ช่วง 10 ปีหลังลงนามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้หรือทะเลหนานไห่ มีจีนเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่เคารพและปฏิบัติตามหลักการและกฎระเบียบของปฏิญญาฉบับนี้ โดยไม่ได้ใช้ปฏิบัติการใดที่ทำให้ข้อพิพาททะเลหนานไห่บานปลาย อีกทั้งยังพยายามขับเคลื่อนความร่วมมือทางทะเลและการบุกเบิกพัฒนาร่วมกัน แต่เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์มิได้เคารพและปฏิบัติตามปฏิญญาฉบับนี้อย่างจริงจังทุกด้านตั้งแต่ต้น โดยดำเนินการก่อสร้างบนเกาะแก่งที่เขายึดไว้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มการควบคุมการบริหารเกาะแก่งเหล่านั้น รวมทั้งเร่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเลียมในทะเลหนานไห่ มิหนำซ้ำยังจับกุมชาวประมงจีนหลายครั้ง เป้าหมายเดียวกันของประเทศเหล่านี้คือ ทำให้สิ่งที่ได้มาโดยมิชอบมีความชอบธรรมมากขึ้น และไม่ยอมรับว่า มีข้อพิพาทในทะเลหนานไห่ ทั้งนี้สวนทางกับนโยบายหนานไห่ของจีนที่ให้พักข้อพิพาท และร่วมกันบุกเบิกพัฒนา การกระทำดังกล่าวของประเทศเหล่านี้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งกับประชาชนและสื่อมวลชนจีน
ในจำนวนประเทศดังกล่าว เวียดนามมีการเคลื่อนไหวมากที่สุด เมื่อเดือนเมษายนปี 2003 เวียดนามจัดงานรำลึกครบรอบ 28 ปีการปลดปล่อยเกาะ "หนานซา" เมื่อเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน เวียดนามและอินโดนีเซียร่วมลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนไหล่ทวีปอย่างลับๆ เมื่อเดือนเมษายนปี 2004 เวียดนามนำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเกาะ "หนานซา " ต้นปี 2005 เวียดนามจัดทำแผนที่ฉบับใหม่ จัดให้หมู่เกาะซีซา และหมู่เกาะหนานซาเป็นอำเภอที่ขึ้นต่อเมืองดานัง (Da Nang)และจังหวัดคั้ญฮ์หว่า (khanh hoa province)ตามลำดับ เมื่อต้นปี 2006 เวียดนามเปิดสายตรงกับกองทัพทะเลมาเลเซีย เพื่อประสานเรื่องการแก้ไขปัญหาบุกเบิกทรัพยากรและข้อพิพาทเกาะแก่งในทะเลหนานไห่
เดือนเมษายนปีเดียวกัน เวียดนามมีการเคลื่อนไหวอีก คือกำหนดพื้นที่ประมูลการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเลียมในทะเลหนานไห่ รวมทั้งประกาศจะร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ สร้างท่อลำเลียงแก๊สธรรมชาติในหมู่เกาะหนานซา เดือนพฤษภาคมปี 2007 เวียดนามเช่าเรือรังวัดของรัสเซียสำรวจสภาพธรณีวิทยาของทะเลหนานไห่ เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน เวียดนามประกาศเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเกาะแก่งบางส่วนของหมู่เกาะหนานซาที่ยึดครองไว้
ด้านมาเลเซียส่งเรือสำรวจรังวัดรวม 11 ลำทำการสำรวจรังวัดบริเวณน่านน้ำแนวปะการัง หนานทง เดือนเมษายน ปี 2003 ต่อมา เดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน มาเลเซียจัดการแข่งเรือนานาชาติบริเวณน่านน้ำแนวปะการัง ตั้นหวัน อีกทั้งอนุมัติบริษัทนำเที่ยวนำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำที่ อี๋ว์ย่า ซึ่งเป็นหาดทรายใต้น้ำ เป็นครั้งแรก เดือนพฤศจิกายนปี 2004 มาเลเซียพิมพ์แผนที่มาเลเซียที่รวมเกาะแก่งบางส่วนของทะเลหนานไห่อยู่ในนั้นบนแสตมป์ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2008 รัฐมนตรีกลาโหมมาเลเซียนำผู้สื่อข่าวประมาณ 80 คนขึ้นแนวปะการัง ตั้นหวัน เพื่ออ้างกรรมสิทธิ์
สำหรับฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนเมษายนปี 2003 จัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 25 ปีการก่อตั้งเมืองกาลายาน (Kalayaan) ที่เกาะ จงเย่ เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2006 เริ่มดำเนินโครงการสร้างทางวิ่งเครื่องบิน และสิ่งก่อสร้างอื่นบนเกาะ จงเย่ เมื่อเดือนมีนาคมปี 2008 ฟิลิปปินส์ติดตั้งอุปกรณ์การสื่อสารผ่านดาวเทียมบนเกาะแก่งที่ยึดไว้
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ก่อนปี 2009 แม้ว่ามีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กล่าวโดยรวม สถานการณ์ทะเลหนานไห่ยังควบคุมได้ แต่พอมาถึงปี 2009 สถานการณ์ทะเลหนานไห่ทวีความสลับซับซ้อนขึ้นอย่างมาก เพราะมีสาเหตุสำคัญสองประการดังนี้ คือประการแรก ปี 2009 ถึงกำหนดที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนไหล่ทวีปของสหประชาชาติให้ประเทศที่เกี่ยวข้องยื่นข้อมูลเกี่ยวกับพื้รที่นอกไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเล อีกสาเหตุซึ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ สหรัฐฯประกาศจะปรับปรุงยุทธศาสตร์ในเอเชีย-แปซิฟิค