ระหว่างบรรทัด:The Master การแสดงในคอนเสิร์ต สายสัมพันธ์สองแผ่นดินครั้งที่ 6 (ตอนที่ 1)
  2013-12-27 12:37:16  cri

การแสดงชุด The Master

ศิลปะคือ "ความดี ความงาม" เมื่อเราอยู่ร่วมกัน เราเมตตาต่อกัน เกื้อกูลกันแค่ไหน ศิลปะสอนเราเรื่องการมีชีวิตอยู่ เราต้องไม่มีตัวตน มีแต่ความภูมิใจ เมื่อสร้างงานทำให้เกิดงานใหม่ขึ้นมา มีองค์ความรู้ใหม่ที่แลกเปลี่ยนกัน ทุกอย่างมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่มีใครเก่งกว่าใคร มีแต่ใครอยู่ตรงไหนมานานกว่านั้นก็อยู่ตรงนั้น เด่นด้านนั้น The Master คือการไม่มีตัวตน และมีเมตตาจิตสูง"

ภัทราวดี มีชูธน

ในการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม"สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน "ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 14-20 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ทรงเครื่องดนตรีกู่เจิง ร่วมกับพระอาจารย์ฉาง จิ้ง และวงดุริยางค์ของจีน สลับกับการแสดงนาฎศิลป์และศิลปะทั้งของไทยและจีน การแสดงมีสองส่วนได้แก่ ส่วนของการแสดงหลัก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะทรงบรรเลงเพลงด้วยเครื่องดนตรีกู่เจิงร่วมกับวงดุริยางค์ และมีส่วนเสริมคือการแสดงทางวัฒนธรรมจากสองประเทศ

นอกเหนือจากการแสดงชุดต่างๆของจีนที่สวยงามตระการตาแล้ว ยังมีการแสดงจากประเทศไทย รวม 4 ชุด ด้วยกัน ได้แก่ ชุดรำถวายพระพร (Blessing Dance)และ สักการะเทวราช (Worshipping the God King) จากกรมศิลปากร ชุด สรีระนาฎยไทย (Contemporary Dance with Classical Thai Movements) จาก สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ การแสดงร่วมสมัย ชุด "ครู" (The Master) ซึ่ง กำกับการแสดงโดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน

สำหรับการแสดงชุด "ครู" นี้ เป็นการรวมเอาศิลปินที่มีความเป็นเอกและโดดเด่นในด้านต่างๆ มาออกแบบการแสดงร่วมกัน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินพื้นบ้านอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญ "โนรา" อาจารย์อานันท์ นาคคง จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญงานดนตรีในอุษาคเนย์ มานพ มีจำรัส ศิลปินรางวัลศิลปาธร นักแสดงร่วมสมัย และ แซมมวล หว่อง ศิลปินผู้เชี่ยวชาญการเล่น "ผีผา" เครื่องดนตรีเก่าแก่ของจีนจากประเทศสิงคโปร์

ครูเล็กภัทราวดี เล่าที่มาเบื้องหลังการออกแบบการแสดงร่วมสมัยครั้งนี้ว่า การนำศิลปินแต่ละคนที่มีความสามารถโดดเด่นแต่ละด้านมาเล่นรวมกัน ถือเป็นความแปลกใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน เนื่องจากแต่ละคน ก็มีความเป็น "ครู" ในศาสตร์ของตัวเอง จึงมาคิดงานร่วมกัน และใช้แนวคิดหลักคือ การสื่อสารถึงการเคารพบูชาครูและสืบสานความรู้จากครูมาสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัย ผสมผสานระหว่างดนตรีภาคกลาง ภาคใต้ของไทยและเครื่องดนตรีจีนคือผีผา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของสองประเทศ มาบรรเลงร่วมกัน โดยมีการแสดงโนรา จากครูธรรมนิตย์ และการแสดงลีลาสาธิตการนุ่ง "โจงกระเบน" ซึ่งเป็นพื้นฐานเริ่มต้นที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องการเรียนรู้และฝึกฝนนาฏศิลป์ไทย และต้องนุ่งให้เป็น

นอกเหนือจากการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ที่ไม่ซ้ำแบบใครและมีความโดดเด่นงดงามแล้ว ครูเล็กกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในการเตรียมการแสดงชุดนี้คือ แต่ละคนได้เรียนรู้กันและกันระหว่างทางของการฝึกซ้อม ผ่านการรับฟังคำแนะนำติชมซึ่งกันและกันทำให้แต่ละคนที่แม้จะเป็น "ครู" ที่เชี่ยวชาญและทำหน้าที่สอนถ่ายทอดความรู้ให้กับคนอื่นๆแล้ว ก็ยังได้ "เรียนรู้" จากผู้อื่นอีกด้วย พร้อมบอกว่าแม้ตัวเองจะเป็นผู้กำกับ แต่ก็ต้องฟังคนอื่นๆด้วย ทำงานไปปรับกันไป จนกระทั่งกว่าจะลงตัวคือเช้าของวันที่จะเริ่มการแสดงวันแรก

"เราเป็นศิลปินที่ดีไม่ได้ถ้าไม่รู้จักรากของตัวเอง รากเล็กๆ ของการเริ่มต้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ศิลปะไม่มีความเก่า และใหม่ มีแต่ราก และต้องรู้จักว่า รากของตัวเองลึกแค่ไหน รู้ว่ารากแตกแขนงไปมากมายแค่ไหน สิ่งที่ร่วมสมัยคือ การเอารากเก่าๆ มาไว้ด้วยกัน ถ้ารากเหล่านี้มีความคิดดีคิดงาม เมื่ออยู่ที่ไหนก็ขยายได้

.... เตรียมงานครั้งนี้ทำให้ได้สัจธรรม คือ เมื่อก่อน เรามีเวลาแสดงเยอะ ก็มีแต่ปริมาณ แต่ครั้งนี้เวลาน้อยแค่ 4 นาที เราก็เลยต้องเลือกส่วนที่สำคัญที่สุด ทำให้ได้คุณภาพ ได้ตกผลึกความคิด คือไม่ต้องทำอะไรเยอะ เรียบง่ายแต่งาม ครั้งนี้ทำให้ทำงานได้อย่างละเอียดมากขึ้น ฟังโน้ตของดนตรีละเอียดถึงขั้นฟังทีละโน้ตว่าเข้ากันได้หรือไม่ ก็ปรับกันไป"

ครูเล็ก และครูธรรมนิตย์

ด้านครูธรรมนิตย์ กล่าวว่า การเตรียมงานครั้งนี้ มีความยากและมีรายละเอียดหลายเรื่อง ตั้งแต่ การร้องโนรา เพื่อเทียบเสียงคีย์ให้เข้ากับ เครื่องดนตรีผีผา จากที่แต่เดิม เทียบเสียงจากฆ้อง แค่การตั้งเสียงฆ้องให้เข้ากับเกณฑ์มาตรฐานยังไม่เพียงพอ แต่ต้องให้เข้ากับเครื่องดนตรีอื่นๆ ด้วย

"ผมได้เรียนรู้ว่า เราต้องไม่ยึดติดกับของเก่า ศิลปะดนตรีแขนงต่างๆ ก็มีคุณค่าของตัวเอง ถ้าเราปรับตัวให้เข้ากันได้ก็เล่นร่วมกันได้ ไม่เพียงแต่ต้องทำบทโนราให้ใช้ได้กับผีผา ต้องร้องประกอบการนุ่ง "โจง" แล้วต้องรำโนราให้เข้ากันได้กับการตีกลองจีน และเครื่องดนตรีปี่ใต้ ขลุ่ยจากภาคกลาง ต้องผสมทุกอย่างให้เป็นความกลมกล่อมลงตัว ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ ถ้าเราเปิดกว้างเราก็จะรู้ได้เพิ่มขึ้น"

ครูธรรมนิตย์ยังเล่าด้วยว่า ดีใจมากที่เมื่อร่วมการแสดง ครูเล็กเห็นความสำคัญของ "เสื่อคล้า" ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการรำโนรา และยินดีให้นำมาใช้ในครั้งนี้ด้วย ทำให้รำได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

เสื่อคล้าเป็นเสื่อที่ทำจากต้นคล้า มักจะใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ความกว้างประมาณ 1.30 เมตร ผิวมัน ไม่ลื่น ทำให้เมื่อศิลปินแสดงท่ารำที่คุกเข่าแล้วไม่เจ็บ

เสื่อคล้า  ใช้ในการรำโนรา

การเตรียมงานแสดงครั้งนี้ ครูธรรมนิตย์ได้นำลูกศิษย์ไปเรียนรู้ด้วย เช่นเดียวกับที่ครูเล็ก ให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนการแสดงได้มาศึกษา เรียนรู้ โดยหวังว่า จะให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ได้เห็นการทำงานร่วมกันของครูแต่ละท่าน เห็นตัวอย่างการฝึกซ้อม เพื่อจะเป็นความรู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในอนาคต

กิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องมาแล้ว 5 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 /2545/2548/2552และ2555 โดยสองประเทศจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ สำหรับในปีนี้ เป็นครั้งที่ 6 จัดขึ้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการแสดงทั้งหมด 3 รอบ ได้แก่

วันที่ 14 ธ.ค. 56 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยชิงหัว ปักกิ่ง

วันที่ 17 ธ.ค. 56 ณ โรงละคร Hangzhou Grand Theater เมืองหังโจว

วันที่ 20 ธ.ค. 56 ณ โรงละคร Shanghai Oriental นครเซี่ยงไฮ้

การแสดงชุดต่างๆจากประเทศไทย

 

โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง

2013-12-27

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก

- ฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยจุฬา ภรณ์

-ครูเล็กภัทราวดี มีชูธน

-www.mapculture.org

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
泰国
v ระหว่างบรรทัด : คอนเสิร์ต "สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน "ครั้งที่ 6 สะพานเชื่อมมิตรภาพไทย-จีน 2013-12-20 15:45:39
v ระหว่างบรรทัด : ระบบการประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุในปักกิ่ง 2013-12-13 16:21:51
v ระหว่างบรรทัด :ความคิดความเชื่อเชิงปรัชญาของชาวไทยจากวรรณคดีเรื่อง "ลิลิตพระลอ" 2013-12-06 15:52:37
v ระหว่างบรรทัด :การปรับตัวของหน่วยงานรัฐจีนโดยใช้สื่อใหม่เพื่อสื่อสารกับประชาชน (ตอนที่ 2 ) 2013-11-29 10:14:49
v ระหว่างบรรทัด :การปรับตัวของหน่วยงานรัฐจีนโดยใช้สื่อใหม่เพื่อสื่อสารกับประชาชน (ตอนที่ 1) 2013-11-27 12:00:07
v ระหว่างบรรทัด:อาหารจีนกับการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนให้กับชาวต่างชาติ ในโครงการประกวด Chopstick & Beyond 2013-11-15 15:27:42
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040