ความกว้างใหญ่ของผืนแผ่นดิน และความหลากหลายทางชนชาติกับจำนวนประชากรที่มากกว่า 1,300 ล้านคน ทำให้ "ภาษาจีนกลาง" กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร เชื่อมโยงความต่าง ประสานความเข้าใจของผู้คนในแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศจีนเข้าไว้ด้วยกัน
นับตั้งแต่ปี 1998 รัฐบาลจีนได้กำหนดให้ทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน เป็นสัปดาห์แห่งการรณรงค์ใช้ภาษาจีนกลางทั่วประเทศ และได้ถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาโดยตลอด สำหรับปีนี้ รายงานผลสำรวจแสดงว่า มีประชากรจีนร้อยละ30 หรือประมาณ 400 ล้านคน พูดสื่อสารด้วยจีนกลางไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทที่อยู่ห่างไกล ชนชาติส่วนน้อย โดยจะเป็นรุ่นผู้เฒ่าผู้แก่ที่อายุมากแล้วเป็นสำคัญ และในจำนวนร้อยละ 70 ที่พูดได้ก็มีเพียงร้อยละ 10 ที่สามารถใช้ภาษาจีนกลางพูดสื่อสารได้อย่างราบรื่นดี ดังนั้น งานเผยแพร่รณรงค์การใช้ภาษาจีนกลาง จึงยังคงเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาเอาการ
โทรทัศน์ – "ภาษาเซี่ยงไฮ้" "ภาษาตงเป่ย (ตะวันออกเฉียงใต้)" "ภาษากวางตุ้ง"
ผู้ชม - (มึน...พูดอะไรมา ฟังไม่เข้าใจสักกะประโยค)
ทั้งนี้ เกณฑ์ชี้วัดว่ามีความสามารถในการใช้ภาษาจีนติดต่อสื่อสารหรือไม่นั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องพูดสำเนียงชัดเจนได้มาตรฐานอย่างผู้ประกาศข่าว แต่ยึดการบรรลุเป้าหมายในการสื่อสารเป็นเกณฑ์สำคัญ คือ แม้ผู้พูดจะมีสำเนียงท้องถิ่นหนักไปบ้าง แต่หากการสื่อความอธิบายให้ฝ่ายรับสารเข้าใจได้กว่าร้อยละ 85 ก็ถือว่าบรรลุความเข้าใจกันได้แล้ว และจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มพลเมืองร้อยละ 70 ที่พูดจีนกลางได้นั่นเอง
นายเหยาสี่ซวง หัวหน้ากรมการใช้ภาษา กระทรวงศึกษาธิการจีนกล่าวว่า การรณรงค์ใช้ภาษาจีนกลางไม่ได้หมายถึง จะทำลายความสำคัญของภาษาจีนท้องถิ่น หรือภาษาของชนเผ่าต่างๆ เพราะไม่ว่าจะภาษาหรือตัวอักษรใดก็สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี แต่การที่ผลักดันให้ใช้ภาษาจีนกลางก็เพื่อให้สังคมมีความเข้าใจกัน หากคนแต่ถิ่นไม่รู้ภาษาจีนกลาง นอกจากจะสื่อสารพูดคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว ยังทำให้สารที่ต้องการสื่อเกิดความคลาดเคลื่อน กลายเป็นเรื่องตลก และอาจรุนแรงเป็นปัญหาใหญ่โตเนื่องจากความเข้าใจผิดกันได้ ดังนั้น ขณะเดียวกับที่พยายามส่งเสริมการใช้ภาษาจีนกลางนั้น ก็จะอนุรักษ์ภาษาถิ่นภาษาชนเผ่าให้คงอยู่ต่อไปด้วย
สำหรับประเด็นที่ว่าควรให้เด็กเรียนภาษาท้องถิ่นหรือจีนกลางก่อนกันนั้น ชาวเน็ตส่วนหนึ่งแสดงความเห็นว่า ควรเรียนภาษาท้องถิ่นก่อน เพราะพอโตเข้าโรงเรียนแล้วก็จะมีครูสอน ทำให้พูดและรู้จีนกลางได้เองโดยธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งเห็นว่า ควรเรียนจีนกลางก่อน เพราะภาษาถิ่นได้ยินได้ฟังอยู่ตลอดก็เป็นเองไม่ยากเช่นกัน และมีอีกไม่น้อยเห็นว่าไม่ว่าจะจีนกลางหรือภาษาถิ่น เด็กสามารถเรียนรู้ไปพร้อมกันได้แน่นอน
อาทิ พ่อแม่พูดจีนกลางกับลูก ส่วนปู่ย่าพูดภาษาถิ่นกับหลานเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในครอบครัวจีน ทำให้เด็กพัฒนาความสามารถด้านทักษะภาษาได้ด้วย นอกจากนี้ ภาษาถิ่นยังถือเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมอีกรูปแบบหนึ่ง หากลูกหลานพูดได้แต่จีนกลาง ภาษาถิ่นนับวันจะมีคนพูดได้น้อยลง จนต้องสูญหายไปก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府
ลิงค์เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:เรื่องขำขำกับความสำคัญของภาษาจีนกลาง