นักศึกษาจากสาขาศิลปและการแสดง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีนและชาติอาเซียนสัปดาห์ละครอาเซียน 2013 ที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี
คณะนักแสดงชาวไทย
อ.ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ผู้กำกับละครเวทีเรื่องนี้ เล่าที่มาว่า เนื่องจากได้ไปพบกับผู้แทนคณะกรรมการจัดงานที่ Nanning Institude of Art and Culture ซึ่งเคยเห็นผลงานการกำกับละครเวทีเรื่องเดียวกันที่ได้เคยแสดงไปเมื่อ 22 ปีที่แล้ว ที่อินเดีย แล้วเกิดความสนใจ ชวนให้เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ที่เมืองจีน เพราะเห็นว่าเนื้อหายังมีความร่วมสมัย เลยตกลงรับคำเชิญมา ขณะเดียวกันสาขาวิชาศิลปและการแสดงของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพิ่งจัดตั้งใหม่เป็นปีที่สอง จึงถือเป็นโอกาสให้นักศึกษาในสาขาได้แสดงผลงานด้วย
ก่อนเริ่มการแสดง มีผู้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัญลักษณ์และความหมายของสีบนธงชาติไทยด้วย
นักแสดงที่เล่นละครเวทีเรื่องนี้ เป็นนักศึกษาวิชาเอกการแสดง ชั้นปีที่สอง ได้ทดลองเล่นมาแล้วในมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะเดินทางมาแสดงอีกครั้งที่ประเทศจีน
เรื่องราวของ "คนทรงเจ้า" นวนิยายซึ่งเป็นบทประพันธ์ของนักเขียนรางวัลซีไรท์ วิมล ไทรนิ่มนวล พิมพ์ครั้งแรกในปี 2531 สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมชนบทไทยภาคกลาง เป็นเรื่องราวในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ชาวบ้านเป็นเกษตรกร ทำไร่ทำนา ขามตัวเอกของเรื่องเป็นชาวบ้านในหมู่บ้าน อยู่มาวันหนึ่งจะเกิดน้ำท่วม เขาเลยมีความคิดที่จะอพยพสัตว์เลี้ยงไปไว้บนโคกสูงเพื่อหนีน้ำ แต่บนโคกนั้นมีต้นไม้ใหญ่ที่ชาวบ้านนับถือและเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือ เจ้าพ่อไกร สิงสถิตย์อยู่ ขามไม่เชื่อ ก็เลยจะไปตัดต้นไม้นั้น แต่เป็นการตัดโดยที่ลึกๆ เขาก็รู้สึกกลัว.. กลัวในสิ่งที่ชาวบ้านเชื่อ โดยเขาเองก็ไม่รู้ว่า เจ้าพ่อไกร มีจริงหรือไม่ ปรากฎว่าระหว่างนั้นเขาเกิดไม่สบาย ชาวบ้านเลยลงความเห็นว่า เป็นเพราะไปลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เห็นว่าเขาถูกเจ้าเข้าทรง หลังจากนั้น เมียท้องแก่คลอดยาก ชาวบ้านเลยบอกให้เขาบนเพื่อขอให้เมียคลอดลูกปลอดภัย
หลังจากนั้น ก็มีสถานการณ์ที่เชื่อมโยงเกี่ยวพัน ที่ทำให้ขามตกกระไดพลอยโจน สวมบทบาทกลายเป็น "ร่างทรง" ของเจ้าพ่อไกร เขาพบว่า การเป็นร่างทรง ทำให้เขาได้สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากชาวบ้าน อีกทั้งเป็นที่เคารพนับถือ มีทั้งเงินความมั่งคั่งและอำนาจ แม้แต่ผู้ใหญ่บ้านที่ไม่ชอบหน้ากันมาก่อน ก็เริ่มยอมรับ และมีผลประโยชน์ร่วมด้านธุรกิจขายเครื่องเซ่นไหว้และอื่นๆเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกัน
อาจารย์ดำเกิงบอกว่า เหตุที่เลือกนำนวนิยายเรื่องนี้มาดัดแปลงเป็นละครเวที เพราะเห็นว่า มีแง่มุมที่น่าสนใจ และไม่ล้าสมัย
" เนื้อหา มีความเป็นสากลเพียงพอ และมีกลิ่นอายความเป็นไทย เหมาะที่จะนำมาแสดงต่างประเทศ เรื่องราวก็มีความสนุก แง่มุมหลากหลาย สะท้อนวิถีของความเชื่อของไทยซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอยู่จริง การแย่งชิงทรัพยากร การรแสวงหาอำนาจเพื่อทำให้ตัวเองอยู่รอดและเหนือคนอื่น มีอยู่ในทุกๆสังคม ผมยังคงยึดแก่นหลักจากนวนิยายตามผู้ประพันธ์ ผมเห็นว่า คนเราเป็นผลิตผลจากความคิดตัวเอง คิดว่าเป็นอะไรก็จะทำอย่างนั้น จะดีชั่ว อยู่ที่ตัวทำ คำพูดที่พูดออกไป จะเป็นผลิตผลจากความคิดของตัวเอง"
การแสดงจัดขึ้นสองรอบ โดยใช้ภาษาไทย แต่มีเอกสารประกอบเป็นภาษาอังกฤษ และอธิบายเนื้อหาย่อเป็นภาษาจีนเป็นช่วงๆ ดังนั้น ทีมงานจึงต้องเพิ่มการสื่อสารด้วยท่าทาง และน้ำเสียง ให้คนดูเห็นภาพ เข้าใจเรื่องราวได้ จนได้รับรางวัลโหวตเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากกลุ่มผู้ชมชาวจีน อาจารย์ดำเกิงบอกว่า ได้บอกให้นักศึกษาเล่นเต็มที่ เพื่อให้ผู้ชมสนุก
" ศิลปการแสดง ไม่มีพรมแดน การแสดงที่นี่เนื่องจากใช้คนละภาษา ดูเผินๆ เหมือนมีอุปสรรค แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ ศิลปะเปิดให้คน "รู้สึก" ต่อกัน แล้วทำให้คนเปิดการเรียนรู้ เราส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เปิดโอกาสได้มาเรียนรู้ เพื่อทำหน้าที่เป็นคนสืบทอดให้เกิดความเข้าใจกันและกันในรุ่นต่อๆไป"
ด้าน ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ เกิดอรุณสุขศรี หัวหน้าสาขาศิลปและการแสดงคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นผู้นำคณะไปแสดงละครเวทีในครั้งนี้ กล่าวว่า เป็นโอกาสอันดีที่ตัวแทนประเทศไทยได้นำศิลปวัฒนธรรมมาเป็นสะพานเชื่อมไมตรี นอกจากละครเวทีแล้ว ในพิธีเปิดก็แสดงนาฎศิลป์ไทยด้วย เป็นฟ้อนในจังหวะสนุกสนาน มีดนตรีและกลิ่นอายที่ผสมผสานระหว่างภาคเหนือกับภาคอีกสาน ซึ่งได้รับชื่นชมมาก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเวิร์คชอบให้ส่งตัวแทนของเราไปร่วมเรียนรู้วัฒนธรรมและการแสดงของชาติอื่นๆ ในอาเซียนและจีน ส่วนรอบของประเทศไทย ก็นำกิจกรรมของไทยอย่างง่ายๆ มาให้ชาติอื่นเรียนรู้ อาทิ รำวง เป็นต้น
"เราได้เรียนรู้จากเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นไทยหรืออาเซียน มีสิ่งทีร่วมกันอยู่ เช่นการละเล่นเด็ก มีร่วม เช่น มอญซ่อนผ้า อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนามก็มี ส่วนรำวง ไทย ลาว มี เหมือนกัน หรือด้านนาฎศิลป์ ลีลา ท่ารำ การใช้อวัยวะต่างๆของร่างกายจะพบว่า นาฎศิลป์ของกลุ่มชาติอาเซียนใช้ข้อมือและข้อเท้าเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากตะวันตก นักศึกษาไทยก็ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ด้วย มองว่า การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนี้ เด็กได้เจอของจริง ได้เรียนรู้วัฒนธรรมอาเซียนจริงๆ และเขาจะได้ตระหนักถึงความเป็นอาเซียนจริง"
ผศ. ดร. กิตติศักดิ์ บอกว่า ถ้าคนอาเซียนไม่เข้าใจกันจริงๆในเบื้องต้นจะสานต่อเศรษฐกิจหรือเรื่องอื่นก็ทำได้ยาก ดังนั้นการสร้างความเข้าใจอันดีด้วยมิติทางวัฒนธรรม ด้วยมิตรภาพที่ดีต่อกัน จะนำไปสู่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจต่อไปได้
"เศรษฐกิจก้าวหน้าไม่ได้ ถ้าพื้นฐานหรือรากฐานของคนระหว่างประเทศ ไม่ดี การใช้ศิลปวัฒนธรรมแลกเปลี่ยน สร้างการเรียนรู้และความเข้าใจอันดีต่อกัน การสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะนำไปสู่มิตรภาพที่จริงใจ และเกิดทัศคติที่ดีต่อกัน ลบความขัดแย้งในอดีตที่เคยมีในอดีตในแบบเรียนเพื่อเริ่มต้นใหม่ สร้างความสัมพันธ์ใหม่ ถ้าอาเซียนร่วมมือกับจีน ก็จะเป็นโอกาสดีในการขยายสู่ความร่วมมือของเอเชียตะวันออกได้มากขึ้น"
ในกิจกรรมสัปดาห์ละครอาเซียนครั้งนี้ มี คณะการแสดงทั้งระดับมืออาชีพและตัวแทนสถาบันการศึกษาเข้าร่วมงาน ได้แก่ ตัวแทนจากประเทศไทย เวียดนาม (2 คณะ) สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย(2 คณะ) และประเทศจีนอีกหลายคณะ
นอกจากการแสดงที่ประเทศจีน นักศึกษายังมีแผนจะนำการแสดงชุดนี้ไปเล่นที่เทศกาลละครกรุงเทพ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 -17 พฤศจิกายน นี้ที่เวทีกลาง สวนสันติชัยปราการ กรุงเทพ อีกด้วย
เสียงตอบรับจากผู้ชมที่เข้ามาพูดคุยและถ่ายรูปด้วย หลังจบการแสดง
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง