สถานการณ์ทะเลหนานไห่ในช่วง 10 ปีหลังทำปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (4b)
  2016-09-05 16:12:55  cri

เมื่อเดือนมกราคมปี 2009 นายโอบามาที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่า จะปรับปรุงนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุชบางประการ โดยจะหันมาเน้นหนักยุทธศาสตร์ที่เอเชีย-แปซิฟิค ทั้งนี้ทำให้บางประเทศที่เป็นคู่กรณีในทะเลหนานไห่ของจีนมีความตั้งใจมากขึ้นที่จะประชันกำลังกับจีนในทะเลหนานไห่

เมื่อเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ปี 2009 สภาสูงและสภาล่างฟิลิปปินส์ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยเส้นฐานทะเลอาณาเขต(territorial sea baseline) เพื่ออ้างกรรมสิทธ์เกาะหวงเหยียนและเกาะแก่งบางส่วนในหมู่เกาะหนานซาด้วยการบัญญัติกฎหมายภายในประเทศ แต่จริงๆ แล้ว เกาะหวงเหยียนและเกาะแก่งบางส่วนในหมู่เกาะหนานซาล้วนเป็นดินแดนของจีน

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมปี 2009 เวียดนาม มาเลเซียยื่นแผนปักปันเขตแดนนอกไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเลต่อคณะกรรมการปักปันเขตแดนไหล่ทวีปของสหประชาชาติ ทั้งๆ ที่พื้นที่เหล่านี้ยังคงมีข้อพิพาท ถัดมาวันหนึ่ง เวียดนามประกาศโดยอ้างว่า มีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะซีซา และหนานซา ทั้งนี้ทำให้จีนจำเป็นต้องยื่นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเขตแดนนอกไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเล เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตนไม่ถูกทำลายมากขึ้น

พร้อมกันนี้ จีนและสหรัฐฯเริ่มมีการกระทบกระทั่งกันในทะเลหนานไห่ เฉพาะปี 2009 ปีเดียว ก็เกิดเหตุการณ์เรือสหรัฐฯ ที่แล่นเข้ามาสอดแนมในทะเลหนานไห่เผชิญหน้ากับเรือจีนถึง 5 ครั้ง

หลังย่างเข้าปี 2010 สหรัฐฯเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายทะเลหนานไห่อย่างเห็นได้ชัด โดยมีแนวโน้มที่จะเลือกข้างสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมปีเดียวกัน นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการประชุมประเทศอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก(ASEAN REGIONAL FORUM — ARF)ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามว่า การใช้ประโยชน์น่านน้ำทะเลที่สามารถร่วมกันใช้ได้ในเอเชียอย่างเสรี และการรักษากฎหมายระหว่างประเทศในทะเลหนานไห่นั้น เป็นประโยชน์ระดับชาติของสหรัฐฯ เธอยังกล่าวอีกว่า ทุกฝ่ายต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ คัดค้านการใช้กำลังอาวุธ หรือข่มขู่ว่าจะใช้กำลังอาวุธ นางฮิลลารี คลินตันเคยกล่าวถึงคำพูดของเธอในอีกหลายปีต่อมาว่า คำพูดเหล่านั้นเกิดจากการพิจารณาอย่างละเอียดมาก เพื่อตอบโต้คำแถลงของจีนที่ประกาศก่อนหน้านั้นว่า กรรมสิทธิ์ของเกาะแก่งในทะเลหนานไห่เป็นประโยชน์หลักของจีน หลังจากนั้น นางฮิลลารี คลินตันได้แถลงนโยบายของรัฐบาลโอบามาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และทะเลหนานไห่ ขณะเดียวกัน กองทัพสหรัฐฯเสริมกำลัง และทำการซ้อมรบมากขึ้นในทะเลหนานไห่ และพื้นที่รอบข้าง

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลจีนใช้ความพยายามทางการทูตอย่างมาก เพื่อให้สถานการณ์ทะเลหนานไห่มีความมั่นคง และคลายความตึงเครียดของประเทศอาเซียน ซึ่งความพยายามของจีนได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เช่น เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2011 มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน หรือ 10+1 จัดที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างประชุม จีนและ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านแนวทางการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้(Guidelines on the Implementation of the DOC) จีน-ฟิลิปปินส์ จีน-เวียดนามสร้างความเข้าใจกันบ้างจากการเจรจาทวิภาคี อย่างไรก็ตาม แม้จีนใช้ความพยายามทางการทูตเต็มที่แล้ว แต่สหรัฐฯยังคงดำเนินยุทธศาสตร์สร้างความสมดุลใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิกต่อไป ขณะที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามไม่มีความยับยั้งชั่งใจต่อข้อพิพาทในทะเลหนานไห่

โดยทั้งสองประเทศนี้ทำการก่อสร้างบนเกาะแก่งที่ยึดไว้ต่อไป ขณะที่สหรัฐฯทำการซ้อมรบบริเวณรอบทะเลหนานไห่บ่อยมาก นอกจากนี้ บางประเทศยังมีแนวโน้มที่จะจับกลุ่มเพื่อร่วมต่อต้านจีน รวมทั้งใช้ปฏิบัติการต่างๆ ที่ล่วงละเมิดสิทธิประโยชน์ของจีนอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 ทหารฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า จะใช้งบประมาณ 23 ล้านดอลลาสหรัฐฯสร้างค่ายทหารและสนามบินบนเกาะในทะเลหนานไห่ เดือนมิถุนายน และกรกฏาคมปีเดียวกัน ฟิลิปปินส์ และเวียดนามร่วมกับทหารจากประเทศนอกภูมิภาคจัดการซ้อมรบหลายครั้งในทะเลหนานไห่ ขณะเดียวกัน นายเบนิกโน อาคีโน สั่งการให้ใช้คำว่า "ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก"แทน คำว่า"ทะเลจีนใต้" ซึ่งเป็นคำที่ประชาคมโลกใช้กันทั่วไป เพื่อเน้นย้ำว่า ฟิลิปปินส์มีกรรมสิทธิ์ในเกาะแก่งบางส่วนและน่านน้ำบริวารในทะเลหนานไห่ การกระทำของฟิลิปปินส์ดังกล่าวได้รับการสนัสนุนในระดับหนึ่งจากทางการสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคมปี 2012 ฟิลิปปินส์และเวียดนามลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการซ้อมรบร่วม และการลาดตระเวนร่วมในทะเลหนานไห่ เดือนเมษายนของปีเดียวกัน เวียดนามส่งพระสงฆ์ไปจำวัดบนเกาะในทะเลหนานไห่ที่ยึดไว้

สื่อมวลชนจีนได้ติดตามการเคลื่อนไหวดังกล่าวของบางประเทศอาเซียนและสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ประชาชนจีนที่ทราบเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้จากสื่อมีความไม่พอใจอย่างยิ่งกับประเทศที่เกี่ยวข้อง ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ นโยบายทะเลหนานไห่ของจีนที่ใช้ความยับยั้งชั่งใจเผชิญกับแรงกดดันจากมติมหาชนอย่างมาก

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040