บรรยากาศด้านหน้าของงานมหกรรมฯ
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมงานมหกรรมหนังสือนานาชาติกรุงปักกิ่งครั้งที่ 20 : The Beijing International Book Fair (BIBF) จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นที่ the China International Exhibition Center (New Venue). บนพื้นที่ประมาณ 53,600 ตารางกิโลเมตร ตอนแรกคิดว่า จะเป็นเหมือนงานสัปดาห์หนังสือที่เมืองไทย ที่จะเห็นบรรยากาศของผู้คน ทั้งครอบครัว หรือเด็กๆ ไปเลือกซื้อหาหนังสือให้สนุกสนาน จากสำนักพิมพ์ต่างๆ
แต่เมื่อไปถึง จึงเพิ่งทราบว่าตัวเองเข้าใจผิด เพราะการจัดงานมหกรรมหนังสือฯ ของปักกิ่งนี้ เป็นการจัดเพื่อเปิดเวทีให้กับกลุ่มผู้ประกอบการสำนักพิมพ์ และสมาคมฯสิ่งพิมพ์ต่างๆ ได้มาเจอะเจอ พบปะ กับบรรดาลูกค้า และผู้สนใจหาซื้อลิขสิทธิ์หนังสือต่างประเทศ มาแปลเป็นภาษาจีนต่างหาก เป็นเวทีซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือและงานแปล ไม่ได้เป็นพื้นที่ขายหนังสือสำหรับคนทั่วๆไป อย่างที่คิดไว้ตอนแรก
แต่ไหนๆ เมื่อมาถึงแล้ว ก็อยากจะแวะเวียนเข้าไปดูบรรยากาศเสียหน่อย.. ก่อนเข้างาน ก็ต้องซื้อตั๋วด้วยนะคะ จะมีบัตรฟรีก็ต่อเมื่อต้องสำรองที่นั่งล่วงหน้าผ่านอินเตอร์เนตเท่านั้น แต่เนื่องจากสถานที่ขายตั๋ว อยู่ไกลไปอีกด้านหนึ่ง ไม่ได้อยู่ใกล้ทางเข้า ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่ง มายืนเร่ขายตั๋วเข้างาน โดยจะบวกราคาเพิ่มอีก 4-5 หยวน เป็นค่าเสียเวลาเดิน และไม่ต้องต่อคิว ซึ่งจะมีคนที่ไม่อยากเดินฝ่าแดดร้อน ก็เลือกยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อความสะดวกสบาย..
ที่แปลกใจคือ ไม่มีเจ้าหน้าที่ทางการของฝ่ายจัดงานมาดำเนินการใดๆ
วันที่ไปถึง เป็นวันที่ 4 ของการจัดกิจกรรม สามวันแรก เขาเปิดให้เฉพาะกลุ่มคู่ค้าและนักธุรกิจมาเจอกัน วันที่เหลือค่อยเปิดให้คนทั่วไปเข้าชม และก็สามารถซื้อหาหนังสือหรือของเล่นเด็กบางบูธที่วางจำหน่ายด้วยได้ ในวันที่ไปนั้น มีผู้คนไม่มากนัก เนื่องจากวันที่คึกคักสุดๆ คือช่วงแรกของงานและได้ผ่านไปแล้ว
กลุ่มสำนักพิมพ์ด้านการศึกษา
ปีนี้ งานมหกรรมฯ จัดขึ้นโดย มีสำนักพิมพ์กว่า 2,000 แห่งจากกว่า 76 ประเทศและเขตแคว้นเข้าร่วมงาน สำนักพิมพ์จากอังกฤษ เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และรัสเซียมาเข้าร่วมนำเสนอหนังสือ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าร้อยละ 25 และสำนักพิมพ์จากเอเชียแอฟริกาและละตินอเมริกาก็มาจัดบูธ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เช่น สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งสันนิบาตอาหรับนำสำนักพิมพ์ 14 แห่งเข้าร่วมงานมหกรรมเป็นครั้งแรก ซึ่งประเทศซาอุดีอาระเบียจะนำหนังสือที่ตีพิมพ์ใหม่ 500 เรื่องจากสำนักพิมพ์ 12 แห่งเข้าร่วมงาน
การจัดงาน อยู่ภายใต้แนวคิด "introducing excellent books from around the world into China and leading Chinese books to the world". โดยปีนี้ ประเทศซาอุดิอารเบียได้เป็นประเทศเกียรติยศ
บูธจากชาติอาหรับ
นอกเหนือจากโซนของหนังสือทั่วไปแล้ว ยังมีโซนของสื่อดิจิตอล และสื่อสำหรับเด็ก การ์ตูนและแอนิเมชั่นด้วย
บูธของเล่นเด็ก
บูธของสื่อจากนานาประเทศ
พอเข้าไปในงานได้ ก็ตรงดิ่งไปหาก่อนเลยว่า บูธแสดงหนังสือของประเทศไทย อยู่ตรงไหน เพราะอยากรู้ว่าจะมีหนังสือแบบไหนมาร่วมงานบ้าง โชคดี หาไม่ยาก ได้พบกับทีมงานของ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (BUPAT) ซึ่งปีนี้ คุณปราบดา หยุ่น อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ เป็นคนนำทีมงานมา โดยนำหนังสือจากสำนักพิมพ์ 17 แห่งที่เป็นสมาชิกสมาคม มาร่วมงานด้วย จำนวน 677 ปก
บูธของ BUPAT จากประเทศไทย
คุณปราบดา เล่าให้ฟังว่าผลงานสื่อสิ่งพิมพ์ไทย มีความโดดเด่นเรื่อง หนังสือสำหรับเด็กและหนังสือภาพ นักวาดไทย มีฝีมือในระดับอาชีพและเทียบเท่ากับสากลได้เลยทีเดียว จึงเป็นที่สนใจของผู้ที่มาหาซื้อลิขสิทธิ์มาก โดยมองว่า โอกาสสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ไทยที่จะเข้ามาสู่ตลาดจีน ยังมีได้อีกมาก เพราะจีนได้เปิดประเทศแล้วและเปิดรับสื่อจากนานาชาติมากขึ้น
ในงานนี้ มีบูธจากประเทศไทย สองแห่ง นอกเหนือจากบูธของสมาคมฯ ก็มีบูธของกรุงเทพมหานคร มาจัดอยู่ใกล้ๆกันฝั่งตรงข้าม เพื่อแนะนำกทม.ที่ได้รับเลือกเป็นเมืองแห่งการอ่านในปีนี้ และแนะนำการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม International Publishers Congress Association (IPA) ในปีหน้า ระหว่างวันที่ 25-27 มีนาคม 2557 ที่กรุงเทพฯ ด้วย
มหกรรมหนังสือนานาชาติกรุงปักกิ่งจัดขึ้นปีละครั้ง โดยในพิธีเปิดได้มีกิจกรรมมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่สร้างคุณูปการดีเด่นด้านการดีเด่นประชาสัมพันธ์หนังสือจีนไปสู่โลก ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลปีนี้ 6 คนจากอียิปต์ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา สวีเดน อินโดนีเซียและอีตาลี
ล่าสุด ผู้เขียนได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากสมาคมฯหลังเสร็จงานว่า การซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือและงานแปลประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ได้รับแจ้งว่า ตอนนี้รายงานเบื้องต้นคือ มีการปิดการซื้อขายไปแล้ว 22 ปก คิดเป็นมูลค่ากว่าหมื่นดอลล่าร์ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับสำนักพิมพ์ของไทย
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง