปภ.ที่จะต้องรับผิดชอบเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดใดๆขึ้น สุดท้าย ก็แก้ปัญหาด้วยการ มาซักซ้อมคิวกับทีมงานภายหลัง
ความท้าทายเรื่องต่อมา คือ การเตรียมข้อมูลสำหรับถ่ายทอดสดภาษาไทย เนื่องจากผู้นำและผู้แทนประเทศจากชาติอาเซียน จะมีคำกล่าวปราศรัยที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะต้องผ่านผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย และมีการแปลเป็นภาษาจีนก่อนจะต้องแปลเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนและทีมงานอีกคนหนึ่ง ที่จะทำหน้าที่ดำเนินรายการด้วยภาษาไทย ต้องเป็นคนตรวจทานความถูกต้องและปรับแก้ไขภาษาให้สละสลวย ดังนั้น กว่าเอกสารจะมาถึงปลายทาง ถึงมือพวกเรา ก็เกือบเที่ยงคืนของวันที่ 2 กันยายน กว่าพวกเราทั้งหมดในแผนกภาษาไทย 5 คน จะทำงานกันแล้วเสร็จ ล่วงเข้าวันใหม่ ประมาณตีสี่ ในขณะที่ต้องตื่นเพื่อเตรียมตัวสำหรับงานจริง ไปพร้อมกับคณะใหญ่ในเวลานัดหมาย 6 โมงเช้า ซึ่งเมื่อไปถึงสถานที่จริงก็พบว่า บรรยากาศคึกคัก ผู้คนขวักไขว่เต็มไปหมด และมีสื่อมวลชนจำนวนมากไปรออยู่แล้ว
ทีมงานเทคนิค ผู้อยู่เบื้องหลังคุณภาพเสียงที่คมชัด
ทีมงานเตรียมการซักซ้อมการถ่ายทอดสดเป็นภาษาไทย
ข้อจำกัดเรื่องต่อมาคือ สถานที่ เนื่องจากห้องประชุมใหญ่ของศูนย์การประชุมนานาชาติเมืองหนานหนิงนั้น ออกแบบให้สื่อมวลชน นั่งได้บริเวณด้านข้างของห้องที่เป็นทรงกลม เป็นพื้นยกชั้นแคบๆ แนวยาว ที่มีพื้นที่จำกัด พวกเรากว่าสิบคน ต้องไปยืนเบียดเสียดกันบนนั้น พร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือถ่ายทอดเสียง มิกเซอร์และเครื่องรับส่งสัญญาณต่างๆมากมาย ในตอนแรก คิดยังไม่ออกว่า จะนั่งกันอย่างไร เพราะเก้าอี้แถวเดียวนั้น ประกอบด้วย ผู้ดำเนินรายการภาษาจีน 2 คน ภาษาไทย 2 คน เจ้าหน้าที่เทคนิคอีก 2 -3 คนและผู้ประสานงานอีก 1 คน สุดท้าย ลงตัวกันที่ เทคนิค เสียสละเป็นคนยืนควบคุมระบบเสียง โดยให้พวกเราได้นั่งเบียดกันทำงาน
เสียงนับให้สัญญาณดังในหูฟัง 3 ....2.....1 เริ่ม
สวัสดีค่ะ ต้อนรับคุณผู้ฟังทุกท่าน พบกับรายการถ่ายทอดสด.......
ตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมง เป็นช่วงเวลาแห่งความกดดัน และต้องใช้สมาธิสูงมากสำหรับทีมงาน เพราะเป็นรายการสด สถานการณ์และกิจกรรมบนเวที เริ่มขึ้นแล้ว เราไม่สามารถหยุดได้เลยแม้แต่ชั่วขณะ โดยที่ไม่รู้ว่า จะมีความเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นบนเวทีหรือไม่ ดังนั้น ความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างทีมงาน ทั้งคนหน้าไมค์และหลังไมค์ จึงสำคัญและมีความหมายมาก
ในวันนั้น เราไม่มีข้อมูลคำปราศรัยของผู้นำจาก 3 ชาติ อยู่ในมือ จึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยนัดหมายกันก่อนไว้ว่า จะใช้การแปลสดจากคำปราศรัยที่จะเป็นภาษาอังกฤษ หรือจีน ก็ว่าไป และจะใช้การบรรยายสิ่งที่เกิดบนเวทีประกอบด้วย
โชคดี ที่ได้รับทราบในเช้าวันงาน ก่อนจะเริ่มเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ว่า มีล่ามภาษาไทยด้วย ดังนั้น ก็แก้ปัญหาว่า สำหรับผู้นำที่ไม่มีเนื้อหาคำกล่าวปราศรัย ก็จะดึงสัญญาณเสียงจากห้องของล่าม มาแทน
มีตัวอย่างหนึ่งที่ต้องแก้ปัญหาแต่ทำให้เห็นว่าเป็นปฏิภาณที่พวกเราในฐานะทีมงานต้องคิดเผื่อกัน นั่นคือ เราไม่ทราบว่า คุณยิ่งลักษณ์จะกล่าวคำปราศรัยเป็นภาษาไทยหรือไม่ แต่คิดไว้ว่า ถ้าเป็นภาษาไทยจะปล่อยให้ได้ยินเสียงสด (โดยทีมของเรายังไม่ได้เห็นคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีไทย) ในขณะที่ลืมนึกไปถึงนายกรัฐมนตรีลาว (ซึ่งคนไทยก็ฟังภาษาลาวออก)
ทีมงานเทคนิค ไหวตัวทันก่อนหน้านั้นระหว่างที่กำลังบรรยายเรื่องอื่นๆ ก็ส่งสัญญาณมาถามว่า จะเลือกปล่อยเสียงของผู้แทนลาวอย่างไร ปล่อยเสียงสด กรณีพูดภาษาลาว หรือพวกให้เราแปล สุดท้ายท่านพูดลาว เราก็เลยได้ปล่อยเสียงให้ผู้ฟังได้ยินสดๆ ในขณะที่ นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวเป็นภาษาอังกฤษ ก็เลยต้องผ่านการแปล
การรู้คิว และจังหวะที่สอดรับกัน ระหว่าง ผู้ดำเนินรายการ ด้วยกันเอง และระหว่างผู้ดำเนินรายการกับทีมงานเทคนิค เพื่อควบคุมเสียง มีความสำคัญและจำเป็นมาก ผู้เขียนโชคดีที่มีทีมงานซึ่งมีประสบการณ์ และทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นทีมเวิร์ค ผู้ดำเนินรายการร่วม ก็มีปฏิภาณที่เราจะช่วยกันบรรยายและให้ข้อมูลบนเวที แก่ผู้ฟังที่ไม่ได้เห็นด้วยสายตาเหมือนในโทรทัศน์ว่า กำลังมีอะไรเกิดขึ้น
ในที่สุด ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ก็เสร็จสิ้นไปด้วยดี กิจกรรมอื่นๆภายในงานยังดำเนินต่อไป ทีมถ่ายทอดสด งานเสร็จแล้ว แต่กลุ่มนักข่าวและสื่อมวลชนที่มาติดตามความเคลื่อนไหวภายในงาน ยังคงต้องทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป จนกว่าจะลุล่วง
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง