มองเมืองจีนในสายตานักข่าวกีฬาไทย:ไปเที่ยววัด ในปักกิ่ง ที่ไม่มีพระ แต่มีประวัติศาสตร์ให้ต้องศึกษา
  2014-05-15 16:22:21  cri

อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่เมื่อตอนที่ผ่านมาว่า ถึงเวลาพามาเที่ยว วัดวาอาราม เป็นวัดที่สร้างอยู่บนเขา ทุกคนก็เถียงผมว่า วัดในเมืองจีน ร้อยละ ๙๐ ก็อยู่บนเขาทั้งนั้นแหละ ใช่ครับ แต่วัดนี้ มีประวัติ เพราะ เป็นวัดที่สร้างขึ้นและดำรงอยู่ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน ของการปกครองจีน จากสมัยราชวงศ์ มาเป็นสาธารณรัฐ และผู้นำของทั้งสองระบอบการปกครอง ก็ให้ความสำคัญกับวัดแห่งนี้ ไม่แพ้กัน

วัดปี้หยุน สร้างในสมัยราชวงศ์แมนจู โดยเฉียนหลงฮ่องเต้ ฮ่องเต้ที่มีอายุการครองราชย์นาน ๒๕ ปี และในสมัยของพระองค์ ได้แผ่อิทธิพลการปกครอง ออกไปไกลถึง ฝั่ง มองโกเลียใน และทิเบต ทางใต้ก็รุกมาจนถึงทางตอนเหนือของพม่า และบางส่วนของเวียตนาม เพราะนั้น อย่าได้แปลกใจ ที่เวียตนามในปัจจุบัน โดยเฉพาะทางตอนเหนือ จะมีการซึมซับ อารยธรรมของจีนไว้มาก เพียงแค่ป้ายแสดงชื่อของวัด ก็มีภาษาเขียนต่างๆ ถึง ๔ ภาษา ทั้งภาษา แมนจู ภาษาธิเบต ภาษาจีนกลาง และภาษามองโกล แสดงให้เห็นว่า อาณาจักรของจัน ในสมัยของ ฮ่องเต้ เฉียนหลง กว้างใหญ่ขนาดไหน และเขาบอกว่า ป้ายวัดนี้ มีอายุมากกว่า ๓๐๐ ปีมาแล้ว เรื่องราวของฮ่องเต้พระองค์นี้ ถูกบันทึกไว้ในทุกรายละเอียด ส่วนหนึ่งเคยเอามาสร้างเป็น ตอนๆซึ่งคนไทยเราได้ชมกันมาแล้ว ในเรื่อง ฮ่องเต้เจ้าสำราญ ที่มี หลี่ เต๋อ หัว นำแสดง และสิ่งที่บ่งบอกถึง วัดที่ฮ่องเต้ทรงสร้างก็คือ รูปมังกรที่คนจีนบอกว่า ถ้าเป็น มังกรห้าเล็บ จะหมายถึง ฮ่องเต้เป็นผู้อุปถัมภ์ และถ้าเล็บน้อยกว่านั้น ก็จะเรียงลำดับลงมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็จะ เป็นมังกร สี่เล็บ ซึ่งก็เป็นเกร็ดความรู้ที่นำมาฝากกันไว้ในตอนนี้ และสีของหลังคายังบอกด้วยนะครับว่า หากเป็นสีแดง ก็จะเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ ถ้าเป็นสีเหลืองทองก็จะได้รับการอุปถัมภ์จากฮ่องเต้ เพราะวัดส่วนใหญ่หลังคาจะสีเขียวหรือเทา ซึ่งวัดปี้หยุนแห่งนี้ มีสิ่งบ่งชี้ ตามคำบอกเล่าทั้งหมดครับ

สำหรับวัดปี้หยุนแห่งนี่ ยังมีประวัติอื่นๆที่น่าสนใจหลายเรื่อง ไว้มีเวลา ค่อยมาว่ากันนะครับ และหมายเหตุไว้ด้วยว่า ผู้เขียนเองก็ต้องไม่ลืมเช่นเดียวกัน แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ การที่วัดแห่งนี้ ในส่วนหนึ่งถูกจัดไว้เป็น พิพิธภัณฑ์ที่แสดง ชีวประวัติของ ดร ซุน ยัด เว็น ถ้าจะเรียกว่า บิดาของการปฏิวัติประชาชน ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองของ จีน จากระบอบราชวงศ์ มาเป็นสาธารณรัฐก็คงไม่ผิดนักในช่วงหนึ่ง ดร ซุน ยัด เซ็น เคยเดินทางไปเยือนประเทศไทย ในราวปี ๑๙๐๐-๑๙๐๕ ถึง ๓ ครั้ง และเป็นการเดินทางไปเยือน เพื่อทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการที่ จีน จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และที่สำคัญเป็นการไประดมทุนจากชาวจีน ที่อาศัยอยู่ในโพ้นทะเล ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือเวียตนาม ซึ่งในประเทศไทย ได้มีการตั้งชื่อ ซอยหนึ่งในแถบเยาวราชว่า ซอย ซุน ยัด เซ็น ใครมีความรู้ ช่วยบอกผู้เขียนทีครับว่า ซอยนี้ ยังอยู่หรือไม่ หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถือเป็นความรู้เล่าสู่กันฟังครับ

แม้ว่า ดร ซุน ยัด เซ็น จะถึงแก่อสัญกรรมไปตั้งแต่ปี คศ ๑๙๒๕ แต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ วัด ปี้หยุน แห่งนี้ ยังมีอีกนะครับ เป็นตอนที่สำคัญ แต่รอนิดนะครับ แล้วอย่าลืมติดตาม

สมภพ จันทร์ฟัก

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040