ปีนี้เป็นปีแรกที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ได้รับเชิญจากจีนให้เข้าร่วมจัดงานแสดงนิทรรศการในงานมหกรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 10 ที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กันยายนที่ผ่านมา
นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงฯ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ ระหว่างไปร่วมงานมหกรรมฯ ว่า ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯของไทยและจีน ได้มีความร่วมมือกันอยู่แล้ว แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่กระทรวงฯได้มาร่วมจัดแสดงงานด้วย ภายใต้แนวคิด Advance Technology เป็นการตอบรับตามคำเชิญของนายหว่าง กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯของจีนที่เดินทางไปเยือนไทย
ปีนี้ กระทรวงฯ จัดงานภายใต้แนวคิด From Nature to Science and Technology เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานทางการเกษตร ดังนั้นจึงต้องหาทางจะทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้มีผลผลิตได้มากขึ้น จึงได้นำผลงานค้นคว้า วิจัยด้านต่างๆที่พัฒนาจากงานด้านการเกษตร มานำเสนอ อาทิ การพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และข้าวหอมนิลซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูงและมีส่วนช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ และข้าวสังข์หยด ซึ่งอุดมด้วยวิตามิน และมีแร่ธาตุสูง ข้าว เยลโลไรซ์ 11 เหมาะในการทำเส้นก๋วยเตี๋ยว เพราะนุ่มเหนียว และข้าว ไรซ์เบอรี่ มีวิตามินอี สังกะสี ก็มีการแยกสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อให้มีความหลากหลาย มีการแปรรูปจากผลิตภัณฑ์ข้าว เช่น กาบาไรซ์ ข้าวกล้องงอก น้ำนมข้าว
นอกจากนี้ก็มีการจัดแสดงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เช่น การทำโซนนิ่งด้านการเกษตร โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาช่วยจัดทำฐานข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพรวมของพื้นที่ในประเทศไทย ทั้งสภาพภูมิประเทศ สภาพพื้นดิน ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ ประกอบกันเพื่อให้สามารถวิเคราะห์และวางแผนการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อทำการเกษตรได้อย่างเหมาะสม ให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณมากขึ้น รวมไปถึงการใช้ข้อมูลเพื่อคาดการณ์ และแนะนำพันธุ์พืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ที่จะใช้เพาะปลูก
เทคโนโลยีอีกประเภทหนึ่งที่กระทรวงฯ ได้พัฒนา เพื่อช่วยด้านการเกษตร คือการคิดค้น "ใบข้าว แอพลิเคชั่น" เพื่อใช้บนมือถือสมาร์ทโฟน ให้เกษตรกร นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง สามารถไปใช้โดยถ่ายรูปใบข้าว เพื่อมาทดสอบเทียบสีกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แล้วสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ข้าวต้นนั้น ขาดธาตุอาหารอะไร เป็นโรคอะไร จะได้รักษาหรือแก้ไขได้ตรงจุด อาทิ ขาดธาตุไนโตรเจน หรือฟอสฟอรัส ก็สามารถเพิ่มปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเฉพาะที่ขาดได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยมากเกินไป หรือใส่แบบเหมารวม ทำให้เกษตรกรประหยัดเงิน ไม่สิ้นเปลือง นักวิชาการทำงานสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับและตรวจในห้องปฏิบัติการ เกษตรกร ก็สามารถหมั่นดูแล ตรวจสอบใบข้าวได้ตลอดระยะเวลาการปลูก ทำให้เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น
ในงานมหกรรมจีนอาเซียนครั้งที่ 10 ปีนี้ หนึ่งในสี่พันธกิจที่ได้ประกาศในพิธีเปิดคือการริเริ่ม การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่ง รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯของไทย กล่าวว่า ปีที่แล้ว จีนได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือด้านนี้กับอาเซียน โดยได้จัดตั้ง China- Asian Science and Technology Partnership (China-Asian STEP) และมีความร่วมมือหลายด้าน เช่น
1. การใช้ห้องปฏิบัติการ และห้องทดสอบ ระบบรางและโลหะร่วม ( Join Lab)
2. ความร่วมมือด้านดาวเทียม เพื่อใช้ข้อมูลแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ( remote censing)
3. การพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (young scientists) อายุไม่เกิน 45 ปี จีนได้เชิญให้ไทยส่งนักวิทยาศาสตร์มาร่วมงานพัฒนาและวิจัยร่วมกัน 10 คน ในเวลาประมาณ 6 เดือน-
1 ปี โดยจีนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ก็เป็นโอกาสดีที่นักวิทยาศาสตร์ฯไทยจะได้วิจัยในหัวข้อที่ตนเองสนใจมาทำงานร่วมกับจีน
4. การถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transfer) การแลกเปลี่ยนระหว่างกันเพื่อนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น
สำหรับความร่วมมือมีหลายระดับ ตั้งแต่การทำวิจัยร่วมกัน เพื่อแบ่งปันความรู้ หากมีผลงานออกมาแล้ว การจะนำไปสู่ประโยชน์เชิงพานิชย์ ต้องมีการทำข้อตกลงและดูแลทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกัน
อีกด้านหนึ่ง กระทรวงฯได้มีความร่วมมือในระดับอาเซียนมีการใช้ข้อมูลดาวเทียม เพื่อช่วยป้องกันภัยพิบัติต่างๆ
สำหรับความพร้อมของกระทรวงฯในการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯของไทย กล่าวว่า งานด้านวิทยาศาสตร์ เป็นเหมือนยาดำที่เข้าไปแทรกอยู่ในทุกๆงาน เช่น การพัฒนาคน บุคลากรด้านวิจัยและพัฒนา
ภาคอุตสาหกรรมจะเข้าไปมีส่วนในด้านเทคโนโลยี ค้นคว้าความรู้ใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจกับประเทศอื่นๆได้
ส่วนด้านต้นน้ำ ผู้ผลิต เช่นเกษตรกร ก็จะใช้งานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสร้างความหลากหลายของสายพันธุ์พืช หาวิธีใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนโดยได้ผล
เพิ่มมากขึ้น หรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ในเวลาเดียวกันก็จะพัฒนาคุณภาพของห้องแล็ป ห้องปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่ออำนวยความสะดวก และทำให้นักวิจัยสามารถทำงานได้รวดเร็ว มีความก้าวหน้ามากขึ้น
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง