ผู้นำตัดสินใจพลาด ใช้เงินผิดประเภท เหตุมันจึงเกือบเสียเมือง ครับ
  2014-05-27 20:53:47  cri

มองเมืองจีนในสายตานักข่าวกีฬาไทย 

จั่วหัวมาอย่างนี้ มองกรุงปักกิ่ง ในสายตา นักข่าวกีฬาไทย ตอนนี้ ท่าทางจะ จัดหนัก จัดเต็ม ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ การบ้านการเมือง ขอบอกไว้ก่อนเลยว่า มีส่วนหนึ่งล่ะครับ ที่เกี่ยวข้องกันกับเรื่องราวของการก่อสร้างและปรับปรุง พระราชวังฤดูร้อน อี้ เหอ หยวน และอย่างที่ได้เขียนไว้ในตอนที่แล้วว่า ช่วงยุคเวลาที่จีนล่อแหลมต่อการเสียดินแดน เป็นเวลาเดียวกันกับรัชกาลที่ ๔ และ ๕ ของไทย เป็นเวลาที่ชาวตะวันตกแผ่อำนาจเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย และเคยเข้าทำลายบางส่วนของพระราชวังแห่งนี้ เพื่อแสดงอำนาจข่มขู่ในราวปี คศ ๑๘๖๐ ก็ตรงกับยุคที่ พระนางซูสี ไทเฮา ครองอำนาจและเป็นผู้สำเร็จราชการแทนองค์ ฮ่องเต้ในทุกเรื่อง ด้วยความที่พระนาง มีความผูกพันกับ พระราชวัง อี้ เหอ หยวน ค่อนข้างมาก บรรดาขุนนางและเสนาบดีทั้งหลาย ได้กราบทูลขอใช้เงินในท้องพระคลัง ในการปรับปรุง กองกำลังป้องกันประเทศทางเรือ เป็นจำนวนเงินแท่ง ๕ ล้านตำลึง(ค่าเงินของจีนในขณะนั้น) แต่พระนางปฏิเสธ พร้อมกับใช้เงินจำนวนดังกล่าว มาปรับปรุงพระราชวังแห่งนี้ ในปี คศ ๑๘๖๖ ทำให้กองทัพเรือ อ่อนแอ แต่ พระราชวังฤดูร้อน กลับสวยงามมากขึ้น แต่ก็หาได้รอดการทำลายของ ชาติตะวันตก ที่ต้องการมีอำนาจเข้ามาครอบงำจีนไม่ เงินจำนวน ๕ ล้านตำลึงที่ใช้ในการบูรณะกลับ ละลายไปในกองเพลิงอีกครั้ง เมื่อ ชาติตะวันตก รวมพล บุกเผาอีกครั้งในปี คศ ๑๙๐๐ นี่จึงเป็นที่มา ของ หัวเรื่องในวันนี้ คิดกันเองก็แล้วกันนะครับว่า เมื่อเป็นผู้นำ เอาภาษีอากรที่จำเป็นจะต้องใช้ ในการบริหารและป้องกันประเทศ มาสนองความต้องการของตัวเองแล้ว จุดจบ เป็นอย่างไร

แต่ถึงอย่างไรสิ่งที่ได้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ความงามของภูมิสถาปัตย์ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก พระราชวัง อี้ เหอ หยวน ถูกทิ้งร้างไปหลายสิบปี ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก ราชวงศ์ มาเป็นสาธารณรัฐ และระบอบ คอมมูนิสต์ จนบ้านเมือง เริ่มอยู่ในความสงบแล้ว คณะผู้บริหารของ มหานครปักกิ่ง จึงได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปชมความงามกันอีกครั้ง

มีเรื่องเล่ากันว่า ในระหว่างที่มีการปรับปรุง พระราชวังฤดูร้อน อี้ เหอ หยวน เนื่องจากมีการ ก่อสร้าง ตำหนัก หลังเล็ก หลังน้อย ให้กับเหล่านางสนม กำนัลทั้งหลาย รวมทั้งยังมีบรรดาเหล่าบรรดาขันที และ คนรับใช้ ที่ปลูกกระจายกันอยู่โดยรอบ มีการค้นพบบันทึกต่างๆมากมาย ที่บางเรื่องก็ได้รับการเปิดเผยกันออกมาแล้ว และเป็นต้นเค้าของทั้งภาพยนตร์ และละครทางโทรทัศน์ หลายเรื่อง ที่ผู้เขียนคิดว่า คนไทย คงได้รับชมกันมาตลอดในช่วงเวลา กว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องราวของ ความรักที่เกิดขึ้น สมหวัง โดยมี บรรยากาศของ แนวระเบียงรอบทะเลสาบคุนหมิง ที่ได้รับการบันทึกว่า เป็นระเบียงทางเดินไม้ ที่ยาวที่สุดในโลก

และเรื่องราวต่างๆที่ปรากฏ อยู่บนทางเดินของระเบียงไม้ โดยรอบ ทะเลสาบ คุนหมิงนี้ แม้ว่า มากกว่า ร้อยละ ๖๐ จะได้บูรณะขี้นมาใหม่ ทั้งการก่อสร้างและภาพต่างๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวของ พระราชวังฤดูร้อน อี้ เหอ หยวน แห่งนี้ บางส่วนก็ยังเป็นภาพที่เขียนขึ้น เมื่อกว่า ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา บอกเล่าทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระราชสำนัก ในยุคของราชวงศ์ ชิง วัฒนธรรม ประเพณีของจีน ที่เพียงแค่แหงนมองขึ้นไป ก็สังเกตเห็น

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีการบอกเล่าก็คือ ภายหลังปีค.ศ.1908 พระนางซูสีไทเฮาและจักรพรรดิกวงสูเสด็จสวรรคต จนเมื่อปีค.ศ.1911 ปีที่การปฏิวัติซินไฮ่ ล้มล้างราชสำนักแมนจูอุบัติขึ้น 'สวนแห่งราชสำนักอี๋เหอหยวน' ก็ได้ปิดฉากลง ตามการล่มสลายของราชวงศ์ แล้วบรรดนางสนมกำนัล นับร้อย นับพัน ที่เคยอยู่อาศัย อยู่ในสถานที่อันเหมือนสวนสวรรค์แห่งนี้ต้องไปอยู่ที่ไหนกัน

อี้ เหอ หยวน ในฐานะ อุทยานและพระราชวังฤดูร้อน ของราชวงศ์ที่มีประวัติความเป็นมา เกือบพันปี และเป็นที่รวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของหลายราชวงศ์ รวมทั้ง ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอีกนับหมื่น นับล้าน ที่อาศัยอยู่ในที่แห่งนี้ จึงเป็นเพียงตำนาน เรื่องเล่า และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ของชนชาติจีน ให้นักท่องเที่ยว ได้สัมผัสและชื่นชม

สมภพ จันทร์ฟัก

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040