เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง วิบูลย์ คูสกุล ให้สัมภาษณ์วิทยุซีอาร์ไอ เกี่ยวกับ อนาคตและโอกาสสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทย -จีน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน พัฒนามาถึงจุดที่ดีมากในเวลานี้ แต่มีประเด็นสำคัญที่ยังต้องให้ความสำคัญและปรับปรุง เพื่อช่วยให้การติดต่อระหว่างกันราบรื่น สะดวกยิ่งขึ้น นั่นคือ ปัญหาการพัฒนาบุคลากรไทย ไม่ทันกับขนาดของการเติบโตของความสัมพันธ์ สองประเทศเรามีการติดต่อและปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด แน่นแฟ้นทุกระดับ เฉพาะปีที่แล้ว (2012) มีคณะจากไทยเดินทางมาจีนกว่า 400 คณะ แต่ขาดบุคลากรที่พูดจีนได้ ต้องประสานงานกับสถานทูตเพื่อหาล่ามให้ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ มีคณะนักเรียนที่มาศึกษาต่อในประเทศจีนเดินทางมาพบกับท่านเอกอัครราชทูตวิบูลย์ มีการพูดคุยกัน ท่านทูตให้ข้อสังเกตกับนักเรียนไว้ว่า การเดินทางมาเมืองจีน ขอให้มาอย่างมีเป้าหมาย เพราะบางคน มาเรียนตามเพื่อน มาโดยยังไม่รู้ว่า เรียนไปทำไม ดังนั้นต้องทำให้เห็นภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่พัฒนาไปมาก คำถามคือ เราจะรองรับกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วดังกล่าวได้อย่างไร
ในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีน มิติต่างๆ ไทยควรต้องตั้งเป้าหมายโดยเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรามีความโดดเด่นหรือมีความได้เปรียบ เช่น การวางแผนเชื่อมต่อด้านคมนาคม ก็ควรต้องวางแผนเส้นทางให้เชื่อมกับการขนส่งสินค้าหลักของไทย เช่น ผลไม้และสินค้าเกษตรไทย เพื่อให้เดินทางเข้าสู่ประเทศจีนได้สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะผักผลไม้ ความสำคัญที่สุดคือ คุณภาพและความสดใหม่ ต้องไปถึงมือผู้บริโภคโดยเร็วที่สุด ในเวลาอันสั้นที่สุด
เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่งกล่าวเพิ่มเติมว่า ไทย-จีน เจริญสัมพันธไมตรีมากว่า 38 ปี มีความก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจ และความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและการเมือง จากนี้ไป สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมและจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับความสัมพันธ์สองฝ่ายในอนาคตระยะยาว นั่นคือ การกระชับความผูกพันผ่านสิ่งที่เรียกว่า "soft power" ทั้งหมด ทั้งภาพยนตร์ ละคร เพลง ความบันเทิงรูปแบบต่างๆ อาหาร ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ
"ก่อนหน้านี้ เรามักจะเน้นในเรื่องนโยบาย ด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคงกันมาตลอด สถานการณ์ในโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เศรษฐกิจเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนเลย นั่นคือ ความชอบ และความนิยม เชื่อมั่นในกันและกัน ดังนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะให้ความเชื่อมั่นกันนี้คงอยู่ต่อไป เรายังมีความสัมพันธ์ในมิติอื่นๆ อีก เช่น ศิลปะ วัฒนธรรม ด้านสังคม ฯลฯ นี่เป็นสิ่งที่เราควรเพิ่มและกระชับความร่วมมือให้ใกล้ชิดกันมากกว่านี้ ผมอยากพัฒนาความร่วมมือที่เรียกว่า "soft power" ให้ได้มากทัดเทียมกับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการเมือง"
เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะทำให้โครงการจัดตั้ง ศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีน มีความคืบหน้าภายในปีนี้ และประสบความสำเร็จในที่สุด โดยเป็นศูนย์ที่เน้นการทำกิจกรรมต่างๆทั้งปี มุ่งให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ สามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมได้ จะมีการสอนทำอาหารไทย ฉายภาพยนตร์ไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น กีฬามวยไทย เพื่อให้ชาวจีนได้รู้จักคนไทย และเมืองไทยมากขึ้นจากศูนย์ฯแห่งนี้ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวชาวจีน ซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของชาติ ไม่ว่าความสัมพันธ์ด้านอื่นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรแต่ถ้าเรามีความผูกพันกัน ด้วยสิ่งเหล่านี้ ความผูกพันจะมั่นคงยาวนาน และจะเป็นการปูพื้นฐานอนาคตให้กับคนรุ่นใหม่ของสองประเทศในระยะยาวไม่มีวันสิ้นสุด
เอกอัครราชทูตวิบูลย์บอกว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับชาวจีนเสียใหม่ แทนที่จะคิดกันแค่ว่า ไทยจีนเราผูกพันกันเพราะเรามีสายเลือดเดียวกัน คนไทยจำนวนมากมีบรรพบุรุษเป็นชาวจีน แล้วคิดว่าสิ่งนี้เป็นข้อได้เปรียบในเรื่องความสัมพันธ์ แต่ในความจริงคือ ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้มีความสำคัญอีกต่อไปแล้ว เพราะไม่เช่นนั้นคนชาติอื่นที่ไม่ได้มีเชื้อสายเดียวกับคนจีนคงไม่สามารถทำการค้าหรือมาติดต่อกับจีนได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ในความสัมพันธ์นั้นได้เอื้อประโยชน์แก่อีกฝ่ายได้อย่างไรต่างหาก และยังมีมิติอื่นๆที่จะทำให้คนของสองประเทศมีไมตรีต่อกันได้ในระยะยาว ดังนั้น ขณะนี้ ไทยจีน มีความได้เปรียบอยู่มากในแง่ที่ ชาวจีนชื่นชอบประเทศไทย และไม่มีข้อบาดหมางเรื่องใดๆระหว่างกัน ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ ทำอย่างไรจะรักษาให้ความเชื่อมั่นในกันและกันนี้ คงอยู่ต่อไปได้อย่างยาวนาน
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง
ขอบคุณภาพประกอบจาก
http:// www.phpbbthailand.com
http://www.mfa.go.th/business/th/situation/96/28839-Royal-Brunei-Cate.html