นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ สถานีวิทยุซีอาร์ไอ ภาคภาษาไทย ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียงของจีนเดินทางไปเยือนกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย และได้นำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงให้กับรัฐบาลไทยพิจารณา เนื่องจากประเทศไทย กำลังอยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนเส้นทางคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยนายสมชาย สนับสนุนแนวทางการขยายและพัฒนาเส้นทางรถไฟ แต่ตั้งข้อสังเกตเรื่องของการวางแผนการลงทุนของรัฐบาลไทยที่ควรต้องให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในการลงทุนและประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ เพราะเส้นทางที่กำหนดไว้ ยังไม่เชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆได้อย่างครบวงจร อีกทั้งการใช้เงินกู้ทั้งหมด จะมีภาระหนี้สินและดอกเบี้ยสูงมาก ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของจีนที่ต้องการเชื่อมและเปิดประเทศไปสู่ภูมิภาคได้อย่างรอบด้าน อีกทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลจีน กำกับดูแลทั้งกลุ่มธุรกิจและการเมืองไม่ให้ร่วมมือกับกระบวนการทุจริตคอรัปชั่นทุกขั้นตอน หากจะมีขึ้นในการมาร่วมดำเนินโครงการใดๆ กับประเทศไทย เพื่อให้ประโยชน์ของโครงการตกแก่ประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริงและจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ชื่อเสียงของทั้งสองฝ่ายในอนาคต
นายสมชายเห็นว่า ความสัมพันธ์ไทยจีน เป็นความร่วมมือที่ดีมาโดยตลอด มีการแลกเปลี่ยนและการเยือนระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เห็นด้วยจะขยายความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อไปจนถึงอาเซียน โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งที่จะเชื่อมจากจีน ไปลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทางตอนใต้ทั้งหมด ผ่านไทย เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งขณะนี้การคมนาคมขนส่งของจีน พัฒนาไปมาก โดยเฉพาะด้านการรถไฟ มีเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งคุณภาพ และต้นทุนที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกต ซึ่งต้องการให้พิจารณา นั่นคือไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรน้อยกว่าจีนมาก แค่ประมาณ 64 ล้านคน ขณะที่จีนมีประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน ไทยมีงบประมาณจำกัด เพียงแต่มีจุดเด่นด้านภูมิศาสตร์อยู่กลางในภูมิภาคอาเซียน ไทยมีถนนเส้นทางคมนาคมดีอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเจริญขึ้นก็เห็นด้วยกับการขยายและสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่
ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยชุดที่แล้ว มีแผนการอยู่แล้วที่จะสร้างเส้นทางจะพัฒนาจากระบบรางเดี่ยวเป็นรางคู่เชื่อมเข้าสู่ประเทศลาว ผ่านตอนเหนือและอีสานของไทย ลงไปสู่ทางภาคใต้ จังหวัดประจวบฯ เชื่อมไปยังปาดังเบซาร์ แล้วข้ามไปประเทศมาเลเซีย ระยะทางประมาณ 4 พันกิโลเมตร
การลงทุนภาพรวมในโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลไทย โดยเป็นงบประมาณ
สำหรับระบบรถไฟความเร็วสูงถึง 8 แสนล้านบาท ก็ต้องพิจารณาให้รอบด้านและคุ้มค่า มีประสิทธิภาพมากที่สุด มองยุทธศาสตร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งการขนส่งคนและสินค้า สิ่งของต่างๆ เพื่อไปเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคด้วย
แต่การวางแผนเส้นทางของรัฐบาลชุดนี้ยังมีปัญหาเพราะไม่ได้เชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจริง เช่น เส้นทางสายเหนือไปจบที่เชียงใหม่ ไม่ได้เชื่อมต่อ กับ พม่า ลาว หรือจีนได้เลย ลงทุนเกือบ 4 แสนล้านบาท ยังมีปัญหาเรื่องความเหมาะสมและคุ้มค่าการลงทุน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคนและสินค้า
นายสมชายเห็นว่าน่าจะมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางให้เหมาะสมและถูกต้อง เดิมวางแผนเชื่อมลาวและจีนผ่านจังหวัดหนองคาย ทั้งรถไฟความเร็วสูงและระบบรางคู่ แต่แผนของรัฐบาลเชื่อมไม่ถึง สิ้นสุดแค่ที่จังหวัดนครราชสีมาทางภาคอีสาน ห่างกทม.แค่ 300 กม. ขณะที่ถ้าวางเส้นทางต่อไปถึงจังหวัดหนองคาย ระยะทางประมาณ 700 กม. กลายเป็นแผนอยู่ในระยะที่สอง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี
นายสมชายกล่าวว่า ได้เคยมาดูงานการรถไฟจีนและศึกษาข้อมูล คุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รับทรบว่า แม้จีนมีประชากรเป็นพันล้าน การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงน่าจะคุ้มค่า แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่คุ้มทุน ซึ่งรัฐบาลจีนยอมรับได้เพราะจัดให้เป็นสวัสดิการแก่ประชาชน และเนื่องจากโครงการต่างๆของจีนนั้นลงทุนด้วยเงินงบประมาณที่ไม่ใช่เงินกู้จากต่างประเทศ จึงไม่มีภาระเรื่องดอกเบี้ย
ขณะที่ประเทศไทย เป็นการลงทุนโดยเงินกู้ทั้งหมด ซึ่งต้องมีดอกเบี้ย จ่ายรวมแล้ว เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ประชาชนไทยต้องจ่ายคืน ประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาลที่จะเป็นหนี้สินให้กับลูกหลานในอนาคต ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบจำนวนประชากรในหัวเมืองใหญ่ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนจีนก็จะเห็นความเแตกต่าง ไทยมีประชากรหนาแน่นเพียงแค่ในกรุงเทพฯจำนวนสิบกว่าล้านคน ส่วนในเมืองใหญ่ในภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ประชากรไม่กี่ล้านคนซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับเมืองใหญ่ในมณฑลต่างๆของจีน ดังนั้น จุดคุ้มทุนของรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ แต่สำหรับการพัฒนารถไฟรางคู่ของประเทศไทย หากยังไม่คุ้มทุน ก็ยังยอมรับได้ในการพัฒนา เพราะเป็นการขยายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดูแลอยู่แล้ว
นายสมชาย มีข้อเสนอที่จะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งของจีนและไทยเชื่อมไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียน นั่นคือ เสนอให้เป็นความร่วมมือลงทุนระหว่างไทยจีนสำหรับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย เช่นร่วมทุนกัน 50-50 โดยวางแผนให้เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างครอบคลุมทั้งหมด ขณะที่ไทยอาจลงทุนเองทั้งหมดในโครงการรถไฟรางคู่
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง