จีนได้ประกาศนโยบายลูกคนเดียวตั้งแต่พ.ศ.2523 เพื่อควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้ขยายตัวจนเร็วเกินไป ผ่านมากว่าสามสิบปี จนถึงขณะนี้จีนมีประชากรเกือบถึง 1,400 ล้านคน คาดการณ์กันว่า ภายในปีพ.ศ. 2593 สัดส่วนผู้สูงอายุ วัย เกิน 65 ปี ของจีนจะมีมากถึงร้อยละ 30 ส่วนตัวเลขของกลุ่มประชากรวัยทำงาน ในปีที่แล้ว (2555) มีจำนวนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
สถานการณ์สังคมจีนและแนวโน้มทั่วโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นอกเหนือจากเป็นภาระสำหรับลูกคนเดียวที่ต้องแบกรับการดูแลคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย (ไม่นับการดูแลลูกเมียตัวเองแล้ว) ยังเป็นภาระหนักหน่วงสำหรับรัฐบาลในการดูแลและต้องวางมาตรการเชิงรุกเพื่อพร้อมรับมือปัญหาดังกล่าวทั้งด้านสวัสดิการ ประกันสังคมและอื่นๆ
นายหู เสี่ยวอี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรแรงงานและประกันสังคมแห่งชาติจีน กล่าวในการบรรยายให้กับสมาคมนักข่าวแห่งประเทศจีนเมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมาว่ากำลังพัฒนาระบบประกันสังคมของจีน พร้อมยอมรับว่ายังคงมีข้อบกพร่องและมีปัญหาอยู่ไม่น้อย ขณะนี้มีประชากรจีนประมาณ 200 ล้านคนที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันหลังเกษียณอายุ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชนบทที่อพยพเข้ามาทำงานในเมือง อีกทั้งมีแรงงานจำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบประกันสุขภาพด้านการรักษาพยาบาลและประกันอุบัติเหตุจากการทำงาน
ไม่นานมานี้ กรมกิจการพลเรือน กรมการคลังและสำนักงานผู้สูงอายุปักกิ่งร่วมกันจัดทำแผนประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้มีอายุระหว่าง 50-60 ปีซึ่งเกษียณแล้วและผู้มีอายุเกิน 60 ปีที่อาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่ง เพื่อคุ้มครองยามประสบอุบัติเหตุในสถานที่ต่างๆ เช่น รถประจำทาง รถแท็กซี่ รถไฟใต้ดิน สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ สนามกีฬา โรงพยาบาลและสถานที่สาธาณะอื่นๆ ตลอดจนศูนย์บริการผู้สูงอายุ สถานสงเคราะห์คนชราและโรงอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป
เมื่อซื้อประกันอุบัติเหตุแล้ว หากผู้สูงอายุประสบอุบัติเหตุจนพิการ เสียชีวิต ถูกไฟหรือน้ำร้อนลวกและได้รับบาดเจ็บอื่นๆ จะได้รับเงินชดเชยการประกันสูงสุด 50,000 หยวน และเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 5,000 หยวน โดยคนซื้อจะจ่ายเงินเพียงปีละ 17-20 หยวน บริษัทประกันภัยบางแห่งเช่น บริษัท เหรินโซ่วไชน่า ยังมีส่วนลดให้อีกเหลือเพียง 15 หยวน เป็นต้น คาดว่า สำหรับในปักกิ่ง ระบบประกันนี้จะช่วยเหลือคนสูงอายุได้ประมาณ 7 หมื่นคน
ขณะนี้กรุงปักกิ่งมีจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ในเกณฑ์ประกันภัยดังกล่าวราว 3 ล้านคน
ล่าสุด มีรายงานว่า ผู้สูงอายุหนึ่งคน สามารถซื้อกรมธรรม์ได้ทั้งหมดรวมไม่เกิน 4 ฉบับ รับเงินชดเชยได้สูงสุดไม่เกิน 2 แสนหยวน แต่สำหรับแผนประกันอุบัติเหตุที่หน่วยงานรัฐจัดให้ในราคาพิเศษ สามารถใช้สิทธิได้เพียงคนละหนึ่งฉบับเท่านั้น
ทางการปักกิ่ง เปิดสายฮอตไลน์ 95519 เพื่อให้รายละเอียดตอบข้อซักถามของผู้ที่สนใจด้วย
ในเวลาเดียวกัน เมืองใหญ่อีกหลายมณฑล ก็เริ่มพิจารณาการกำหนดแผนประกันภัยในลักษณะเดียวกันแล้วเช่นที่เซี่ยงไฮ้ ซานตง เจ้อเจียง โดยใช้หลักการเดียวกันคือ การที่รัฐจัดสวัสดิการ จ่ายเงินเบี้ยประกันภัยให้กับผู้สูงอายุบางส่วน แล้วผู้รับประกันภัยจ่ายเงินในอัตราที่ต่ำ แต่มีวงเงินคุ้มครองอุบัติเหตุที่เหมาะสม โดยจะคุ้มครองการบาดเจ็บอย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเกิดโดยตัวเองหรือบุคคลอื่นก็ตาม
นอกจากนี้ ทางการยังสนับสนุนให้ผู้อื่น สามารถซื้อประกันอุบัติเหตุให้กับผู้สูงอายุได้ด้วย เจ้าตัวไม่จำเป็นต้องซื้อเอง
หากย้อนไปในอดีตซึ่งยังไม่มีระบบประกันอุบัติเหตุจากหน่วยงานรัฐ ระบบประกันก็มีอยู่แล้วในประเทศจีน แต่ผู้ซื้อต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราสูง และมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เข้าสู่ระบบนี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บด้วยสาเหตุต่างๆ ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายการรักษาสูง
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เป็นความขัดแย้งและกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมชาวจีนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา คือกรณีที่มีคนเข้าไปช่วยผู้สูงอายุที่ล้มแล้วสถานการณ์กลับกลายเป็นถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ล้ม อีกทั้งถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ทำให้เกิดบรรยากาศของ "การไม่อยากเข้าไปช่วยเหลือคนที่เกิดอุบัติเหตุ" และการ"ไม่ช่วยเหลือคนอื่นๆ" แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
ฝ่ายที่ไม่ต้องการช่วย เป็นเพราะไม่อยากเสี่ยง ถูกกล่าวหาว่าจากการพยายามทำความดีกลายเป็นผู้ประสงค์ร้าย และหากมีเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก็จะซวยซ้ำซ้อน ในขณะที่ฟากมีคุณธรรม ก็ตอบโต้ว่า การเห็นคนเดือดร้อนอยู่ตรงหน้าแล้วไม่ช่วยก็ใจดำและใจร้ายเกินไป ยิ่งตอกย้ำความเห็นแก่ตัวและเอาเปรียบในสังคมจีนที่มีการแข่งขันและแก่งแย่งกันมากอยู่แล้ว ให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา กรณีคุณยายวัย 70 ปี จากนครฉงชิ่ง เกิดอุบัติเหตุล้ม แล้วมีเด็กวัยรุ่น 3 คน เข้าไปช่วยเหลือ แต่ถูกกล่าวหาว่าทำให้คุณยายล้ม เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบสวนหาสาเหตุ พบว่าเป็นเหตุล้มเอง คุณยายจึงถูกควบคุมตัวไว้ 7 วัน (ไม่ต้องถูกจำคุกเพราะอายุเกิน 70 ปีแล้ว)
ก่อนหน้านี้ คดีแรกๆ ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความรู้สึก "ไม่อยากช่วย" คือ กรณีของ
"เผิงหยู่อัน" ชาวหนานจิง เกิดขึ้นประมาณปี 2003 เขาลงจากรถเมล์แล้ว มีการเดินสวนชนกับคุณยายคนหนึ่ง เป็นการชนโดยไม่ตั้งใจ คุณยายล้มเขาก็เลยเข้าไปช่วย เป็นธุระพาไปรพ. และช่วยค่ารักษาเบื้องต้นไปแล้ว 200 หยวน แต่ต่อมากลับถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทำให้ล้ม แพทย์ตรวจพบว่าคุณยายกระดูกต้นขาหัก ต้องเสียค่ารักษาหลายหมื่นหยวน ทำให้คุณยายฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหายจาก เผิงหยู่อันเพิ่มเติมอีก ศาลพิพากษาว่าเขาผิด ด้วยเหตุว่าเพราะเขาได้จ่ายเงินค่าทำขวัญไปก่อนแล้วในตอนแรกนั่นเอง
คดีนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ เพราะเห็นว่า การตัดสินของศาลลงโทษหนักเกินไป และพิจารณาจากเหตุผลที่ไม่รอบด้าน ทั้งๆที่เผิงหยู่อันก็ไม่ได้หลบหนีและให้การช่วยเหลือเป็นอย่างดี
หลังจากนั้น ทำให้คนจำนวนมาก มีความรู้สึกว่าคิดหนักขึ้น ว่า จะยินดีช่วยเหลือคนที่เกิดอุบัติเหตุหรือไม่ เพราะไม่อยากตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับเผิงหยู่อัน และมีคำกล่าวเป็นภาษาจีน กล่าวหาผู้ที่กุเรื่องขึ้นว่า "คนแก่ชั่ว หรือคนชั่วแก่แล้ว"
มีการทำแบบสำรวจออนไลน์ ทางเวปไซต์ซีน่าหรือซินล่างของจีน ปิดรับความเห็นเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2013 ที่ผ่านมา สอบถามว่า หากเห็นคนแก่ล้มแล้วจะช่วยหรือไม่ ปรากฎว่า คนจำนวน ร้อยละ 86 ตอบว่า "ไม่ช่วย" และมีผู้แสดงความเห็นว่า จะไม่ทำเรื่อง "โง่ๆ" แบบนี้เด็ดขาด (คือการเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น)
ก่อนหน้านี้ก็มีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนสภาพสังคมของชาวจีนยุคนี้ นั่นคือ กรณีของ เสี่ยว เยว่ เด็กน้อยอายุไม่เกิน 3 ขวบ พ่อแม่ค้าขายในตลาด แล้วเด็กออกมาเล่นนอกร้าน ปรากฎว่า เกิดอุบัติเหตุโดนรถชน มีผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนแต่ไม่มีใครช่วย สุดท้ายแม้จะมีผู้ช่วยเหลือแต่ก็ยื้อชีวิตเด็กน้อยไว้ไม่ได้
เรื่องนี้เผยแพร่ออกไป จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง ตำหนิว่า สังคมจีน ขาดแคลนน้ำใจและเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น
ยังมีกรณีที่ คนเห็นผู้เกิดอุบัติเหตุแล้วไม่กล้าเข้าไปช่วยโดยตรง ทำได้เพียงการโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน และมีการยืนล้อมคนเจ็บเอาไว้เพื่อป้องกันรถคันอื่นแล่นตามหลังมาทับซ้ำซ้อน
หรือบางกรณี ก่อนจะช่วยเหลือ จะถ่ายรูปผู้บาดเจ็บและสภาพแวดล้อมไว้เป็นหลักฐานเพื่อไว้ยืนยันหากมีคดีความกันภายหลัง ซึ่งก็จะทำให้การช่วยเหลือไม่ทันท่วงที
ผู้ปกครองบางคน สอนเด็กเล็กและลูกหลานว่า ก่อนจะช่วยเหลือคนอื่น ต้องพยายามหาพยาน หรือถ่ายรูปเอาไว้ก่อนเพื่อปกป้องตัวเอง ขณะที่บางคนถึงกับสอนลูกว่า ถ้าเกิดเหตุ ไม่ต้องไปช่วย
หากสถานการณ์ยังคงเกิดขึ้นในทำนองนี้ต่อไปเรื่อยๆ ศีลธรรมและคุณธรรมในใจของคนก็จะลดน้อยลง และจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาในสังคมอีกมากมายติดตามมา คนที่ห่วงใยจึงมีข้อเสนอหลายอย่าง รวมทั้งอยากให้ภาครัฐของจีน ออกมาตรการหรือกฎหมายเพื่อปกป้องดูแลคนที่มีน้ำใจและอยากช่วยเหลือคนอื่น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความโลภจากผู้ที่ต้องการเรียกร้องเงินทอง ในเวลาเดียวกันก็อยากเห็นกฎหมายที่จะลงโทษคนโกหกอย่างเฉียบขาด รุนแรงเพิ่มขึ้น
สังคมผู้สูงอายุ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบเรื่องจำนวนประชากรวัยแรงงานลดลงแต่ยังมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณทั้งด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลและสวัสดิการสังคมคนทีเกษียณอายุเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น แผนประกันอุบัติเหตุที่ทางการรัฐหลายมณฑลริเริ่มขึ้นนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการเชิงป้องกัน ที่หวังว่าจะสามารถมาช่วยรองรับความเสี่ยงในอนาคตได้
จำนวนเงินเบี้ยประกันที่ราคาถูก เมื่อเทียบกับเงินชดเชยที่จะได้รับหากเกิดอุบัติเหตุเป็นหนึ่งในแนวทางสร้างแรงจูงใจที่หวังว่าจะทำให้คนจำนวนมากเข้าร่วมในระบบประกันนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเปิดช่องทางให้คนอื่นๆซื้อประกันให้ผู้สูงอายุได้ด้วย เพื่อลดข้อจำกัดที่ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งอาจไม่มีกำลังซื้อด้วยตัวเอง หรือไม่อยากจ่ายเงิน หรือไม่เห็นความสำคัญของการป้องกันเหตุไว้ก่อน
รัฐบาลจีนหวังว่า ระบบประกันจะสามารถเข้าไปช่วยคลี่คลายเหตุให้ดีขึ้นได้ กรณีตัวอย่างของ การประกันอุบัติเหตุรถชนในเมืองจีน ก่อนหน้าที่ระบบประกันภัยจะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง หากเกิดรถชนกัน สมัยก่อน คู่กรณี จะเริ่มต้นด้วยการลงมาด่าทออีกฝ่าย กล่าวโทษกันและกัน ลงท้ายด้วยการชกต่อย ใช้ความรุนแรงและไม่มีใครยอมใคร ภาพเหล่านี้จะพบเห็นได้บ่อยครั้งในอดีต
แต่หลังจากมีระบบประกันภัยรถยนต์แล้ว สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้นมาก หากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ตอนนี้สองฝ่าย ลงจากรถ แล้วโทรเรียกบริษัทประกันภัยมาคุย ดูเหตุการณ์ หลังจากนั้นลงนามรับรองเอกสารแล้วต่างคนก็แยกย้ายกันไปได้ เท่ากับสามารถลดจำนวนคดีทะเลาะวิวาทไปได้มาก
ด้วยหลักการเดียวกัน ประกันอุบัติเหตุสำหรับคนสูงอายุ ก็เป็นความคาดหวังว่านอกจากจะต้องสร้างระบบสวัสดิการที่ดูแลคนชราในสังคมจีนที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว มาตรการนี้อาจจะสามารถช่วยลดความเสี่ยง สถานการณ์ที่จะเกิดคดีฟ้องร้อง กล่าวหาคนทำดีให้กลายเป็นผู้ร้าย เช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อีกทั้งจะมีส่วนช่วยทางอ้อมที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ไม่หลงลืม "น้ำใจ" และยินดีให้ความ "ช่วยเหลือ" ผู้ที่ประสบเหตุเดือดร้อนได้ โดยไม่ต้องลังเลใจ หรือกริ่งเกรงว่า การทำความดีของตัวเองจะได้รับผลที่ไม่พึงปรารถนาเช่นที่ผ่านมา
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง
2013-12-12